10 สิงหาคม 2551

"โอเดตต์"ความเป็นมนุษย์เริ่มที่หัวใจ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

จากประสบการณ์ในการพูดคุยอย่างจริงจังกับคนที่ไม่ได้ชอบอ่านการ์ตูน ความเห็นของคนเหล่านี้ต่อคนที่อ่านการ์ตูนมีเป็น 2 แบบค่ะ แบบแรกออกในเชิงบวกสักหน่อย คือ มองว่าคนที่อ่านการ์ตูนน่าจะเป็นคนอารมณ์ดีและไม่ซีเรียสกับชีวิตมาก กับแบบที่สอง คิดว่าคนที่อ่านการ์ตูน (ในระดับสะสมคือเกินกว่าอ่านเอาสนุกทั่วไป) เป็นคนไม่รู้จักโต มีความคิดเป็นเด็ก ไม่ยอมเผชิญหน้ากับความเป็นจริงและหลงใหลในโลกของจินตนาการ

ในฐานะคนอ่านการ์ตูนกลับรู้สึกว่าทั้งสองความเห็นมาจากสายตาของคนที่ไม่ได้อ่านการ์ตูนจริงๆ ด้วยค่ะ ความจริงเป็นอย่างไรไม่สำคัญ แต่สายตาจากคนในสังคมที่มองก็ตัดสินไปแล้วให้คนที่เดินถือการ์ตูนอ่านในไทยกลายเป็นประชากรอีกชนชั้นหนึ่ง ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจนี้น่าจะคล้ายๆ กับที่ "โอเดตต์" หุ่นยนต์แอนดรอยด์สาวรู้สึก

"โยชิซาว่า โอเดตต์" คือหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ ผลิตโดยศาสตราจารย์โยชิซาว่า อัจฉริยะด้านหุ่นยนต์ซึ่งอายุยังน้อยและเฮฮาปาร์ตี้กับการสร้างหุ่นให้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด สิ่งที่ยังขาดไปสำหรับโอเดตต์คือ "ความเป็นมนุษย์" หมายถึงความรู้สึกสุขทุกข์สนุกสนาน โอเดตต์จึงอยากเข้าโรงเรียนมัธยมปลายเพื่อหาเพื่อนและเรียนรู้สังคมมนุษย์จากเหล่าเพื่อนสาวของเธอโดยปิดเรื่องที่เธอเป็นหุ่นยนต์แรงช้างไว้เป็นความลับ

ยิ่งได้อยู่ร่วมกับมนุษย์ โอเดตต์ก็ยิ่งรัก "ความเป็นตัวเอง" น้อยลงและอยากจะเหมือนเพื่อนให้มากขึ้น พัฒนาการทางจิตใจขั้นนี้เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปเลยค่ะ วัยมัธยมเป็นวัยที่สังคมเพื่อนมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง อย่างน้อยเขาก็ใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าอยู่กับครอบครัวเยอะ การยอมรับจากเพื่อนสำคัญกว่าพ่อแม่ด้วยเหตุผลเดียวกัน และการที่ตัวเองแตกต่างจากคนอื่นถือเป็นเรื่องน่าอับอายมากกว่าภูมิใจ จนกว่าจะค้นหาว่าแท้จริงตัวเขาเองก็มีเอกลักษณ์ คือ มีดีในแบบของตัวเองนั่นล่ะค่ะถึงจะได้เข้าวัยผู้ใหญ่เสียที

โอเดตต์เข้าใจตัวเองอย่างแจ่มแจ้งอย่างรวดเร็วเพียงแค่จบตอนแรกค่ะ เธอขอร้องให้ศาสตราจารย์สร้างความรู้สึก "อร่อย" ให้เธอเมื่อกินอาหารทั้งที่อาหารของเธอเพียงแค่ชาร์ตไฟฟ้าก็เพียงพอแล้ว ขอร้องให้ทำน้ำตาที่ไหลออกมาตอนรู้สึกเสียใจ แน่นอนว่าเธอมีน้ำตาไว้ล้างฝุ่นที่ตาแต่ความรู้สึกเสียใจคืออะไรก็ไม่รู้ และขอร้องให้ลดพละกำลังช้างสิบเชือกของเธอเท่ากับมนุษย์คนอื่นๆ สุดท้ายศาสตราจารย์ก็ใจอ่อนยอมทำให้จนโอเดตต์ใกล้เคียงกับมนุษย์ธรรมดา

แต่กลับมีเหตุการณ์ที่ทำให้เธอนึกเสียใจในการทิ้งเอกลักษณ์ของตัวเองไปค่ะ เธอกับเพื่อนตกลงไปในบ่อน้ำแห้งขอดโดยไม่ได้ตั้งใจ โชคไม่ดีที่เพื่อนสาวมีอาการหอบหืดกำเริบและกำลังจะเสียชีวิต แม้โอเดตต์จะพยายามปีนขึ้นไปจากบ่อก็ทำไม่ได้เพราะเธอไม่ใช่หุ่นยนต์แรงช้างอีกแล้ว เธอเป็นเพียงเด็กสาวธรรมดาและกำลังจะปล่อยให้เพื่อนตาย

ผู้วาดยังไม่ทำท่อน้ำตาแตกตั้งแต่ต้นเรื่องค่ะ โอเดตต์และสหายรักรอดทั้งคู่ แต่สิ่งที่น่าซาบซึ้งยิ่งกว่าการรอดตายคือโอเดตต์เข้าใจแล้วว่าเธอก็เป็นเธอ มีดีที่ความเป็นตัวเธอเอง ซึ่งแม้จะต่างจากคนอื่นอยู่หลายขุมเพราะเป็นหุ่นยนต์แต่เธอก็มีสิ่งที่มนุษย์ไม่มีมากมาย

เรื่องนี้อ่านได้เรื่อยๆ แต่กลับดึงดูดให้วางมือไม่ลงค่ะ เป็นเรื่องเล่าเรียบง่ายของประชากรอีกชนชั้นหนึ่งซึ่งถูกมองว่าต่างจากมนุษย์ทั่วไปทั้งที่ภายนอกก็เหมือนชาวบ้าน ให้อารมณ์คล้ายนักอ่านการ์ตูนหลายคนที่หากหน้าตาเลยวัยรุ่นไปแล้วแต่หยิบการ์ตูนขึ้นมาอ่านเมื่อไร ก็จะถูกมองว่าเป็นประชากรอีกประเภทหนึ่งและถูกตัดสินว่าเป็นคนอย่างนู้นอย่างนี้ไปทันที การค้นหาความเป็นมนุษย์ของหุ่นยนต์อย่างโอเดตต์จึงอาจเปรียบได้กับการค้นหาความภูมิใจในตัวเองของนักอ่านการ์ตูนด้วยค่ะ วันใดที่ภูมิใจว่าตัวเองชอบอ่านการ์ตูน วันนั้นคือวันที่เริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่แล้ว

แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมด้วยนะคะ! ก่อนที่โอเดตต์จะเผยบรรดาสายไฟและแผงวงจรของตัวเองต่อหน้าเพื่อน เธอขอร้องให้เพื่อนหลับตาเสียก่อนเพราะเธอไม่มีเวลามากพอจะอธิบายที่มาที่ไป เช่นเดียวกับจิตแพทย์ที่ชอบอ่านการ์ตูนคนนี้ แม้จะย่องไปร้านการ์ตูนและซื้ออย่างสง่างามแต่ก็จะไม่นั่งอ่านการ์ตูนตามที่สาธารณะค่ะ

ไม่ได้อยากปิดบังแต่ก็ไม่ได้อยากป่าวประกาศ ความภูมิใจในตัวเองต้องสมดุลกับความเหมาะสมของการเป็นส่วนหนึ่งในสังคมด้วย ซึ่งโอเดตต์นำเสนอการทดลองหาจุดสมดุลนี้ได้อย่างสนุกเลยล่ะค่ะ

จากมติชนรายวันฉบับวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11110

ไม่มีความคิดเห็น: