25 เมษายน 2552

Cat Street และปัญหาฮิคิโคโมริ [2]

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ที่แล้วเล่าให้ฟังเรื่อง "ฮิคิโคโมริ" ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้ประมาณ 1% ของประชากรในญี่ปุ่นค่ะ มีลักษณะสำคัญคือทนแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมรอบข้างไม่ไหวจึงตัดสินใจที่จะหนีจากสังคม ไม่พบเจอใคร ไม่ไปโรงเรียน หลายคนอยู่แต่ในบ้านหรือในห้องของตัวเองเป็นสิบปี แน่นอนว่าในจำนวนฮิคิโคโมริเหล่านี้หลายคนอาการแย่ลงและพบว่าเป็นโรคจิตในภายหลัง แต่หลายคนไม่ได้เป็นโรคจิตค่ะ เพียงแต่ต้องการหนีปัญหาวุ่นวายจากสังคมภายนอก ความที่หนีไปเรื่อยๆ นานเข้าก็ไม่สามารถกลับสู่สังคมได้เหมือนเดิมเช่นเดียวกับ "เคโตะ" เด็กสาววัย 16 ปีนางเอกของเรื่องนี้ เธอไม่ไปโรงเรียนเลยตั้งแต่ 9 ขวบ และไม่คบหาสมาคมกับใคร มีความรู้แค่จบประถมและสุดท้ายความที่แทบไม่ได้พูดกับคนอื่นเลย เธอจึงไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกผ่านทางคำพูดออกมาได้ดีเท่าไหร่นัก

การแก้ปัญหาฮิคิโคโมริในความคิดของหลายท่านอาจทำได้โดยบังคับให้ไปโรงเรียนหรือปล่อยให้อยู่บ้านต่อไปเพียงแต่จ้างครูมาสอนที่บ้านแทน แต่ Cat Street มีทางออกที่ดีกว่านั้นอีกค่ะ ในเมื่อเด็กที่เป็นฮิคิโคโมริไม่ยอมไปโรงเรียนและไม่ยอมเจอเพื่อน เป็นไปได้ไหมที่จะมีโรงเรียนที่ไม่บังคับว่าต้องไปนั่งเรียนทุกวัน ไม่อยากเจอเพื่อนก็ไปนั่งเรียนด้วยตัวเองที่ไหนก็ได้ในโรงเรียน อย่างน้อยวิธีนี้ก็ทำให้เหล่าฮิคิโคโมริเลิกวิ่งหนีความจริงและหลบซ่อนตัว แต่สามารถลุกขึ้นเริ่มต้นเผชิญหน้ากับคนรอบข้างโดยเริ่มจากสถานที่ที่เต็มไปด้วยคนแบบเดียวกันก่อนค่ะ

สถานที่นั้นคือโรงเรียน "เอล ลิสตัน" เป็นฟรีสคูลหรือโรงเรียนเปิดซึ่งรวบรวมนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนปกติด้วยสาเหตุบางอย่างไว้ด้วยกัน นักเรียนสามารถเข้าไปนั่งเล่นนอนเล่นหรือเกิดฮึดอยากเรียนรู้ก็สามารถเข้าไปนั่งศึกษาด้วยตนเองในห้องสมุดได้ คนที่แนะนำโรงเรียนนี้ให้เคโตะพูดได้น่าฟังค่ะ เขาถามเคโตะว่า "รอบๆ ตัวเธอตอนนี้มีที่ให้ยืนหรือเปล่าล่ะ" คำถามนี้แทงใจดำเคโตะอย่างจังจนเธอมองเห็นความไร้ค่าของตัวเอง จะว่าไปเธอก็ใช้ชีวิตอยู่ด้วยการวิ่งหนีความจริงไปเรื่อยๆ พร้อมกับโทษคนรอบข้างที่ทำให้เธอต้องเป็นแบบนี้ เธอไม่มีที่ให้หยุดยืนและเลือกก้าวไปทางใดทางหนึ่งจริงๆ เสียด้วย ได้แต่วิ่งวนอยู่ในเขาวงกตแห่งเดิมจนรู้ตัวอีกครั้งก็ผ่านมา 7 ปีแล้ว

ในที่สุดเคโตะตัดสินใจทำความรู้จักกับคนในเอล ลิสตัน และพบว่าฮิคิโคโมริอย่างเธอกลายเป็นคนธรรมดาไปเลยเมื่อเทียบกับคนอื่น เคโตะรู้จักกับเด็กหนุ่มนักฟุตบอลอัจฉริยะที่สุดท้ายก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะเก่งเกินหน้าเพื่อนจนไม่มีใครคบ เจอเด็กหนุ่มไอคิว 200 ที่เอาแต่นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน หรือสาวน้อยที่แต่งตัวด้วยชุดโกธิคโลลิต้า (ลูกไม้ฟูฟ่องและดัดผมเป็นหลอด) ตลอดเวลาจนดูประหลาดกว่าคนอื่น เมื่ออยู่ท่ามกลางคนเหล่านี้ เคโตะจึงหยุดวิ่งหนีและหันกลับมามองตัวเองอีกครั้งว่าชีวิตเธอต้องการอะไรกันแน่ เอล ลิสตันจึงเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่และการหลุดจากความเป็นฮิคิโคโมริของเธอค่ะ

Cat Street เป็นการ์ตูนที่น่าทึ่งอีกเรื่องหนึ่งของคามิโอะ โยโกะผู้วาด "สาวแกร่งแรงเกินร้อย" ที่ถูกนำไปสร้างเป็นละครจนโด่งดังทั่วเอเชียมาแล้วนะคะ เรื่องนี้ก็มีสร้างเป็นละครในญี่ปุ่น 6 ตอนจบ (ทำไมสั้นจัง) บางทีปัญหาฮิคิโคโมริพบมากในสังคมแบบญี่ปุ่นเนื่องจากเด็กเก่งๆ กลับถูกจำกัดด้วยค่านิยมที่ต้อง "เหมือนเพื่อน" และสังคมตะวันออกที่ต้อง "อ่อนน้อมถ่อมตน"

Cat Street ไม่ได้บอกเราว่าทางออกของปัญหาคือไปเปลี่ยนค่านิยมของคนส่วนใหญ่ แต่กำลังบอกว่าถ้าเราเก่งจริง เราก็ต้องยืดอกอย่างมั่นใจและกล้าที่จะแตกต่างเพื่อเป็นคนสร้างค่านิยมใหม่ให้คนเดินตามเราแทนที่เราจะเดินตามคนอื่นต่างหาก

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11369 มติชนรายวัน

19 เมษายน 2552

Cat Street และปัญหาฮิคิโคโมริ [1]

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เคยได้ยินปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นที่เรียกว่า "ฮิคิโคโมริ" (Hikikomori) ไหมคะ ชื่อญี่ปุ่นจ๋าขนาดนี้เดาดูก็คงพอทราบค่ะว่าเป็นปัญหาที่พบมากในประเทศญี่ปุ่นและเป็นปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ เนื่องจากผู้ที่เป็นฮิคิโคโมริเองมีลักษณะสำคัญคือหลีกหนีจากการเข้าสังคมอย่างรุนแรงเลยค่ะ โดยอาจจะอยู่แต่ในบ้านไม่พบเจอผู้คน ออกมาซื้ออาหารในร้านสะดวกซื้อตอนกลางดึกเพื่อไม่ต้องเจอใครมาก ไม่พูดคุยกับใคร ไม่ไปโรงเรียน หลายคนใช้ชีวิตอยู่แบบนี้เป็นสิบปีก็มี หนึ่งในสาวน้อยที่เป็นฮิคิโคโมริคือ "อาโยยามะ เคโตะ" เด็กสาววัย 16 ที่ไม่ไปโรงเรียนเลยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

เคโตะเคยเป็นดาราเด็กที่โด่งดังจากคณะละครเพลงแห่งหนึ่ง แม้เธออายุเพียง 9 ขวบ แต่ก็สามารถแสดงและเต้นได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยความสามารถที่โดดเด่นและหน้าตาน่ารัก เคโตะจึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและบดบังรัศมีของ "มาโกะ" ดาราเด็กอีกคนซึ่งต้องแสดงละครเพลงสลับวันกับเธอ เนื้อเรื่องก็เป็นไปตามพล็อตน้ำเน่าคลาสสิคทั่วไป เคโตะถูกเพื่อนในชั้นเรียนรังเกียจเพราะเธอได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเรียนเต็มวันเนื่องจากมีงานแสดง ความที่เคโตะเป็นคนพูดน้อยจึงไม่ได้แก้ตัวอะไรออกไป ได้แต่เก็บความเสียใจไว้และหันไปสนิทกับมาโกะแทนโดยเคโตะสอนการแสดงให้มาโกะจนสุดท้ายเมื่อฝีมือการแสดงทัดเทียมกัน มาโกะจึงหางโผล่และบอกว่าที่จริงรังเกียจเคโตะเต็มทน

"คนที่ไม่มีเพื่อนซักคนอย่างเธอน่าขยะแขยงจะตาย"

คำพูดนี้ทำให้เคโตะเสียใจและยืนอยู่กลางเวทีโดยไม่ขยับไปไหนเลยจนกระทั่งต้องยกเลิกการแสดงในวันนั้น และนั่นคือจุดจบของชีวิตการเป็นดาราเด็ก การไปโรงเรียน และการเข้าสังคมของเคโตะในวัย 9 ขวบ

เราอาจนึกภาพ "ฮิคิโคโมริ" ว่าต้องอุดอู้อยู่แต่ในห้อง กลัวการพบปะผู้คน แต่เคโตะไม่ใช่แบบนั้นค่ะ เธอไม่เกลียดตัวเอง ไม่เกลียดคนอื่น และไม่ได้เกลียดโลกใบนี้เพราะเธอยังคงแต่งตัวสวยออกไปเดินเล่นนอกบ้านได้เป็นประจำ สิ่งที่เธอกลัวคือ "ความคาดหวัง" ทั้งของตัวเองและจากคนรอบข้าง เธอกลัวที่จะมีคนจำได้ว่าเธอคือดาราเด็กผู้ล้มเหลวเมื่อ 7 ปีก่อน ดังนั้น จึงเลือกที่จะเดินหนีทุกคนและไม่คาดหวังว่าตัวเองจะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากใครแม้แต่จากคนในครอบครัว

คุณแม่ของเคโตะก็อ่อนแอเกินกว่าจะลุกขึ้นมาบีบบังคับลูกสาวให้ไปโรงเรียนจึงทำได้มากที่สุดแค่ทำหน้าที่แม่อย่างเต็มที่ ทำอาหารให้ ไม่ดุด่าว่ากล่าวและพยายามเข้าใจความเป็นฮิคิโคโมริของเคโตะโดยที่ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ตัวเองทำก็คือการวิ่งหนีปัญหาเช่นเดียวกัน น้องสาวของเคโตะเองแสดงท่าทีรังเกียจพี่สาวอย่างชัดเจนและพยายามพูดเสียดสีต่อว่าทุกครั้งที่เจอหน้า ดูเหมือนเธอจะเป็นคนตรงไปตรงมาและไม่หนีปัญหาแต่สุดท้ายเคโตะก็ทราบความจริงว่าน้องสาวก็กำลังประสบปัญหาถูกเพื่อนรีดไถเงินอยู่ ทางออกของน้องสาวจึงมีแต่ขอเงินแม่ไปให้เพื่อนเพื่อรักษาสถานะความเป็นเพื่อนไว้ซึ่งก็เป็นการหนีปัญหาเช่นกัน

ฮิคิโคโมริอย่างเคโตะซึ่งตัดสินใจหันหลังให้กับแรงกดดันภายนอกและสายตาของคนในสังคมดำเนินมาถึงจุดพลิกผันค่ะ ลองเดาได้ไหมคะว่าเราจะช่วยเหลือคนเป็นฮิคิโคโมริอย่างไรดี ผลักดันกึ่งๆ บีบบังคับให้ไปโรงเรียนเพื่อไม่ให้หนีปัญหาต่อไปจนกลายเป็นปัญหาที่เกินเยียวยาหรือเปล่า หรือว่าจะยอมตามใจให้อยู่บ้านเพียงแต่จ้างครูมาสอนที่บ้านเสียแทนเพื่อให้ฮิคิโคโมริไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันภายนอกแต่ในทางกลับกันก็ยังได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมด้วย

Cat Street มีทางออกที่ดีกว่านั้นค่ะ คำตอบของการรักษาฮิคิโคโมริในเรื่องนี้คืออะไร งวดหน้ามาเล่าต่อนะคะ

วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11362 มติชนรายวัน

11 เมษายน 2552

"Jelly Beans" เอกลักษณ์คือความกล้าที่จะแตกต่าง

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สำหรับท่านใดที่เคยผ่านวัยรุ่นมาแล้ว จำช่วงชีวิตหนึ่งที่เรารู้สึกไม่สบายใจหากทำอะไร "ไม่เหมือนเพื่อน" ได้ไหมคะ ในช่วงนั้นถ้าใครฮิตอะไรกันเราต้องทำตามถึงจะน่าภูมิใจ หนังสือแฟชั่นคือไบเบิลของเหล่าวัยรุ่นผู้อินเทรนด์ แต่จะไปว่าเขาไร้สาระไม่ได้นะคะเพราะสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเติบโตขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ก็ได้ สูตรสำเร็จในการเป็นผู้นำทางความคิดของคนอื่นคือ เมื่อเดินตามแรงบันดาลใจเหล่านี้จนอิ่มตัว อยากเห็นผลงานที่ไม่ได้เกิดจากสมองคนอื่นแต่เกิดจากสมองเราเองบ้าง ตรงนั้นล่ะค่ะคือจุดเริ่มต้นของ "เอกลักษณ์" และเป็นตัววัดคุณค่าของเราได้อย่างดีเยี่ยม

Jelly Beans คือการ์ตูนที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกเหมือนมีไฟลุกท่วมตัวและอยากจะลุกขึ้นมาสร้างผลงานที่มี "เอกลักษณ์" ของตัวเองขึ้นมาเหลือเกินค่ะ!

"มาเมะโกะ" สาวน้อยวัย 14 ปี เรียนอยู่ในโรงเรียนต่างจังหวัดไกลปืนเที่ยงที่ไม่มีโอกาสได้เดินกระทบไหล่เหล่าผู้คนที่แต่งตัวกันเปรี้ยวจี๊ดจ๊าดเหมือนคนเมืองค่ะ เธอชอบเสื้อผ้าสวยๆ และใฝ่ฝันอยากเป็นนางแบบ แต่ความจำกัดเรื่องเงินทองและอุปกรณ์ทำให้เธอไม่สามารถซื้อเสื้อสวยๆ แพงๆ มาใส่ได้ ดังนั้น มาเมะโกะจึงพยายามเรียนรู้การตัดชุดด้วยตัวเองเพื่อให้เสื้อผ้าแสนธรรมดาที่มีอยู่กลายเป็นเสื้อผ้าทันสมัยแห่งบ้านทุ่งขึ้นมา ความผิดหวังครั้งแรกของมาเมะโกะคือ เมื่อเพื่อนสนิทของเธอกลายเป็นนางแบบและทิ้งห่างเธอไปไกล สิ่งเดียวที่มาเมะโกะทำได้เมื่อหันกลับมามองตัวเองและรู้ตัวว่าการเป็นนางแบบคือความฝันที่ไกลเกินไป คือเธอหันไปตัดชุดให้เหล่านางแบบเสียแทนก็ได้นี่นา

ก้าวแรกที่มาเมะโกะเดินเพื่อทำให้ความฝันเป็นจริงคือ สอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายซึ่งเป็นแหล่งรวมของเหล่าหนุ่มสาวที่รักแฟชั่น เธอไม่เลือกฝันว่าเรียนจบแล้วจะได้ทำงานหาเงินเพื่อไปซื้อเสื้อผ้าสวยๆ แต่เธอเลือกที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนตัวเองเป็นคนสร้างเสื้อผ้าสวยๆ ให้คนอื่นได้ใส่กันเสียแทน

ตรงนี้อ่านแล้วน่าสนใจค่ะ Jelly Beans ไม่ได้นำเสนอค่านิยมการ "บ้าของแบรนด์เนม" เลยแม้แต่นิดเดียวเพราะทราบดีว่าแม้ของแบรนด์เนมเหล่านั้นจะมีคุณค่าแต่ก็เทียบไม่ได้กับผลงานที่คิดและตัดออกมาด้วยตนเอง การซื้อของแบรนด์เนมที่ออกแบบอย่างพิถีพิถันส่วนหนึ่งก็คือ การซื้อประสบการณ์และฝีมือของดีไซเนอร์ เช่นเดียวกับการสวมเสื้อที่ตัดเองกับมือย่อมหมายถึงเราให้เกียรติประสบการณ์และฝีมือของตัวเอง การสร้างค่านิยมให้เด็กเหล่านี้ชื่นชมในพลังแห่ง "เอกลักษณ์" คือจุดสำคัญของเรื่องนี้นะคะ ดังนั้น ของก๊อบปี้แบรนด์ทั้งหลายนอกจากจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว ยังเป็นการย่ำยีคุณค่าของเหล่าดีไซเนอร์ที่สร้างผลงานอย่างยากลำบากด้วยค่ะ

สังคมที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับแฟชั่นที่ลอกคนอื่นมาจะไม่สามารถสร้างผลงานที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ได้เลยนะคะ

และตามธรรมเนียมของการ์ตูนแนวแฟชั่น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าลายเส้นสวยๆ เป็นออปชั่นบังคับสำหรับการ์ตูนแฟชั่นค่ะ อาจารย์โมโยโกะ อันโนะ ผู้เขียนเรื่องนี้วาดด้วยลายเส้น (ในขณะนั้น) อยู่ในเกณฑ์ "ไม่สวย" เลยค่ะ ขออภัยแฟนๆ ของอาจารย์อันโนะที่ต้องพูดตรงๆ นะคะ แต่ทั้งที่ไม่สวย เชื่อไหมคะว่าตอนอ่านต้องคอยสังเกตแฟชั่นในเรื่องว่าเหล่าหนุ่มสาวในการ์ตูนแต่งตัวกันอย่างไรบ้าง กระทั่งหน้าตาที่วาดเบี้ยวๆ ขอไปทีกลับซ่อนเทคนิคการแต่งหน้าที่เข้ากับแฟชั่นไว้ภายใต้ลายเส้นยุ่งๆ ค่ะ! มันเก๋มาก! แม้ศัพท์จะโบราณไปหน่อยแต่อยากสื่อให้เข้าใจค่ะว่าการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ควรมาวิจารณ์เรื่องลายเส้นเพราะ "เอกลักษณ์" อยู่ที่เนื้อเรื่องซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าวัยรุ่นผู้รักแฟชั่นได้อย่างล้นหลาม อาจารย์อันโนะได้แสดงให้เห็นด้วยตัวเธอเองแล้วว่าการ์ตูนแฟชั่นไม่จำเป็นต้องเดินตามธรรมเนียมวาดสวยลายเส้นเทพเหมือนที่ใครๆ ว่าไว้ เธอกล้าที่จะแตกต่างและงานของเธอก็กลายเป็นงานที่มีเอกลักษณ์และน่าจดจำค่ะ

Jelly Beans คือการ์ตูนที่ดีกว่าที่คาดไว้มากนะคะ อาจจะไม่ได้ดีถึงขนาดที่ต้องกล่าวขานไปชั่วลูกชั่วหลาน แต่ก็โดดเด่นพอที่จะทำให้ลืมไม่ลงจากความแหวกแนวนี่ล่ะค่ะ

วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11355 มติชนรายวัน

07 เมษายน 2552

Winter Sonata the Animation

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ที่ผ่านมาเราเคยเห็นการ์ตูนญี่ปุ่นถูกนำมาสร้างเป็นละครและภาพยนตร์จนถือเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วค่ะ หนึ่งในเรื่องที่สร้างความมหัศจรรย์แก่วงการการ์ตูนและละครคือหนังสือการ์ตูนเรื่อง Hana Yori Dango สาวแกร่งแรงเกินร้อยหรือรักใสหัวใจเกินร้อยซึ่งกลายเป็นละครทั้งญี่ปุ่น, ไต้หวัน, และเกาหลี นอกจากนั้นยังมีเวอร์ชั่นภาพยนตร์ซึ่งก็ฮิตติดลมบนเช่นกัน ในเมื่อการ์ตูนของญี่ปุ่นพิสูจน์ตัวเองไปแล้วว่าเป็นผู้นำของสื่อบันเทิงฟากเอเชียตะวันออก อีกขั้วอำนาจหนึ่งซึ่งเติบโตเป็นดอกเห็ดตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ก็เริ่มเลื่อยขาเก้าอี้อย่างเงียบๆ ขั้วนั้นคือละครเกาหลีนั่นเองค่ะ

หลังจากที่ The Legend (Tae Wan Sa Shin Gi ตำนานจอมกษัตริย์เทพสวรรค์) ละครเกาหลีฟอร์มยักษ์ข้ามฟากไปเป็นหนังสือการ์ตูนในญี่ปุ่นมาแล้ว มาวันนี้ละครอีกเรื่องซึ่งถึงเป็นคลื่นลูกแรกสุดของกระแสเกาหลีฟีเวอร์ได้ถูกนำไปสร้างเป็นแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) ของญี่ปุ่นจนได้! ญี่ปุ่นปล่อยแอนิเมชั่นออกมาให้คนคลั่งไคล้กันทั่วโลกหลายทศวรรษ งวดนี้ถึงคราวของที่ปล่อยกลับมาเข้าตัวแล้วค่ะเพราะต้องไปซื้อลิขสิทธิ์จากประเทศอื่นเอามาสร้างเป็นแอนิเมชั่นบ้างแล้ว แถมยังเป็นลิขสิทธิ์ของรุ่นน้องอย่างเกาหลีซึ่งญี่ปุ่นเคยถือว่าตนเองเป็นรุ่นพี่ในวงการสื่อบันเทิงมาก่อนเสียด้วย ของแรงที่ว่าก็คือ Winter Sonata หรือ Winter Love Song ละครโทรทัศน์ที่ถล่มยอดผู้ชมในเกาหลีเมื่อปี 2002 และทำให้คนไทยรู้จักประเทศเกาหลีมากขึ้นกว่าที่เคย น่าสังเกตว่าละครทั้งสองเรื่องที่กลายเป็นการ์ตูนในญี่ปุ่นแสดงนำโดย "แบยองจุน" พระเอกมาดนุ่มของเกาหลีค่ะ

โปรเจ็คต์แอนิเมชั่น Winter Sonata มีข่าวออกมาตั้งแต่ปลายปี 2007 ว่าทางผู้สร้างละครในเกาหลีตัดสินใจเซ็นสัญญาร่วมกับบริษัทสร้างแอนิเมชั่นในญี่ปุ่นโดยจะร่วมทุนและร่วมผลิตแอนิเมชั่นเรื่อง Winter Sonata ซึ่งหลังจากฉายในเกาหลีปี 2002 และในญี่ปุ่นปี 2004 แบยองจุนพระเอกของซีรีย์นี้ก็ได้กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ขวัญใจแม่ยกชาวญี่ปุ่นไปทันที และจากการฉายในไทยสองรอบก็ทำให้สาวไทยหลายคนใจละลายด้วยเช่นกัน ความสำเร็จของ Winter Sonata ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ญี่ปุ่นและหลายประเทศฝั่งเอเชียตะวันออกนำเข้าละครเกาหลี (ทั้งที่เดิมไม่ใช่ธุรกิจส่งออกแม้แต่น้อย) และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้น Korean Wave หรือเกาหลีฟีเวอร์นั่นเอง

อีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันความสำเร็จในวงการการ์ตูนของ Winter Sonata คือละครเรื่องนี้ได้นำมาดัดแปลงเป็นหนังสือการ์ตูนเกาหลี (ปัจจุบันเรียกทับศัพท์ว่า manhwa เช่นเดียวกับที่เรียกหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นทับศัพท์ว่า manga) แถมญี่ปุ่นก็นำเข้าการ์ตูนเรื่องนี้ด้วยค่ะ! ดังนั้น มั่นใจได้ว่าสร้างเป็นแอนิเมชั่นก็ต้องมีคนดูชัวร์ แต่แม้จะได้รับความนิยมล้นหลามขนาดนี้ก็ยังมีข้อสงสัยว่าอะไรคือกุญแจสำคัญของความสำเร็จกันแน่ ระหว่างละครเองหรือแบยองจุน (หรือทั้งคู่) ดังนั้น เพื่อกันเหนียว ทาง Total Promotion ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นทีมผู้สร้าง Winter Sonata the Animation จึงเซ็นสัญญากับทั้งผู้กำกับละครและผู้ประพันธ์รวมถึงขออนุญาตใช้บุคลิกและหน้าตาของพระเอกในแอนิเมชั่นแบบเดียวกับแบยองจุนด้วย แม้จะขลุกขลักในช่วงแรกแต่ก็ได้รับอนุญาตในที่สุด แถมยังได้ทุนร่วมสร้างมาจากค่าย Key East ของเกาหลีด้วยค่ะ เนื่องจากแบยองจุนเองถือหุ้น Key East อยู่กว่าหนึ่งในสาม ดังนั้น งานนี้ไม่ใช่ได้แต่กล่อง แต่พระเอกมาดนุ่มคงได้ทรัพย์มาเพียบเช่นกัน โปรเจ็คต์ช้างครั้งนี้คาดหวังให้แบยองจุนกลายเป็นสัญลักษณ์ซุปเปอร์สตาร์ของเกาหลีและขยายฐานแฟนๆ เพิ่มเติมจากแฟนละครในเอเชียไปสู่นักชมแอนิเมชั่นทั่วโลกด้วย

ในงาน Tokyo International Anime Fair (TAF) 2008 ช่วงต้นปีที่แล้วมีการประกาศการสร้าง Winter Sonata the Animation อย่างเป็นทางการในชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า Fuyu no Sonata โดยจะฉายในซีซั่นฤดูใบไม้ผลิของปี 2009 ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นซีซั่นที่กำลังจะถึงนี้แล้ว ส่วนทางเกาหลีไม่แน่ใจว่าฉายเมื่อไร แบยองจุนและชอยจีวูคู่พระนางจากละครก็รับพากย์เป็นตัวเอกในแอนิเมชั่นด้วยเช่นกัน ใครเป็นแฟนละครเรื่องนี้ติดตามได้จาก http://anime-wintersonata.com/ นะคะ มี Trailer หรือภาพยนตร์ตัวอย่างให้ชมด้วย วาดแบยองจุนออกมาหล่อไม่แพ้ตัวจริงเลยค่ะ

ก้าวเล็กๆ ที่น่าตื่นเต้นนี้ทำให้คาดเดาผลลัพธ์ได้หลายแบบเลยค่ะ อย่างแรกคือแฟนละครเกาหลีและแฟนของแบยองจุนจะได้สัมผัสการนำเสนอผ่านสื่อแบบใหม่คือแอนิเมชั่น ในระหว่างที่แฟนการ์ตูนอาจจะอยากลองย้อนไปดูต้นฉบับละครเกาหลีและติดใจจนกลายเป็นแฟนละครเกาหลีไปด้วยก็ได้ เป็นวิธีขยายตลาดที่ฉลาดที่สุดในวงการสื่อบันเทิงขณะนี้แล้วค่ะ

พูดแล้วก็ชักอยากดูละคร Winter Sonata เสียแล้วสิ โปรเจ็คต์ขยายฐานการตลาดครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปอีกนิดแล้วค่ะเพราะแฟนการ์ตูนตรงนี้คนหนึ่งกำลังจะหันไปเริ่มดูละครเกาหลีแล้ว

วันที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11348 มติชนรายวัน