24 สิงหาคม 2551

ซามูไรซูเปอร์กุ๊ก" กองทัพเดินด้วยท้องและของอร่อย

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ก่อนที่จะมาเรียนต่อต่างประเทศ รุ่นพี่ที่เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศก็พูดติดตลกเกี่ยวกับอาหารการกินในต่างแดนว่า "ข้อดีของการที่เราไปอยู่เมืองนอกนานๆ คือเราจะรักเมืองไทยมากขึ้น รักอาหารไทยและมีความสุขเวลากินข้าวสวยร้อนๆ จนแทบไม่อยากกินอาหารของชาติอื่นเลย" พูดเสร็จรุ่นพี่ก็ยิ้มแป้นนั่งดูเรากินขนมปังต่อ

บางทีความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยก็ทำให้เราลืมไปว่าแค่ข้าวร้อนๆ ก็อร่อยอย่างคาดไม่ถึงได้นะคะ ยิ่งถ้ามีกับข้าวอร่อยๆ มาเคียงก็เหมือนขึ้นสวรรค์

ความรู้สึกซาบซึ้งกับอาหารพื้นๆ ที่ไม่ได้หรูหราเกิดขึ้นเมื่อได้อ่าน "ซามูไรซูเปอร์กุ๊ก" ค่ะ ว่าด้วยทหารเดินเท้าซึ่งเป็นทหารที่มีคุณค่าน้อยที่สุดในกองทัพนายหนึ่งซึ่งไม่เก่งด้านสู้รบเอาเลย แต่เขามีฝีมือในการปรุงอาหารอย่างมาก เขาคือ "ยาฮาจิ" ชายร่างเล็กที่มักจะยิ้มอย่างอารมณ์ดีเมื่อได้ปรุงอาหารใหม่ๆ

ยาฮาจิเกิดในยุคศึกสงครามสมัยที่ยังใช้ธนูเยอะกว่าปืนไฟน่ะค่ะ ในตอนนั้นทุกแห่งประสบปัญหาข้าวยากหมากแพง ชาวไร่ชาวนาอดอยากและล้มป่วยเสียชีวิตมากมาย ทำให้ชายหนุ่มหลายคนจำใจเข้ามาเป็นทหารในกองทัพเพื่อให้มีกินไปวันๆ แต่กองทัพเองก็ใช่ว่าจะอุดมสมบูรณ์ บางทัพของตระกูลที่ผู้นำไม่ได้ร่ำรวยก็อาจให้ทหารได้กินแค่ข้าวตากแห้งชืดๆ กับบ๊วยตากแห้งที่ช่วยเพิ่มรสเค็มปะแล่มเป็นเครื่องเคียงเท่านั้น เนื้อสัตว์แทบจะเป็นอาหารในฝันเสียมากกว่าเพราะต้องล่าเอาตามป่าเขา ดังนั้น ทหารหลายคนในกองทัพจึงสุขภาพทรุดโทรมจากการได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

คนที่เห็นปัญหานี้และตัดสินใจนำความรู้ที่มีออกมาใช้ปรุงอาหารให้เพื่อนทหารด้วยกันคือยาฮาจินี่ล่ะค่ะ เขายอมทำสิ่งที่เสียศักดิ์ศรีนักรบอย่างการไปหยิบเอาอาหารแห้งในตัวทหารที่เสียชีวิตแล้วมาปรุง หรือการจุดไฟหุงต้มอาหารทั้งที่กลางสนามรบเขาห้ามจุดไฟ นิสัยบ้าบิ่นของยาฮาจิก็ทำให้เขาเกือบต้องหัวกุดเมื่อแม่ทัพทราบเรื่องและโกรธมาก ยาฮาจิได้รับโอกาสให้ทำอาหารมอบให้แม่ทัพขี้โมโหและโชคดีที่เขาทำอร่อยจึงได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าครัวในที่สุด เรียกว่าเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในชีวิตเขาเลยค่ะ

เสน่ห์ของการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ความมุ่งมั่นของยาฮาจิเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ประพันธ์เรื่องนี้บรรยายไว้ละเอียดยิบว่าอาหารจานนั้นมีส่วนประกอบอะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง ที่น่าประทับใจจนอยากกินคงเป็นข้าวต้ม 5 สีค่ะ อาหารชุดนี้ยาฮาจิทำเพื่อมอบให้จูเบ นายของตนที่ล้มป่วยและเจ็บคอจนกินไม่ได้แม้แต่ข้าวต้ม เขาปรุงอาหารขึ้นมา 5 ชนิด ซึ่งต้องกินเรียงลำดับกัน ได้แก่ ซุปใสทำจากขิงและน้ำข้าวช่วยลดอาการเจ็บคอ ต่อที่ตัวเพิ่มความอยากอาหารคือข้าวต้มสีทองจากปลาฮาโมะและเห็ดมัตสึทาเคะเป็นซุปลื่นๆ คล่องคอ (อ่านถึงถ้วยที่สองก็เริ่มรู้สึกว่าน้ำลายสอปากแล้วค่ะ) ถ้วยที่สามคือข้าวต้มสีดำผสมสมุนไพรหลากหลาย มีดักแด้กับตัวอ่อนแมลงบดละเอียดเพิ่มสารอาหาร (คงเพิ่มโปรตีนแน่นอน คนไทยเรานิยมมานาน) ถ้วยที่สี่เป็นข้าวต้มขาวจากข้าวสดซึ่งไม่ใช่ข้าวสารแห้งแบบที่เรากินกันทุกวันนี้ค่ะ เป็นข้าวใหม่ซึ่งยังมีคุณค่าทางอาหารอยู่มาก และถ้วยสุดท้ายคือข้าวต้มผสมเห็ดไมทาเคะและเนื้อสัตว์ เจ้าเห็ดไมทาเคะช่วยรักษาอาการอักเสบได้ดีน่าจะช่วยอาการป่วยได้มาก

อ่านจบห้าถ้วยก็ต้องหยิบทิชชูมาซับน้ำลายสักหน่อยค่ะ ไม่น่าเชื่อว่าแค่ข้าวต้มก็ยังมีวิธีการทำหลากหลายและได้ประโยชน์ต่างๆ กันขนาดนี้ ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกทึ่งในอาหารเหลือเกิน

อ่านเรื่องนี้จบแล้วอยากกินข้าวสวยร้อนๆ ขึ้นมาจับใจเลยค่ะ แต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในไทย มองซ้ายมองขวาก็เจอแต่ขนมปัง พาสต้า ข้าวอินเดีย คิดถึงวันสุดท้ายที่ได้กินข้าวหอมมะลิหุงใหม่ๆ เม็ดเรียวๆ แล้วน้ำตาจะร่วงค่ะ ไม่ใช่ไม่มีเงินซื้อข้าวกับหม้อนะคะ แต่ไม่มีฝีมือค่ะ...หุงทีไรไม่ดิบก็แฉะทุกที

สรุปว่า ยาฮาจิให้ข้อคิดกับเราว่าการกินอย่างเป็นสุขอาจไม่ใช่เพราะได้กินอาหารอร่อย แต่เพราะเรากินแล้ว "ระลึกในความอร่อย" ของอาหารมากกว่าค่ะ (เพียงแต่ถ้าอร่อยด้วยก็คงจะดีมาก)

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11117 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: