27 กันยายน 2552

แฟนสาวจากโลกการ์ตูน (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ที่แล้วเล่าให้ฟังเรื่องคุณเซโตะ มาซาโตะ อายุ 37 ปี ที่ถือหมอนข้างรูปตัวการ์ตูนสาวน้อยนามว่า "เนมุตัน" ในชุดบิกีนี่ไปไหนต่อไหนและปฏิบัติกับเธอ (หมอน) อย่างให้เกียรติราวกับเธอเป็นผู้หญิงที่มีชีวิต คุณเซโตะขอให้ทุกคนเรียกเขาว่า "นี้ซัง" ซึ่งแปลว่าพี่ชาย และเป็นคำที่เนมุตันใช้เรียกพี่ชายต่างสายเลือดในแอนิเมชั่นเรื่อง Da Capo ที่เธอเป็นนางเอก นี้ซังบอกอย่างเต็มปากว่าเขารักและคิดว่าเนมุตันเป็นเกิร์ลเฟรนด์ แต่ไม่ใช่รักหมอนใบที่เขาถืออยู่แบบเดียวกับเด็กๆ รักตุ๊กตาที่เล่นจนเปียกน้ำลายสกปรกเพราะ "เนมุตัน" ที่เขารักแท้จริงไม่ใช่หมอนแต่เธออยู่ในจินตนาการไม่สามารถจับต้องได้ ไม่จำเป็นที่เนมุตันต้องกลายร่างเป็นคนเพราะนี้ซังชอบที่เธอเป็นสาวสองมิติ (2D) แบนๆ บนหมอนแบบนี้

ฟังแล้วอย่าเพิ่งกลัวและคิดว่าจะพานี้ซังไปพบจิตแพทย์นะคะ เพราะนี้ซังบอกว่าอยากแต่งงานกับผู้หญิงที่เป็นคน เพียงแต่เขาก็มองเห็นความจริงว่าไม่มีผู้หญิงคนไหนจะสนใจตาลุงหัวเหม่งที่ป่วยกระเสาะกระแสะและบ้าการ์ตูนอย่างเขาหรอก อย่างน้อยเขาก็ภูมิใจว่าครั้งหนึ่งที่ได้รักเนมุตันเป็นรักแท้ คำอธิบายความรักของนี้ซังที่มีต่อเนมุตันเท่าที่พอจะนึกออกตอนนี้มีอยู่ 2 แบบค่ะ อย่างแรกคือเป็นทางออกให้มีชีวิตอยู่อย่างเข้มแข็งท่ามกลางความโดดเดี่ยวและความเหงาที่ไม่เคยได้รับการยอมรับจากผู้หญิงจริงๆ และอย่างที่สองคือสิ่งที่เขาปฏิบัติต่อหมอนเนมุตันสะท้อนสิ่งที่เขาต้องการให้คนอื่นๆ ปฏิบัติกับเขาบ้าง

"Loser" หรือไอ้ขี้แพ้ คือคำที่มักจะใช้ดูถูกหนุ่มๆ ที่รักสาวสองมิติแบบนี้ค่ะ หลายคนอาจมองว่าการเมินผู้หญิงเพราะโดนทิ้งครั้งเดียวแล้วหันไปรักตัวการ์ตูนแทนเป็นแค่การหนีปัญหาของคนขี้แพ้ ทำไมไม่ลุกขึ้นมาปรับปรุงตัวให้สาวๆ หันมามองบ้างล่ะ! พูดแบบนี้เห็นทีคงได้ชกกับเพื่อนแน่ค่ะ เป็นธรรมดาของมนุษย์ถ้ามีทางเลือกที่ดีกว่าก็ต้องเลือกไว้ก่อน เช่นเดียวกับนี้ซังซึ่งบอกว่าเขาก็อยากแต่งงานกับผู้หญิงจริงๆ เช่นกันเพียงแต่โอกาสในขณะนี้ไม่อำนวย ถ้าจะต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองให้สาวหลงซึ่งไม่รู้ว่าต้องใช้เวลากี่ปีและต้องจมอยู่กับความโดดเดี่ยวอีกนานเท่าไร เขาเลือกที่จะฝึกวิธีปฏิบัติต่อผู้หญิงกับ "หมอน" ตัวแทนของหญิงสาวที่เขารักและบูชาซึ่งก็คือเนมุตันดีกว่า การที่จะรักและนับถือใครไม่จำเป็นว่าเขาต้องมีตัวตนให้เราเห็น เช่นเดียวกับที่หลายคนชอบนักร้องจากภาพที่ค่ายเพลงสร้างขึ้น ตัวจริงอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกค่ายเพลงปั้นแต่งขึ้นมาก็ได้ ดังนั้น นักร้องในวัฒนธรรมป๊อปหลายคนที่สาวๆ กรี๊ดกร๊าดก็คือภาพมายาที่ถูกสร้างขึ้นเช่นเดียวกับเนมุตัน

กรณีที่สอง สิ่งที่นี้ซังปฏิบัติต่อหมอนเนมุตันอาจจะเป็นความรู้สึกลึกๆ ที่ต้องการให้ใครสักคนปฏิบัติกับเขาเช่นนี้บ้าง นั่นคือรัก ให้เกียรติ และมองเห็นคุณค่าโดยไม่ตัดสินแค่เพียงภายนอกเช่นเดียวกับที่นี้ซังไม่มองว่าเนมุตันเป็น "แค่หมอน" เขาอาจต้องการให้คนอื่นมองเขาโดยไม่คิดว่าเป็น "แค่ตาแก่หัวเหม่งบ้าการ์ตูน" เหมือนกัน

บทความเรื่องความรักต่อสาวสองมิติ (2D) ของคุณลิซ่า คาตายาม่า ที่ตีพิมพ์ในนิวยอร์กไทม์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้ มีกระแสวิจารณ์ตอบกลับจากผู้อ่านฟากตะวันตกค่ะ โดยสรุปคือฝรั่งไม่เข้าใจวัฒนธรรมรักสาว 2D เดาว่าถ้าเขาเป็นนี้ซังเขาอาจจะเลือกเป็นโสดไม่ก็หันไปเข้ายิมเล่นกล้ามหรือทำศัลยกรรมให้สาวมองแต่คงไม่เลือกที่จะรักสาวน้อยในการ์ตูน เหตุผลหนึ่งเพราะชาติตะวันตกไม่ได้ใกล้ชิดการ์ตูนเหมือนญี่ปุ่น และอีกเหตุผลอาจเพราะวัฒนธรรมตะวันตกมีค่านิยมในการเปลี่ยนรูปกายภายนอกมากกว่าทำความเข้าใจกับความรู้สึกรักหรือซาบซึ้งภายใน

แต่ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มญี่ปุ่นรักสาว 2D หรือหนุ่มฝรั่งเพาะกล้าม สิ่งที่เหมือนกันคือค่านิยมทั้งสองแบบตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้ผู้สร้างกระแส มันคือค่านิยมที่ช่วยให้การ์ตูนสาวน้อยขายดีในญี่ปุ่นเช่นเดียวกับที่กิจกรรมเมคโอเวอร์ขายดีในอเมริกา

ใครคิดจะว่ายตามกระแสอาจจะต้องหยุดคิดสักนิดค่ะว่าคุณค่าที่แท้จริงของตัวเราอยู่ที่ไหน ไม่อย่างนั้นคงได้เสียเงินกระเป๋าฉีกกันแน่

วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11523 มติชนรายวัน

20 กันยายน 2552

แฟนสาวจากโลกการ์ตูน (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ลองนึกภาพว่าถ้ามีผู้ชายวัยกลางคนถือหมอนข้างรูปสาวน้อยจากแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) ขับรถไปท่องเที่ยวที่ต่างๆ และดูแลเธอเป็นอย่างดีราวกับหมอนใบนั้นมีชีวิต จัดให้เธอนั่งบนรถในท่าที่ศีรษะตั้งตรงและให้เกียรติโดยไม่เผลอเอามือแตะโดนร่างกายของเธอ (หมอน) ในบริเวณที่ไม่ควรเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกับผู้หญิงทั่วไป แวบแรกเราคิดอย่างไรคะ เก็บไว้ในใจแล้วมาทำความรู้จักกับเขาก่อนดีกว่าค่ะ

บทความนี้เขียนโดยคุณลิซ่า คาตายาม่า ตีพิมพ์ในนิตยสารนิวยอร์กไทม์วันที่ 21 กรกฎาคมปีนี้ และสร้างกระแสฮือฮาไปทั่วเนื่องจากเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่ชีวิตของผู้คลั่งไคล้การ์ตูนอย่างรุนแรงและบางครั้งถูกเรียกในเชิงลบว่า "โอตาคุ" จะได้รับการตีแผ่ให้ชาวโลกรับทราบ ชายหนุ่มที่รักหมอนสาวน้อยถึงขนาดไปไหนมาไหนด้วยกันคนนี้ชื่อว่าคุณเซโตะ มาซาโตะ เขาอายุแค่ 37 ปี แต่รูปร่างหน้าตาล้ำไปไกลมากแล้ว คุณเซโตะต้องการให้คนเรียกเขาว่า "นี้ซัง" เป็นภาษาญี่ปุ่นหมายถึงพี่ชาย แต่สาเหตุแท้จริงที่อยากให้ทุกคนเรียกเช่นนี้เพราะเป็นสรรพนามที่ "เนมุตัน" ใช้เรียกพี่ชายที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดของเธอนั่นเอง

"เนมุตัน" คือสาวน้อยที่อยู่บนหมอนของนี้ซังนั่นเองค่ะ ชื่อจริงของเธอคือ "เนมุ" เป็นตัวการ์ตูนจากเรื่อง Da Capo ซึ่งเป็นการ์ตูนแนวรักวัยรุ่นธรรมดา คำว่า "ตัน" เป็นคำต่อท้ายที่ให้ความหมายว่าเอ็นดูและรักคลั่งไคล้มาก (มากกว่า "จัง" อีกค่ะ) แต่เนมุตันที่อยู่บนหมอนของนี้ซังเป็นเนมุตันเวอร์ชั่นประดิษฐ์ใหม่ซึ่งปรากฏอยู่ในเกมที่สร้างจากตัวการ์ตูนเรื่องเดียวกันเพียงแต่ติดเรตและไม่เหมาะกับเยาวชน เนมุตัน (หมอน) จึงออกจะโชว์เนื้อหนังกว่าในการ์ตูนจริงๆ อยู่สักหน่อย

นี้ซังให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้ดีว่าเนมุตันไม่มีตัวตนและเธอเป็นแค่การ์ตูนสองมิติ แต่เขาก็รักเนมุตันจากใจและพูดได้เต็มปากว่าเธอเป็น "เกิร์ลเฟรนด์" ของเขา นี้ซังเคยคบผู้หญิง (ที่ไม่ใช่หมอน) มาก่อนแต่ก็ถูกทิ้งในที่สุด ใช่ว่าเขาจะไม่ชอบผู้หญิงจริงๆ แต่รักแรกพบกับเนมุตันทำให้เขาปักใจรักและอุดหนุนหมอนเนมุตันมาเพียบ เรียกว่าพอสีซีดแล้วก็ยังมีใบใหม่สำรองไว้เปลี่ยนให้เนมุตัน (หมอน) สดใสตลอดเวลา

ความรักที่มีให้สาวสองมิติในโลกแห่งจินตนาการเช่นนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นมาระยะหนึ่งแล้วค่ะ บางครั้งถูกเรียกว่า "Moe subculture" หรือวัฒนธรรมย่อยโมเอะ ซึ่งคำว่าโมเอะใช้อธิบายความรู้สึกกรี๊ดกร๊าดเวลาเห็นอะไรน่ารักอย่างรุนแรงจนอดใจไม่อยู่ กลุ่มคนที่หลงรักสาวน้อยสองมิติเหล่านี้บางครั้งถูกเรียกว่า "2-D lovers" ค่ะ

พักเรื่องนี้ซังไว้ตรงนี้ก่อน เพราะเชื่อว่าหลายท่านถ้าได้เจอนี้ซังเดินอุ้มหมอนอยู่ตามท้องถนนคงคิดแวบแรกว่า "พาไปพบจิตแพทย์เถอะ" ซึ่งนี้ซังก็บอกว่าถ้าเขาเห็นคนที่เป็นอย่างตัวเขาเอง เขาก็คงคิดแบบเดียวกัน ใช่ว่าเขาไม่อยากแต่งงานกับผู้หญิงจริงๆ แต่ดูสารรูปตัวเองแล้วเขาก็คิดว่าผู้หญิงที่ไหนอยากจะมาแต่งงานด้วย ในช่วงเวลาที่ต้องโดดเดี่ยวและถูกโรคเบาหวานรุมเร้า เขาไม่ประชดชีวิตดื่มเหล้าหรือโทษโชคชะตาแต่เลือกที่จะ "รักเนมุตัน" และมีชีวิตอยู่อย่างไม่แคร์สายตาใคร

จริงอยู่ว่านี้ซังทำตัวแปลกกว่าคนทั่วไป แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนนี้ซังเป็นตัวเราสมัยสองสามขวบและเปลี่ยนเนมุตัน (หมอน) เป็นตุ๊กตาหรือของเล่นที่เคยเล่นตอนเด็กๆ บ้าง เชื่อว่าเด็กผู้หญิงหลายคนต้องเคยเล่นสมมุติว่าตัวเองเป็นแม่แล้วให้ตุ๊กตาเป็นลูก อุ้มตุ๊กตาขึ้นมาแนบอกด้วยความรักและพูดเพราะๆ กับตุ๊กตา เด็กผู้ชายอาจจะเคยมีตุ๊กตาไอ้มดแดงทำจากยางตัวเล็กๆ เอามาเล่นเตะต่อยจนตุ๊กตาตัวอื่นล้มกลิ้ง บางทีก็ชูขึ้นมาทำท่าเหาะเหินเดินอากาศและกำจัดเหล่าร้ายแบบที่เห็นในการ์ตูน นั่นอาจจะเป็นความหมายของสิ่งที่นี้ซังปฏิบัติต่อเนมุตัน

การให้เกียรติ ดูแลเอาใจใส่ รักเนมุตันโดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนอาจเป็นจิตใต้สำนึกที่เขาต้องการให้คนอื่นๆ ปฏิบัติต่อเขาแบบเดียวกันก็ได้ เช่นเดียวกับเด็กผู้หญิงเล่นเป็นแม่ให้ตุ๊กตาเพราะนอกจากเลียนแบบแม่ที่ตัวเองเห็นในชีวิตจริงแล้ว บางครั้งก็เลียนแบบแม่ในฝันที่รักและพูดเพราะๆ ดูแลเอาใจใส่ลูกเช่นกัน

เห็นทีเรื่องของนี้ซังและเนมุตันจะยาว ไว้ต่อสัปดาห์หน้าดีกว่าค่ะ

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11516 มติชนรายวัน

12 กันยายน 2552

เผาบ้านเพราะแค้นที่แม่ทิ้งกันดั้ม

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

คำโปรยด้านบนคือหัวข้อข่าวจากหนังสือพิมพ์เดอะโกเบชิมบุนที่นำเสนอเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมาก่อนวันแม่ในบ้านเราไม่นานเลยค่ะ สำหรับท่านที่ไม่รู้จักว่า "กันดั้ม" (Gundam) คืออะไร กันดั้มคือหุ่นยนต์จากแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) เรื่องกันดั้มที่สร้างออกมาหลายภาคและออกแบบหุ่นกันดั้มแตกต่างกันไปโดยยังคงเอกลักษณ์ใบหน้าไว้ให้ใกล้เคียงเดิมที่สุด แต่สิ่งที่เหล่านักสะสมกันดั้มชื่นชอบนอกเหนือจากแอนิเมชั่นคือ "กันดั้ม พลาสติค โมเดล" (หรือคนญี่ปุ่นเรียกย่อๆ ว่า "กันพลา") ซึ่งเป็นหุ่นประกอบจากพลาสติคมากมายหลายเกรดหลายรุ่น เรียกว่าเป็นของสะสมที่มีคุณค่าทางใจอย่างสูงเลยล่ะค่ะ พ่อสารถีที่บ้านก็มีอยู่หลายตัวทีเดียว

ข่าวจากหนังสือพิมพ์ระบุว่านาย "โยชิฟุมิ ทาคาเบะ" อายุ 29 ปี ทำงานเป็นพนักงานในโรงงานแห่งหนึ่งลุกขึ้นมาราดน้ำมันก๊าดในห้องของเขาที่บ้านและจุดไฟเผา ส่งผลให้บ้านที่อาศัยอยู่กับมารดาไหม้ราบเป็นหน้ากลองอย่างรวดเร็วแต่โชคดีที่เขาและมารดาปลอดภัย จากคำกล่าวอ้างของตำรวจบอกว่านายโยชิฟุมิเล่าสาเหตุที่ทำเช่นนี้เนื่องจากมารดาทิ้งกันพลาที่เขารักมากไปจึงรู้สึกอยากตายขึ้นมา

ไม่แปลกใจเลยค่ะว่าคนส่วนใหญ่ที่อ่านข่าวนี้จะประณามว่าลูกเลว ลูกทรพี รักกันดั้มแค่ไหนแต่เผาบ้านแบบนี้ก็เกินไปแล้ว การเผาบ้านไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้องแน่นอน แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกเข้าไปอีกนิด ข่าวสั้นๆ ข่าวนี้มีหลายอย่างให้เราต้องติดตามต่อว่าเกิดอะไรขึ้นกับชายหนุ่มผู้รักกันดั้มคนนี้กันแน่

สิ่งที่ต้องพิจารณาคือเกิดอะไรขึ้นเขาถึงตัดสินใจเผาบ้านตัวเองและรู้สึก "อยากตาย" เมื่อรู้ว่าของสะสมที่มีค่าและรักเหมือนลูกถูกโยนทิ้ง ความรู้สึกอยากตายนี้น่าสนใจค่ะ เมื่อ 2-3 ปีก่อนเคยทำวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากทำร้ายตัวเองด้วยวิธีต่างๆ เช่น กินยาเกินขนาด กรีดข้อมือ ฯลฯ สิ่งที่สังเกตได้คือส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการ "ฆ่าตัวตาย" แต่วิกฤตชีวิตบางอย่างเจ็บปวดเกินกว่าที่เขาจะรับมือไหว การทำร้ายตัวเองจึงเป็นการสื่อสารแบบหนึ่งให้ตัวเองและคนรอบข้างรับรู้ว่า "ฉันก็เจ็บนะ ฉันเสียใจ ฉันทรมาน ฉันทำพลาดไปแล้ว ฉันขอโทษ ฯลฯ" แต่เพราะไม่สามารถกลั่นออกมาเป็นคำพูดได้จึงแสดงออกด้วยการทำร้ายตัวเองเสียแทน คนกลุ่มนี้ถ้ามีใครสักคนรับฟังและเข้าใจ ไม่ต้องช่วยแก้ปัญหาก็ได้ค่ะ บางทีแค่รับฟังก็เกินพอแล้ว ความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองจะลดลงมาก อีกข้อสังเกตหนึ่งคือคนที่ทำร้ายตัวเองหลายคน "เมา" ค่ะ เวลาเสียใจหนักๆ แล้วเมาจนขาดสติก็อาจเผลอทำอะไรหุนหันพลันแล่นออกไปได้ ส่วนใหญ่มักจะเสียใจตอนสร่างนะคะ อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการ "ฆ่าตัวตาย" จริงๆ และใช้วิธีรุนแรงชนิดที่ตายได้แน่ๆ เช่น กระโดดตึก ผูกคอ ใช้ปืน กลุ่มนี้มักมีความเจ็บป่วยทางจิตใจซ่อนอยู่ ไม่ใช่คนปกติที่แค่ผิดหวังตูมเดียวแล้วจะฆ่าตัวตายแน่ๆ กลุ่มนี้ต้องรีบพามาหาจิตแพทย์เลยค่ะ

นอกจากความรู้สึกอยากตายของนายโยชิฟุมิแล้ว อีกคนที่ต้องหันไปคุยคือคุณแม่ซึ่งทิ้งกันพลาจนเป็นเหตุให้ลูกชายลุกขึ้นมาเผาบ้าน คงเป็นไปไม่ได้ที่คุณแม่จะเผลอโยนกันพลาทิ้งเพราะไม่รู้ว่าของสะสมที่ลูกชายประคบประหงมมาหลายปีเป็นของมีค่า ในข่าวไม่ได้บอกค่ะว่าทำไมคุณแม่ถึงตัดสินใจทิ้งของสะสมเหล่านั้น เกิดอะไรขึ้นกับนายโยชิฟุมิที่ทำให้คนเป็นแม่ถึงขนาดต้องทิ้งของรักของลูกชายจนอีกฝ่ายเผาบ้านแบบนี้ แท้จริงนายโยชิฟุมิเป็นแค่ไอ้หนุ่มที่บ้ากันดั้มจนเกินปกติ หรือแค่เผาเพราะเมา หรือมีสาเหตุอื่นๆ ประกอบด้วยกันแน่ ข้อมูลเหล่านี้สำคัญเพราะถ้าอนาคตเราจะทิ้งของรักของหวงของใครสักคนจะได้พอนึกออกว่าจะเกิดอะไรตามมาอีกบ้างและควรจะระวังอะไร

น่าแปลกที่คดีนี้ไม่ยักมีใครเชียร์ให้ส่งนายโยชิฟุมิมาพบจิตแพทย์ มีแต่บอกให้เข้าไปนอนคุกน่ะดีแล้ว แต่จิตแพทย์ที่นั่งเขียนคอลัมน์อยู่ตรงนี้อยากคุยกับเขานะคะว่าเกิดอะไรขึ้น เชื่ออยู่ลึกๆ ว่าคนที่รักกันดั้มไม่น่าเป็นคนไม่ดีค่ะ

วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11509 มติชนรายวัน

05 กันยายน 2552

ตุ๊กตาปลอมระบาดในไทย (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังเรื่องค่านิยมที่ไม่ถูกต้องของคนบางกลุ่มที่คิดว่าการลอกเลียนแบบหรือนำผลงานที่เกิดจากความคิดของผู้อื่นมาก๊อบปี้ขายต่อเป็นเรื่องปกติ รวมถึงปัญหาตุ๊กตา BJD (ball joint doll ตุ๊กตาเรซิ่นที่ราคาหลายหมื่นบาท) ของบริษัท Volks ในญี่ปุ่นถูกก๊อบปี้ในประเทศจีนและนำมาขายในเว็บไซต์ประมูลของญี่ปุ่นกันอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย วันนี้จะเล่าต่อถึงตุ๊กตา BJD ปลอมด้วยมือคนไทยที่มักง่ายกลุ่มหนึ่งซึ่งหลายคนหลงซื้อไปเสียแล้ว

เพื่อนผู้เล่น BJD สองคนเล่าให้ฟังว่า 2 เดือนที่ผ่านมาได้ไปเดินเที่ยวแถวสะพานเหล็กซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเป็นแหล่งจำหน่ายฟิกเกอร์และโมเดลการ์ตูนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ทั้งสองท่านสะดุดตากับ BJD สาวน้อยสูงประมาณ 41 ซม. ตัวหนึ่งเข้าค่ะ ราคา 6,500 บาท แต่เมื่อรวมวิกผม, รองเท้า และชุดก็เป็น 9,500 บาท ความที่ชอบและอยากเล่น BJD อยู่เป็นทุนก็เลยสอบถามข้อมูลจากคนขายแต่ทั้งสองท่านกลับได้ข้อมูลมาคนละแบบ

ท่านแรกทราบจากคนขายว่า BJD รุ่นนี้ชื่อซีซ่าดอลล์นำเข้าจากจีน แต่เมื่อถามถึงการนำเข้า บริษัทผู้ผลิต และรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ คนขายก็อ้ำอึ้งและดูเหมือนไม่ค่อยอยากตอบเท่าไร ส่วนท่านที่สองทราบว่า BJD รุ่นนี้ลูกชายเจ้าของร้านหล่อเรซิ่นเองกับมือ บอกว่าเป็นของที่คนไทยทำเองอย่างภาคภูมิใจ หว่านล้อมจนทั้งสองท่านซื้อ BJD มาในที่สุดเพราะคิดว่าราคาถูกกว่าซื้อของเกาหลี ที่สำคัญเป็นฝีมือปั้นของคนไทยเสียด้วยยิ่งต้องช่วยอุดหนุนเข้าไปใหญ่ ทั้งสองท่านดูแลตุ๊กตาลูกสาวด้วยความรักค่ะ แต่งตัวให้ เย็บเสื้อผ้าให้ และถ่ายภาพมาอวดเพื่อนๆ ที่รัก BJD ด้วยกัน แต่เมื่อเพื่อนๆ เข้ามามุงดูก็เริ่มรู้สึกประหลาดใจและมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า

"ดูแล้วคล้าย BJD ของเกาหลีรุ่นนึงเลยนะ"

ภาพที่เห็นนี้คือภาพ BJD ที่ได้รับจากหนึ่งในสองท่านที่ซื้อมาในไทยค่ะ ขอบคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลนะคะ หลังจากที่หลายสิบตาช่วยกันเช็คก็ปรากฏว่าเหมือน BJD ของเกาหลีมากและน่าจะเป็นรุ่นเดียวกัน จึงสรุปในเบื้องต้นว่า BJD ไทยที่หลงภูมิใจและชื่นชมไปในตอนแรก "เป็นของปลอม!" ที่น่าจะเกิดจากคนผลิตซื้อของจริงมาแยกส่วนและหล่อเองตามแบบ เป็นของปลอมจากวัสดุราคาไม่กี่ร้อยบาทที่ขายต่อเกือบหมื่นบาทนั่นเอง

หากข่าวคนไทยก๊อบปี้ตุ๊กตา BJD แพร่ออกไปคงเสียหายหนักค่ะเพราะเมืองไทยจะถูกมองว่าเป็นดินแดนแห่งของปลอมในสายตานักเล่น BJD ทั่วโลกทันที นักออกแบบ BJD ฝีมือเยี่ยมชาวไทยหลายคนอาจขายผลงานได้ลำบากขึ้น และ BJD ที่ขายจากคนไทยก็จะถูกมองอย่างระแวงว่าจะปลอมหรือไม่

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้มีการค้นพบว่าเว็บไซต์ขายสินค้าแห่งหนึ่งในจีนประกาศขายตุ๊กตาของตนเองซึ่งเป็นสินค้าเลียนแบบจากต้นฉบับเกาหลี เขาให้เหตุผลว่า "เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเล่นตุ๊กตาแพงๆ เราจึงเสนอทางเลือกด้วยตุ๊กตาแบบเดียวกับของบริษัท XXX ในราคาที่ถูกกว่ามาก!" เป็นที่รู้กันว่าการขายตัดราคาแบบนี้ทำได้เพราะใช้วัสดุคุณภาพต่ำและลอกเขามาทั้งดุ้นค่ะ ข่าวนี้ทำให้นักสะสม BJD ทั่วโลกกังวลในการซื้อของมือสองมากขึ้นเนื่องจากไม่มั่นใจว่า BJD รุ่นหายากราคาแพงลิบหลายหมื่นบาทที่ซื้อมาเป็นของแท้หรือไม่ แต่คนที่ลำบากที่สุดคงจะเป็นนักเล่น BJD ในจีนเองซึ่งนอกจากแทบจะขาย BJD มือสองให้คนต่างชาติไม่ได้แล้ว ยังต้องมาระแวงคนจีนกันเองว่าของที่ซื้อต่อมาเป็นของแท้แน่หรือเปล่า

ได้แต่หวังว่า BJD ณ สะพานเหล็กในร้านนั้นคงไม่ใช่ของปลอมที่เกิดจากมือคนไทยค่ะ เพราะถ้าคนไทยก๊อปเองจริง เห็นทีนักเล่น BJD ชาวไทยคงร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างว่าของที่เราซื้อต่อมาด้วยราคาหลายหมื่นอาจจะกลายเป็นศูนย์บาทในพริบตาเพราะเป็นของปลอมก็ได้

วิธีแก้ปัญหานี้ทำได้ไม่ยาก คือ ไม่สนับสนุนหรือซื้อของที่สงสัยว่าอาจจะทำปลอมขึ้นมา และสร้างจิตสำนึกว่าอย่ามักง่ายซื้อของปลอมแค่เพราะต้องการของราคาถูก จะรอให้คนขี้โกงถูกดำเนินคดีคงไม่ทันการณ์ เริ่มจากตัวเองและเพื่อนๆ ด้วยการไม่อุดหนุนของปลอมเหล่านี้ และไม่ชื่นชมคนที่ใช้ของเลียนแบบดีกว่าค่ะ

วันที่ 06 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11502 มติชนรายวัน