07 กุมภาพันธ์ 2552

การ์ตูนกับทักษะการอ่าน และแอนิเมชั่นกับทักษะการฟัง

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากไม่ได้อ่านหนังสือการ์ตูนภาษาไทยเล่มใหม่ๆ เป็นเวลานาน เนื่องจากการ์ตูนที่ขนมาอ่านระหว่างเรียนอยู่ต่างประเทศก็อ่านเสียจนเกลี้ยงคลังแล้ว หนังสือการ์ตูนภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นก็เกลี้ยงเช่นกัน แอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) ก็ไม่ตอบสนองความต้องการได้เท่าหนังสือการ์ตูน ในที่สุดจึงอี-เมลกลับไปบอกที่บ้านค่ะว่า "ส่งหนังสือการ์ตูนมาให้หน่อย"

หนังสือการ์ตูนภาษาไทยกล่องยักษ์สองโหลใช้เวลาเดินทางเกือบหนึ่งเดือนและมาถึงมือในที่สุดค่ะ ความที่ดีใจและตื่นเต้นหลังจากไม่ได้สัมผัสการ์ตูนภาษาไทยมาเป็นเวลา 3 เดือน (เท่านั้นเอง) จึงรีบเปิดกล่องแล้วคว้ามาอ่านอย่างรวดเร็ว! และปรากฏการณ์ที่น่าระทึกใจบางอย่างก็เกิดขึ้น!

"ทำไมเราอ่านหนังสือช้าลงล่ะเนี่ย..."

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการสังเกตพัฒนาการในการอ่านและดูภาพยนตร์การ์ตูนของตัวเองโดยไม่มีงานวิจัยมารองรับนะคะ เปรียบเทียบระหว่างการอ่านหนังสือการ์ตูนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และการอ่านหนังสือเรียนภาษาอังกฤษ รวมถึงการดูแอนิเมชั่นภาษาญี่ปุ่นที่มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษค่ะ สามเดือนของการอ่านการ์ตูนภาษาไทยและอังกฤษน้อยลง ในระหว่างที่อ่านหนังสือเรียนและดูแอนิเมชั่นมากขึ้น ผลคือ...

ทักษะในการอ่านตัวหนังสือภาษาไทยลดลงอย่างชัดเจนหลังจากไม่ได้อ่านมา 3 เดือนค่ะ สังเกตได้จากระยะเวลาที่ใช้อ่านการ์ตูนในแต่ละช่องและแต่ละหน้านานขึ้นกว่าปกติ จากใช้เวลาอ่านประมาณเล่มละ 20 นาที กลายเป็นมากกว่า 30 นาที และอ่านข้ามเสียเยอะเนื่องจากรู้สึกว่าสิ่งที่อ่าน "ไม่อิน" เท่าสมัยก่อน แต่อรรถรสในการอ่านก็ยังคงมากกว่าการ์ตูนภาษาอังกฤษ ซึ่งแม้จะอ่านได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ และมีสมาธิมากขึ้น คำแปลภาษาไทยก็ยังคงมีอิทธิพลต่อความรู้สึกขณะอ่านมากกว่าอยู่ดี

ต่อมาคือทักษะในการดูแอนิเมชั่นพากย์ภาษาญี่ปุ่นซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ โดยส่วนตัวเป็นคนที่ดูแอนิเมชั่นแทบไม่ได้เลยค่ะ เนื่องจากสมาธิสั้นเอามากๆ หลังจากดูไปครึ่งชั่วโมงก็มักจะเกิดไอเดียอยากทำนู่นทำนี่ ส่งผลให้ดูไม่เคยจบเสียที แถมระหว่างดูก็มีเหม่อเป็นพักๆ ทำให้เนื้อเรื่องบางตอนขาดหายไป จะกดย้อนไปดูก็ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน ผิดกับหนังสือการ์ตูนที่สามารถเปิดย้อนหาหน้าที่ต้องการได้รวดเร็วกว่า ดังนั้น แอนิเมชั่นจึงเป็นของไกลตัวมาแต่ไหนแต่ไรแล้วค่ะ จนกระทั่ง 3 เดือนที่ผ่านมา จำใจต้องดูเพราะไม่มีหนังสือการ์ตูนให้อ่าน ผลที่ได้คือทักษะในการอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการอ่านซับไตเติ้ลนะคะ คาดว่าเพราะตอนชม สายตาเราจะเหลือบอ่านซับไตเติ้ลแค่บางคำให้พอเข้าใจ คำที่ไม่เข้าใจก็จะมองข้ามไปแล้วคาดเดาเอาจากภาพที่เห็น แน่นอนว่าไม่ได้เรียนรู้รูปประโยคด้วยค่ะ ทักษะภาษาอังกฤษจากซับไตเติ้ลจึงไม่เกิด แต่ทักษะการฟังภาษาญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นอย่างมากค่ะ! เมื่อดูไปหลายๆ เรื่องถึงได้เริ่มสังเกตว่าบางครั้งเราฟังภาษาญี่ปุ่นเข้าใจก่อนอ่านซับไตเติ้ลเสียอีก และเมื่อฟังเสียงพากย์พร้อมกับอ่านซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษก็ทำให้เดาความหมายของคำใหม่ๆ ที่ได้ยินได้มากขึ้นค่ะ เป็นการเรียนรู้คำศัพท์ได้อย่างดีทีเดียว

มาถึงทักษะการอ่านหนังสือเรียนภาษาอังกฤษบ้างนะคะ ผลคือหนังสือการ์ตูนภาษาอังกฤษและซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษในแอนิเมชั่นไม่ได้ช่วยในการอ่านหนังสือเรียนเลยค่ะ หลังจากนั่งสังเกตว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ทักษะการอ่านข้ามประเภทหนังสือมาไม่ได้ คำตอบคือหนังสือเรียนเขาใช้ภาษาอังกฤษแบบ "วิชาการ" ซึ่งมีรูปแบบการเขียนเฉพาะ ไม่เหมือนภาษาแบบ fiction หรือนวนิยาย ดังนั้น ทักษะการอ่านหนังสือเรียนจึงเพิ่มขึ้นได้ด้วยวิธีเดียวคืออ่านหนังสือเรียนเยอะๆ เท่านั้นค่ะ อย่างไรก็ตาม หนังสือการ์ตูนช่วยให้ความ "กลัวหนังสือ" ลดลงและมีความสุขกับการอ่านมากขึ้นอย่างชัดเจน

หนังสือการ์ตูนหรือแอนิเมชั่นไม่ว่าภาษาใดก็ล้วนมีประโยชน์ต่อทักษะการอ่านหรือฟัง แต่แนะนำว่าไม่ควรอยู่หน้าจอหรืออ่านแต่หนังสือการ์ตูนโดยไม่ออกไปพบปะผู้คน เพราะจากการสังเกตอีกเช่นกัน 3 เดือนที่พูดภาษาไทยน้อยลง เวลาเจอเพื่อนคนไทยก็ชักเริ่มเรียบเรียงประโยคออกมาแปลกๆ แล้วค่ะ รู้สึกตัวว่าทักษะการพูดลดลงอย่างชัดเจน ในระหว่างที่ทักษะการเขียนยังคล่องทั้งภาษาไทยและอังกฤษเพราะต้องพิมพ์รายงานและเขียนคอลัมน์อยู่เป็นประจำ

ข้อสรุปของการสังเกตครั้งนี้คือ Practice makes Perfect ค่ะ อยากเก่งอะไรก็ฝึกทำเข้าไปเยอะๆ พร้อมกับสังเกตความผิดพลาดเพื่อนำไปปรับปรุงในอนาคต ไม่นานรับรองเก่งขึ้นแน่ๆ ค่ะ

วันที่ 08 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11292 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: