20 กุมภาพันธ์ 2552

Kadokawa Anime on Youtube เปลี่ยนปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเงิน

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า "คลิปวิดีโอ" หรือบางคนเรียกสั้นๆ ว่า "คลิป" มาบ้างแล้วนะคะ คลิปวิดีโอมักหมายถึงวิดีโอหรือภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายเก็บไว้ในรูปไฟล์ สาเหตุที่คลิปเหล่านี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากมีเว็บไซต์ที่สามารถอัพโหลดคลิปและเผยแพร่ให้ผู้ชมได้รับชมทั่วโลกผ่านอินเตอร์เน็ตอย่างง่ายดาย (Video Sharing Web Sites) หนึ่งในเว็บไซต์ที่รู้จักกันดีคือ YouTube นี่ล่ะค่ะ นอกจากวิดีโอที่คัดลอกมาจากแหล่งอื่นแล้ว วิดีโอหลายเรื่องยังสร้างขึ้นเองด้วยฝีมือของนักตัดต่อสมัครเล่น เราอาจเรียกวิดีโอเหล่านี้ว่า User Generated Video ซึ่งเป็นการปฏิวัติวงการสื่อและก้าวพ้นข้อจำกัดของโทรทัศน์ โดยผู้ชมสามารถพลิกบทบาทมาเป็นผู้สร้างเสียเองได้ด้วย

ปัญหาของคลิปวิดีโอซึ่งทำให้วงการการ์ตูนปวดหัวมาเนิ่นนานคือปัญหา "ละเมิดลิขสิทธิ์" นั่นเองค่ะ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือถ้ามีคนนำภาพยนตร์การ์ตูนมาฉายให้ดูฟรีทางอินเตอร์เน็ตเสียแล้ว ใครจะซื้อ DVD ให้เปลืองเงินถ้าไม่ได้อยากสะสมจริงๆ หรือจะนั่งรอชมทางโทรทัศน์ดึกดื่นไปเพื่ออะไรในเมื่ออินเตอร์เน็ตมีให้ชมได้ตลอดเวลา ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตนี้กระทบต่อทั้งยอดขาย DVD และรายได้จากโฆษณาทางโทรทัศน์ แต่โชคดีที่มีการกวาดล้างผลงานละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้ไปพอสมควรโดยเฉพาะในเว็บไซต์เผยแพร่คลิปใหญ่ๆ ดังนั้น วงการภาพยนตร์การ์ตูนจึงยังอยู่รอดปลอดภัยดีค่ะ

ปัญหาคลิปละเมิดลิขสิทธิ์หมดไปไม่เท่าไร ทางบริษัทผู้ผลิตแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) ก็ต้องกุมขมับอีกครั้ง เมื่อคลิปที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตไม่ใช่การ์ตูนเป็นตอนๆ เหมือนอดีต แต่เป็นวิดีโอที่นำภาพในการ์ตูนมาตัดต่อเองกลายเป็นมิวสิควิดีโอเก๋ๆ หรือแม้แต่วิดีโอเล่าเรื่องย่อคุณภาพดีเทียบเท่าหนังตัวอย่างที่ฉายในโรงภาพยนตร์ แน่นอนว่าทางบริษัทมีสิทธิให้หยุดเผยแพร่เนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธ์เช่นกัน แต่การคุมกำเนิดคลิปที่โผล่เป็นดอกเห็ดเหล่านี้ไม่ใช่งานง่ายๆ เลยค่ะ ที่สำคัญคือคลิปเหล่านี้มีคนเข้าชมเป็นจำนวนมากเสียด้วย

ในที่สุดค่าย Kadokawa ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแอนิเมชั่นจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสเสียเลย โดยการเปิดช่องการ์ตูนชื่อ Kadokawa Anime Channel บน YouTube ขึ้นเมื่อต้นปี 2008 และฉายวิดีโอสองแบบหลัก แบบแรกคือวิดีโอการ์ตูนในค่ายของตนเองซึ่งไม่ต้องรอให้มีคนละเมิดลิขสิทธิ์ไปโพสท์ให้ เจ้าของลิขสิทธิ์นี่ล่ะค่ะโพสท์เองเลย และอีกแบบหนึ่งคือ MAD videos หรือวิดีโอตัดต่อโดยฝีมือแฟนๆ ซึ่งนำภาพและเสียงจากแอนิเมชั่นในค่ายไปตัดต่ออย่างละเมิดลิขสิทธิ์

เพื่อทำให้ของโจรกลายเป็นงานลิขสิทธิ์ถูกต้อง ทางคาโดคาวะจึงมีขั้นตอนคัดกรองว่าผลงาน MAD videos เหล่านี้คุณภาพดีเพียงพอที่จะแขวนไว้บน Kadokawa Anime Channel บน YouTube หรือไม่ หากได้มาตรฐานจึงจะสามารถเผยแพร่ได้ ซึ่งช่วยส่งผลในการโฆษณาแอนิเมชั่นของค่ายอีกทางหนึ่งด้วย ยอดผู้เข้าชมคลิปตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนปีที่แล้วสูงถึง 50 ล้านครั้งเลยทีเดียวค่ะ ตัวเลขที่น่าตื่นตะลึงนี้ได้ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ซึ่งทำให้วงการการ์ตูนรอดตายอีกครา นั่นคือนวัตกรรม VideoAd หรือการแปะโฆษณาลงบนคลิปที่รับชมโดยตรงนั่นเอง พูดง่ายๆ คือถ้าเราเปิดคลิปดู เราก็ต้องเห็นโฆษณาร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะโฆษณาลอยทับอยู่หน้าคลิป ผู้ชมมีทางเลือกเดียวคือดูโฆษณาเพื่อหาปุ่มปิดไม่อย่างนั้นก็จะดูคลิปเต็มจอไม่ได้ โฆษณาที่ผู้ชมต้องดูและบ่นไม่ได้เพราะตัวเองก็ดูคลิปของฟรีเช่นนี้คือสวรรค์ของสปอนเซอร์เลยล่ะค่ะ

ทางคาโดคาวะเปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมามีรายได้จาก Kadokawa Anime Channel บน YouTube ถึงเดือนละสิบล้านเยน! รายได้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการฉายแอนิเมชั่นของตัวเอง แต่มาจาก VideoAd หรือโฆษณาที่แปะอยู่บนคลิป MAD videos นี่ล่ะค่ะ แผนธุรกิจเปลี่ยนของโจรให้เป็นเงินของคาโดคาวะและ YouTube จึงกลายเป็นที่จับตามองเนื่องจากเป็นกลยุทธที่ให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ไม่เฉพาะทำให้งานละเมิดลิขสิทธิ์กลายเป็นงานชั้นดีถูกต้องตามกฎหมาย แต่คาโดคาวะยังได้โฆษณาแอนิเมชั่นของตัวเองไปทั่วโลกผ่านทาง YouTube และกลายเป็นศูนย์กลาง MAD videos ซึ่งสามารถควบคุมคุณภาพงานได้ด้วยตนเองก่อนเผยแพร่ และรับค่าโฆษณาโดยที่ไม่ต้องลงแรงทำเองให้เหนื่อย

Kadokawa Anime Channel บน YouTube จึงสอนให้รู้ว่าการมองปัญหาให้เป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมและแนวคิดใหม่ๆ คือคำตอบที่ดีกว่ามองปัญหาว่าเป็นเรื่องที่ควรกำจัดให้หมดสิ้นไปค่ะ ใครจะนึกถึงว่าปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้ลงเอยที่การกวาดล้างเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11299 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: