05 กุมภาพันธ์ 2552

Big Windup! การ์ตูนที่เหมาะแก่การสร้างคน (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วซึ่งเล่าค้างไว้ถึง Ookiku Furikabutte การ์ตูนเบสบอลที่ได้รับทั้งเงินและกล่องไปอย่างท่วมท้นในปี 2007และยังดังติดชาร์ตไม่มีตกในปี 2008 ความลับของการ์ตูนที่เป็นพันธมิตรของทั้งนักอ่าน ผู้ปกครอง สำนักพิมพ์ และกระทรวงวัฒนธรรมคืออะไรกันแน่ เพราะเหตุใดสี่เส้าที่มีความต้องการจากการ์ตูนต่างกันสุดขั้วจึงลงตัวที่การ์ตูนเรื่องนี้ นักอ่านต้องการการ์ตูนที่อ่านแล้วสนุก ไม่ต้องสร้างสรรค์นักก็ได้ ผู้ปกครองต้องการการ์ตูนที่สร้างสรรค์ให้คุ้มกับเงินที่เสียไป สำนักพิมพ์ต้องการการ์ตูนที่ทำยอดขายได้ดีๆ และกระทรวงวัฒนธรรมต้องการการ์ตูนที่จะเปลี่ยนค่านิยมของสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น อะไรคือสิ่งที่ทำให้ Ookiku Furikabutte ลงตัวกับทุกความต้องการ

คำนิยามสั้นๆ ของการ์ตูนเบสบอลเรื่องนี้คือ Inspiration and Team ค่ะ ทีมเบสบอลที่ปรากฏในเรื่องทุกทีมดึงเอาสุดยอดแห่งศาสตร์ของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าจากสองยุคสมัยที่ห่างกันสามทศวรรษมารวมกันอย่างลงตัว โดย Inspiration หรือ "แรงบันดาลใจ" คือค่านิยมของการ์ตูนเบสบอลในยุค 70 ยุคทองของการ์ตูนที่มองภาพ ?โคชิเอน? หรือสนามแข่งรอบชิงชนะเลิศสำหรับเบสบอลมัธยมปลายเป็นปลายทางของความฝันฤดูร้อน ทุกคนต้องฝึกฝนอย่างหนัก พลีหยาดเหงื่อและน้ำตาฝ่าฟันอุปสรรค์เพื่อให้ได้ไปยืนอยู่กลางโคชิเอนและคว้าถ้วยแห่งชัยชนะมาครอง

Ookiku Furikabutte นำเสนอภาพนี้ใน "ทุกตอน" ค่ะ ไม่มีตอนไหนเลยที่สมาชิกชมรมเบสบอลจะไม่ฝึกซ้อมและพัฒนาตัวเอง การ์ตูนนำเสนอเทคนิคการเป็น "นักเบสบอลมัธยมปลาย" อย่างชาญฉลาดด้วยการสร้างสมดุลให้ชีวิตของเหล่านักกีฬาซึ่งไม่ใช่แค่เล่นเบสบอลเป็นงานเดียวในชีวิต ทุกคนต้องฝึกพื้นฐานร่างกายจิตใจและต้องเรียนหนังสือ นี่คือการ์ตูนเบสบอลหนึ่งในน้อยเรื่องที่นำเสนอออกมาเต็มปากเต็มคำว่า "แม้เราจะมุ่งมั่นในเบสบอล แต่เราก็เป็นนักเรียนด้วยเหมือนกัน" สมดุลนี้ทำให้เหล่าผู้ปกครองต่างสรรเสริญและกระทรวงวัฒนธรรมยกนิ้วให้

การเล่นเบสบอลใน Ookiku Furikabutte ไม่ใช่การขว้างและตีสาดไปมาพร้อมกับทำแต้มเพื่อชัยชนะให้คนดูลุ้นจนอดรีนาลีนหลั่ง แต่การเล่นทุกจังหวะมีเสียงความคิดของผู้เล่นว่าเขาทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ตัวอย่างเช่น "ทาจิมะ" มือตีฝีมือดีที่ตีลูกได้ทุกประเภท การ์ตูนไม่ได้นำเสนอแค่ทาจิมะตีสาดจนลูกลอยไปไกลเท่านั้น แต่ก่อนตีเราได้เห็นว่าทาจิมะเลือกตีไปยังบริเวณที่การป้องกันอ่อน หรือเลือกที่จะไม่ตีเพื่อดูทิศทางและแนวการขว้างของลูก อีกคนหนึ่งคืออาเบะซึ่งแม้เป็นแคชเชอร์หรือผู้รับบอลซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังคนตี ก่อนเขาส่งสัญญาณบอกมิฮาชิซึ่งกำลังจะขว้างลูกมา เราจะได้ยินเสียงคำพูดของเขาบอกว่าเขาศึกษาคู่แข่งคนนี้มาแล้วว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร หลังจากนั้นจึงวางแผนว่าควรให้มิฮาชิขว้างลูกแบบไหนจึงจะเหมาะที่สุด การนำเสนอความคิดในทุกขั้นตอนคือการเล่นอย่าง "นักวิเคราะห์วิจัย" ค่ะ และแนวคิดนี้คือการสร้างคนเพื่อให้กลายเป็นนักวิจัยที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต ถ้าเด็กมัธยมปลายในญี่ปุ่นดูการ์ตูนเรื่องนี้แล้วพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์แบบเดียวกับนักศึกษาระดับปริญญาโท ประเทศนี้ในอีกสิบปีข้างหน้าจะน่าทึ่งขนาดไหน

ส่วน Team หรือ "การทำงานเป็นทีม" คือค่านิยมของการทำงานในปัจจุบันค่ะ ไม่มีตัวเอกฉายเดี่ยวแบบอดีตอีกแล้วเพราะเราไม่ต้องการฮีโร่ที่เก่งคนเดียวแต่เพื่อนพ้องล้มเหลวทุกคน Ookiku Furikabutte นำเสนอทักษะการทำงานเป็นทีมและการทำให้ทีมเวิร์กมันออกมาเวิร์ก หมายถึงทุกคนในทีมต้องร่วมมือเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือโคชิเอน เมื่อทำดีทุกคนต้องชื่นชม เมื่อทำพลาดทุกคนก็ช่วยกันวิเคราะห์ว่าพลาดเพราะอะไรและให้กำลังใจสำหรับครั้งหน้า การพลาดแล้วเหยียบซ้ำแบบอดีตไม่มีในเรื่องนี้แม้แต่ฉากเดียว แรงกดดันที่ทำให้เป็นทุกข์เกิดจากความพยายามที่จะก้าวข้ามขีดความสามารถของตัวเองล้วนๆ ดังนั้นเรื่องนี้จึงนำเสนอ "การมองโลกในเชิงสร้างสรรค์" อย่างน่าทึ่ง ไม่ได้หมายถึงมองทุกอย่างดีไปหมดนะคะ แต่หมายถึงมองทุกอย่างว่าล้วนแล้วแต่แก้ไขได้ พัฒนาได้ ทำให้ดีขึ้นกว่านี้ก็ยังได้

Ookiku Furikabutte ได้สร้างค่านิยมใหม่ให้สังคมและดอกผลก็สามารถเห็นได้ใน 10-30 ปีข้างหน้าเมื่อเด็กเหล่านั้นกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลทางความคิดในสังคม เช่นเดียวกับที่ผู้เขียน "อาสะ ฮิกุจิ" ชื่นชมการ์ตูนเบสบอลเมื่อสามสิบปีก่อนตอนเป็นเด็ก และกลายมาเป็นนักเขียนการ์ตูนเบสบอลซึ่งทรงอิทธิพลทางความคิดที่สุดในญี่ปุ่นตอนนี้

ถ้าโดราเอมอนคือการ์ตูนที่จะให้ลูกอ่านตอนประถม Ookiku Furikabutte คือเรื่องที่ควรให้ลูกได้ดูตอนขึ้นชั้นมัธยมแน่นอนเลยค่ะ แต่น่าเสียดายที่การ์ตูนซึ่งให้ประโยชน์สูงสุดใน Top 50 การ์ตูนขายดีในญี่ปุ่นประจำปี 2008 อย่างเรื่องนี้กลับไม่มีแปลเป็นภาษาไทย!

ไม่เป็นไร...ดูเป็นภาษาอังกฤษก็ถือเป็นการฝึกฝนอย่างหนึ่งเช่นกัน นี่คือตัวอย่างของการมองโลกอย่างสร้างสรรค์นะคะ

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11278 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: