21 มีนาคม 2552

Spirited Away จินตนาการกลั่นตัวเป็นการ์ตูน (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สำหรับแฟนผลงานแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) ของ Studio Ghibli ค่ายแอนิเมชั่นที่เปรียบดั่งวอลต์ ดิสนีย์ ของญี่ปุ่น เรื่องนี้ย่อมเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดีแน่นอนค่ะเนื่องจากเป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกของญี่ปุ่นที่ประกาศศักดาบนเวทีออสการ์ด้วยการคว้ารางวัลแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมในปี 2002 เอาชนะ Ice Age ซึ่งดังเป็นพลุแตกในบ้านเรา ที่น่าสนใจคือ Spirited Away กับ Ice Age เป็นแอนิเมชั่นที่เจาะตลาดคนละกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด และเวทีออสการ์พิสูจน์แล้วว่า "แอนิเมชั่น" ซึ่งเป็นศิลปะการถ่ายทอดภาพยนตร์ผ่านภาพวาดกับ "การ์ตูน" สำหรับเด็กต่างกันอย่างชัดเจน สิ่งที่ทำให้ Spirited Away เรียกเสียงฮือฮาได้มากกว่านั้นคือเป็นแอนิเมชั่นที่ไม่ได้พากย์ภาษาอังกฤษเพียงเรื่องเดียวในประวัติศาสตร์รางวัลนี้ และเป็นหนึ่งในสองเรื่องในประวัติศาสตร์รางวัลที่สร้างแอนิเมชั่นแบบวาดด้วยมือ (stop-motion) ในระหว่างที่เรื่องอื่นสร้างด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิคล้วน (และส่วนใหญ่เป็นแอนิเมชั่นสำหรับเด็ก)
ก่อนจะตัดสินใจดูเรื่องนี้ต้องเรียนให้ทราบก่อนค่ะว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็กเล็กๆ นะคะ เด็กโตและผู้ใหญ่ดูได้แต่จะตีความออกมาต่างกันนิดหน่อยเนื่องจากบทภาพยนตร์สร้างได้ละเมียดและตีความได้หลายชั้นมาก ขณะดูถึงกับต้องหยุดภาพแล้วค่อยๆ คิดเป็นระยะว่าถ้าเราเป็นเด็กเราจะสนุกเพราะอะไร ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่แล้วจะสนุกตรงไหน โดยส่วนตัวครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ได้ดูเรื่องนี้ค่ะ (ครั้งแรกดูหลังได้รับออสการ์ใหม่ๆ และสารภาพว่าดูไม่รู้เรื่อง) แถมดูหลังจากเพิ่งชม Mononoke Hime แอนิเมชั่นที่ขณะดูเชื่อว่านั่นคือจุดสูงสุดของ Studio Ghibli แล้ว ถ้า Spirited Away ออกมาไม่สมกับออสการ์ล่ะก็ เราจะสับให้เป็นบะช่อเชียว

แล้วก็สับไม่ลงค่ะ มัน...มันดีมาก!

Spirited Away เล่าถึงการผจญภัยของ "จิฮิโระ" เด็กสาววัยประถม เธอกำลังย้ายบ้านพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่แต่เธอไม่พอใจเนื่องจากไม่ต้องการย้ายโรงเรียนและแยกจากเพื่อนๆ ระหว่างทางไปบ้านใหม่ ทั้งสามคนบังเอิญไปพบกับร้านรวงมากมายและอาหารอร่อยน่ากิน คุณพ่อคุณแม่ของจิฮิโระลงมือกินโดยไม่ทราบว่านั่นคืออาหารของเหล่าภูติและเทพเจ้า ผลคือทั้งสองถูกแม่มด "ยูบาบะ" สาปให้เป็นหมู ระหว่างที่จิฮิโระหนี เธอพบกับ "ฮาคุ" เด็กหนุ่มที่ช่วยให้เธอรอดพ้นจากคำสาปและแนะนำให้เธอเข้าไปทำงานในโรงอาบน้ำของยูบาบะเพราะคนทำงานจะไม่โดนสาป ระหว่างนั้นจึงค่อยคิดหาทางช่วยคุณพ่อกับคุณแม่ให้พ้นคำสาปก่อนโดนจับมาทำอาหาร

จิฮิโระได้เข้ามาทำงานในโรงอาบน้ำในที่สุดโดยเธอโดนยึดชื่อเป็นตัวประกัน (ซึ่งนิทานญี่ปุ่นเชื่อว่าถ้าโดนยึดชื่อก็จะถูกกักความทรงจำและพลังไว้) และได้รับชื่อใหม่ว่า "เซ็น" ผลงานแรกของเซ็นคือช่วยอาบน้ำให้ภูติเหม็นซึ่งส่งกลิ่นตลบอบอวลจนไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ เธอช่วยดึงเอาของที่ติดอยู่ในตัวภูติออกไปและในที่สุดจึงปรากฏความจริงว่าภูติตนนั้นคือเทพเจ้ามังกรแห่งแม่น้ำนั่นเอง ดูถึงตรงนี้แล้วอมยิ้มเลยค่ะ อยากคารวะผู้กำกับฯฮายาโอะ มิยาซากิ ซักสามจอก แท้จริงสถานที่นี้คือ "สถานที่ชำระวิญญาณให้บริสุทธิ์" นั่นเอง คนเราทำได้โดยการปฏิบัติธรรมแต่จะให้สร้างสถานปฏิบัติธรรมในการ์ตูนมันก็ดูน่าเบื่อไปหน่อย ผู้กำกับฯมิยาซากิจึงสร้าง "โรงอาบน้ำ" เสียแทนซึ่งให้นัยยะเหมือนกัน โอ้...น่าทึ่งค่ะน่าทึ่ง

ผลงานของเซ็นช่วยให้แม่มดยูบาบะพอใจมาก แต่ก็ไม่นานเพราะเซ็นเชิญแขกที่น่ากลัวเข้ามาในโรงอาบน้ำเสียแล้ว แขกคนนั้นคือ "คาโอนาชิ" หรือผีไม่มีหน้า (แต่มีหน้ากาก) ซึ่งเข้ามาป่วนด้วยการเอาทองคำมาล่อเหล่าพนักงานในโรงอาบน้ำให้เอาอาหารมาให้กินจนตัวอ้วนพี สุดท้ายก็กินพนักงานเสียด้วยเลย ดูแล้วคาโอนาชิอยากเป็นเพื่อนกับเซ็นแต่เซ็นไม่ว่างเล่นด้วยเนื่องจากเธอต้องการช่วยฮาคุเด็กหนุ่มที่ช่วยเธอในตอนแรกด้วยการนำของที่ฮาคุขโมยจากแม่มด "เซนิบะ" พี่สาวฝาแฝดของยูบาบะไปคืนให้เร็วที่สุด
การผจญภัยยกสองของเซ็นเริ่มขึ้นเมื่อเธอต้องขึ้นรถไฟไปหาเซนิบะเพื่อคืนของพร้อมสหายอีก 3 หน่อ ประกอบด้วยคาโอนาชิที่สิ้นฤทธิ์ไปแล้ว กับ "โบ" หลานของยูบาบะที่ถูกเลี้ยงมาแบบขังไว้ในห้องไม่ให้ออกไปโลกภายนอกเพราะกลัวเชื้อโรคจะทำให้หลานป่วย โบถูกประคบประหงมจนยืนไม่ได้แม้ถึงวัยที่ควรเดินเองได้แล้ว อีกตัวคือนกที่ยูบาบะเลี้ยงไว้ให้ช่วยดูแลโบนั่นเอง การที่หลานหนีออกไปจากบ้านทำให้ยูบาบะตกใจมากและยอมทำข้อตกลงกับฮาคุเพื่อให้พาโบกลับมาแลกกับให้เซ็นและพ่อแม่กลับสู่โลกปกติเช่นเดิม

เนื้อเรื่องคร่าวๆ เพียงเท่านี้ค่ะ ถ้ามีซับไตเติ้ลดีๆ ที่อ่านรู้เรื่องรับรองว่าสนุกจนแทบกะพริบตาไม่ได้ งวดหน้ามาต่ออีกนิดว่านอกจากเนื้อเรื่องดี ภาพสวย บทแจ่ม ลำดับภาพเยี่ยม เพลงเพราะ มีรางวัลการันตี ทำรายได้ถล่มทลายในญี่ปุ่นและทั่วโลก ฯลฯ สิ่งที่ทำให้ Spirited Away กลายเป็นตัวแทนวัฒนธรรมแอนิเมชั่นของญี่ปุ่นในสายตาชาวโลกนอกเหนือจากการเอาหุ่นมาสู้กันแบบกันดั้ม หรือปล่อยพลังสู้กันแบบดราก้อนบอลล์คืออะไร งวดหน้าค่ะ

วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11334 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: