17 มกราคม 2552

Big Windup! การ์ตูนที่เหมาะแก่การสร้างคน (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ไม่แน่ใจว่าเพราะเรื่องนี้ไม่มีตีพิมพ์เป็นภาษาไทยหรือเปล่าค่ะ เพราะเมื่อโพย 50 อันดับหนังสือการ์ตูนยอดขายสูงสุดในญี่ปุ่นประจำปี 2008 ของ Origon ออกมา ปรากฏว่ามีเรื่องหนึ่งที่ขนาดชื่อยังไม่เคยได้ยิน นั่นคือ Ookiku Furikabutte หรือชื่อภาษาอังกฤษ Big Windup! การ์ตูนเบสบอลซึ่งยอดขายเฉพาะสองฉบับนี้ในปี 2008 สูงถึงเกือบหนึ่งล้านเล่ม!

เมื่อค้นหาข้อมูลลึกขึ้นอีกหน่อย จึงทราบว่า Big Windup! เป็นการ์ตูนที่ได้รับ "ทั้งเงินและกล่อง" คือนอกจากยอดขายสูงถล่มทลาย ยังได้รับเสียงชื่นชมในทางบวกอย่างล้นหลาม บทพิสูจน์คุณค่าคือ Big Windup! ได้รับรางวัลกรังปรี Kodansha Manga Award ประจำปี 2007 ก่อนหน้านั้นในงาน Japan Media Arts Festival ช่วงต้นปี 2007 การ์ตูนเบสบอลเรื่องนี้ได้รับการจัดอันดับอยู่ในหนังสือการ์ตูน 25 เรื่องที่ดีที่สุด นอกจากนั้นในปี 2006 ยังได้รับรางวัล "การ์ตูนดาวรุ่งยอดเยี่ยม" จาก Tezuka Osamu Culture Awards ครั้งที่ 10 เนื่องจากหลังวางจำหน่าย 7 ฉบับก็สามารถกวาดยอดขายได้มากกว่า 2.5 ล้านเล่ม หอบรางวัลมาขนาดนี้แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในไทยได้อย่างไรกัน มาทำความรู้จักกันตอนนี้เลยดีกว่าค่ะ

Ookiku Furikabutte ดั้งเดิมเป็นหนังสือการ์ตูนประพันธ์โดย Asa Higuchi เริ่มวางแผงตั้งแต่ปี 2003 จนถึงปัจจุบันด้วยจำนวน 11 เล่มยังไม่จบ ต่อมาในปี 2007 ได้รับการสร้างเป็นแอนิเมชั่นสำหรับฉายทางโทรทัศน์จำนวน 25 ตอนกับ DVD อีก 1 ตอน แต่เพิ่งจัดทำเป็นภาษาอังกฤษเมื่อกลางปี 2008 โดยใช้ชื่อว่า Big Windup! "อาสะ ฮิกุจิ "ใช้เวลารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเบสบอลมัธยมปลายกว่า 10 ปีก่อนเขียนเรื่องนี้ และก่อนตีพิมพ์ เธอก็เข้าไปทำงานกับชมรมเบสบอลอยู่กว่าปีเลยค่ะ ก่อนที่เธอจะกลายมาเป็นนักเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เธอเองก็ได้รับแรงบันดาลใจจาก Dokaben การ์ตูนเบสบอลซึ่งตีพิมพ์ในปี 1972 เช่นกัน เธอจึงเป็นหนึ่งในดอกผลของการ์ตูนที่เคยสร้างคนเมื่อกว่า 30 ปีก่อนนั่นเองจากการอดตาหลับขับตานอนดูจนจบในหนึ่งวัน ผลสรุปคือ Big Windup! เป็น "หนึ่งในการ์ตูนเบสบอลมัธยมปลายที่ดีที่สุดตลอดกาล" อย่างไม่ต้องสงสัยเลยค่ะ

โรงเรียนมัธยมปลายนิชิอุระคือโรงเรียนแห่งใหม่ที่ "มิฮาชิ เรน" เด็กหนุ่มขี้อายย้ายเข้ามาและสถานที่แรกที่เขาตรงไปคือ "ชมรมเบสบอล" ซึ่งเพิ่งเปิดชมรมเป็นปีแรกในโรงเรียนแห่งนี้ สมาชิกทุกคนจึงเป็นเด็กมัธยมปลายปี 1 ล้วนๆ เขาสมัครเป็นสมาชิกในตำแหน่ง "พิชเชอร์" หรือผู้ขว้างลูกซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญและโดดเด่นมากในทีม (อย่างน้อยก็ในการ์ตูนเบสบอลส่วนใหญ่ที่พระเอกต้องเป็นพิชเชอร์) สมาชิกทุกคนตื่นเต้นและดีใจเมื่อทราบว่ามิฮาชิเคยเป็น "เอซ" หรือมือหนึ่งของทีมจากโรงเรียนเก่า แต่เมื่อเขาลองขว้างลูกให้ทุกคนในทีมดู เหตุผลที่ทำให้เขาย้ายโรงเรียนและหนีความกลัวมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่โรงเรียนแห่งนี้ก็ปรากฏ

นั่นคือบุคลิกค่ะ มิฮาชิเป็นเด็กหนุ่มขี้อายที่ไม่กล้าแม้แต่จะสบตาคู่สนทนา อารมณ์อ่อนไหวและมักโทษตัวเองเสมอ เพียงแค่ความผิดหวังเล็กน้อยเขาก็สามารถร้องไห้เป็นเผาเต่าได้และสิ่งที่เขาขาดมากที่สุดคือ "ความมั่นใจ" ซึ่งถูกทำลายป่นปี้จากชมรมเบสบอลโรงเรียนเก่าเพราะเกือบทุกคนรังเกียจเขาและคิดว่าเขาได้เป็นเอซของทีมทั้งที่ขว้างลูกได้ช้ามากเพราะมิฮาชิเป็นหลานเจ้าของโรงเรียน
"อาเบะ ทาคายะ" ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง "แคชเชอร์" หรือคนรับลูกมองเห็นความสามารถของมิฮาชิอย่างคาดไม่ถึง แม้มิฮาชิขว้างลูกช้ากว่ามาตรฐานนักเบสบอลมัธยมปลายทั่วไป แต่สามารถควบคุมทิศทางและใช้ลูกเทคนิคเลี้ยวไปมาอย่างพิสดารได้หลากหลาย อาเบะมีความเชื่อว่าการ "ขว้างเร็ว" เกิดจากพรสวรรค์ ส่วนการ "ขว้างเทคนิค" เกิดจากการฝึกฝนอย่างหนัก ดังนั้นมิฮาชิคือพิชเชอร์ที่ไม่มีพรสวรรค์แต่เก่งขึ้นได้ด้วยความพยายาม เพียงแต่บุคลิกที่สื่อสารด้วยคำพูดได้ลำบากและความมั่นใจติดลบทำให้ทุกคนตีความว่าเขาคือพิชเชอร์ที่แย่ที่สุด
ความน่าทึ่งของ Ookiku Furikabutte อยู่ที่การนำเสนอเบสบอลมัธยมปลายด้วยภาพที่ธรรมดาที่สุด ไม่มีฮีโร่ออกมาโชว์เทพให้เด็กๆ หลงใหลและใฝ่ฝันอยากเป็นนักเบสบอลดังเช่นสมัยเรื่องกัปตันสึบาสะสร้างแรงบันดาลใจให้นักฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นมากกว่าครึ่งทีมมาแล้ว ไม่มีความสัมพันธ์ของเหล่าเพื่อนและชีวิตวัยรุ่นที่ทำให้ซาบซึ้งและยิ้มได้ทั้งน้ำตา เกือบทั้งหมดคือเรื่องของ "เบสบอลล้วนๆ" และเป็นตำราเล่มใหญ่ที่พ่อแม่สามารถยื่นให้ลูกดูแล้วบอกว่า "ถ้าอยากเป็นนักเบสบอลมัธยมปลายก็เรียนรู้จากเรื่องนี้" ได้เลยค่ะ

การ์ตูนที่เป็นพันธมิตรของทั้งนักอ่าน ผู้ปกครอง สำนักพิมพ์ และกระทรวงวัฒนธรรมมีเนื้อหาในรายละเอียดอย่างไร และทำไมเรื่องนี้จึงสร้างคนได้ สัปดาห์หน้ามาต่อค่ะ

วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11271 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: