27 มิถุนายน 2552

ศิลปะแบบ Superflat กับวัฒนธรรมโอตาคุ (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ที่แล้วเล่าค้างถึงคำว่า Otaku (โอตาคุ) ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนซึ่งบริโภควัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูน, แอนิเมชั่น, และบรรดาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูน ไม่ใช่แค่ซื้ออ่านแล้วผ่านไปนะคะ โอตาคุต้องชอบมากถึงขนาดเป็นเจ้าของสินค้าเหล่านี้ด้วย (ไม่ใช่แค่เช่าการ์ตูนอ่านแก้เครียดอย่างเดียว) และอาจมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่สามารถคุยเรื่องเกี่ยวกับการ์ตูนได้ ของสะสมส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนล้วนๆ ค่ะ

ดูแล้วกลุ่มคนเหล่านี้น่าจะน่ารักและเต็มไปด้วยจินตนาการ แต่วงการโอตาคุก็ถูกสาดโคลนจนมัวหมองเมื่อฆาตกรต่อเนื่อง "มิยาซากิ สึโตมุ" ถูกจับในปี 1989 เขาข่มขืนเด็ก 4 คน และกินชิ้นส่วนของศพด้วย เมื่อตำรวจค้นบ้านปรากฏว่าเจอหนังสือการ์ตูนและวิดีโอเทปที่เขาบันทึกภาพเหยื่อกองสุมอยู่ถึงเพดาน! นั่นคือจุดเปลี่ยนที่คนในสังคมญี่ปุ่นตั้งแต่นักการเมือง นักข่าว หรือแม้แต่คนทั่วไปคิดว่า "โอตาคุ" คือกลุ่มคนอันตราย ความที่บุคลิกของโอตาคุเองมักเป็นคนเก็บตัว พูดน้อย ใช้เวลาอยู่กับจินตนาการและการ์ตูนมากกว่าออกไปพบปะผู้คนและไม่ค่อยมีทักษะในการคุยกับคนมากนักเมื่อเทียบกับทักษะการเขียน (เพราะมักติดต่อเพื่อนผ่านอินเตอร์เน็ตมากกว่าเจอตัวเป็นๆ) จึงยิ่งตอกย้ำให้คนทั่วไปคิดว่าโอตาคุคือ "คนผิดปกติ" ที่หมกมุ่นอยู่แต่โลกของจินตนาการเรื่องเพศและความรุนแรง

โดยสรุปคือคนคิดว่าในเมื่อฆาตกรที่อาจจะป่วยเป็นโรคจิตคนหนึ่งเป็นโอตาคุ ดังนั้น โอตาคุทุกคนมีโอกาสเป็นโรคจิตและเป็นฆาตกรได้ซึ่งตรรกะนี้ไม่ถูกต้องนะคะ เหล่าโอตาคุซึ่งทำตัวแตกต่างจากคนทั่วไปถูกกีดกันออกจากสังคมและตราหน้าว่าเป็นคนผิดปกติอย่างง่ายดายจากการเหมารวมนี้ อย่างไรก็ตาม โอตาคุระดับ High function หรือคนที่มีวุฒิภาวะสูงก็ไม่ได้อยากออกมาตีโพยตีพายว่าตัวเองเป็นคนปกติ เพราะคนกลุ่มนี้พอใจกับการคบเพื่อนที่รู้ใจกันเพียงไม่กี่คนและอยู่ในสังคมที่ทุกคนรักชอบสิ่งเดียวกันอย่างจริงใจมากกว่า ดังนั้น ภาพพจน์ทางลบของโอตาคุจึงไม่ได้รับการแก้ไขมาจนถึงปัจจุบันนี้และคงหมดหนทางจะแก้เสียแล้วค่ะ

"มุราคามิ ทาคาชิ" ศิลปินที่ประสบความสำเร็จในอเมริกาและผู้นิยามศิลปะแนว Superflat เป็นคนแรกก็ถูกมองว่าเป็น "โอตาคุ" เช่นกัน สารภาพว่าเห็นงานของเขาชื่อ "My Lonesome Cowboy" ซึ่งเหมือนฟิกเกอร์การ์ตูนสูงเท่าคนจริงกำลังควงบ่วงบาศสีขาวที่เกิดจาก...แฮ่ม...หาภาพเต็มๆ ในอินเตอร์เน็ตแล้วกันนะคะเพราะหวาดเสียวค่ะ ดูแล้วก็คิดว่ายังไงมุราคามิเป็นโอตาคุแน่นอนเพราะผลงานของเขาเปล่งประกายจิตวิญญาณของคนชอบแอนิเมชั่นออกมาแรงกล้าขนาดนั้น แต่มุราคามิกลับประกาศว่าเขาไม่ใช่โอตาคุ (เขาเป็นอาร์ตติสต่างหาก) งานนี้เลยทำให้เหล่าโอตาคุรุ่นเก๋าซึ่งปัจจุบันเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ทรงอิทธิพลในญี่ปุ่นออกมาประณามกันใหญ่ค่ะ ทำนองว่างานของเขารับอิทธิพลจากวัฒนธรรมการ์ตูนไปเต็มๆ ขนาดนั้นแถมเอาแรงบันดาลใจจากการ์ตูนไปหากินอย่างงี้ยังมาบอกว่าตัวเองไม่ใช่โอตาคุอีกนะ

เรื่องหลังจากนั้นเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบค่ะ แต่ที่แน่ๆ งานปั้น My Lonesome Cowboy เหมือนฟิกเกอร์การ์ตูนขนาดเท่าคนจริงซึ่งคาดว่าจะมีคนประมูลไปด้วยราคา 3-4 ล้านดอลลาร์กลับขายไปในราคา 15.1 ล้านดอลลาร์ค่ะ! โอย...จะเป็นลม แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นผลงานที่ติดตามากๆ เลยค่ะ มันทั้งน่ารัก ทั้งดาร์ค ทั้งก้าวร้าวและมีสาระในความไม่มีสาระของชิ้นงานจริงๆ

อย่างไรก็ตาม คนซื้อไปน่าจะได้กำไรมากกว่านี้อีกหลายเท่าเพราะกระเป๋าแฟชั่นของฝรั่งเศสที่เราคุ้นเคยกันดี "Louis Vuitton" ให้มุราคามิออกแบบคอลเลคชั่น Multicolor สีสันแสบทรวงที่มองแวบแรกนึกว่าใครเอาสติ๊กเกอร์ลายการ์ตูนมาติดบนกระเป๋าหลุยส์ นั่นล่ะค่ะ Superflat! คือมองแล้วรู้สึกว่า "เหมือนการ์ตูน" นั่นเอง

งวดหน้าต่ออีกนิดเรื่องศิลปินที่โด่งดังจากความเป็นโอตาคุแม้จะบอกว่าตัวเองไม่ใช่โอตาคุคนนี้อีกหน่อยค่ะ


วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11432 มติชนรายวัน

20 มิถุนายน 2552

ศิลปะแบบ Superflat กับวัฒนธรรมโอตาคุ (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากสัปดาห์ก่อนได้ชม Paprika แอนิเมชั่นไซไฟของผู้กำกับฯคอน ซาโตชิไปแล้วและรู้สึกประทับใจในงานภาพสองมิติกับสามมิติเนียนๆ มาก ตอนนั้นเลยเริ่มสังเกตค่ะว่างานภาพ 3D (สามมิติ) ในการ์ตูนญี่ปุ่นมีความแตกต่าง 3D ตะวันตกอยู่นิดหน่อย ถ้าท่านใดเคยชมการ์ตูนสามมิติของ Pixar คงนึกออกว่าการ์ตูน 3D ของเขามีความนูนเว้าและมีแสงเงาเหมือนเป็นวัตถุจริงๆ แต่งานแอนิเมชัน 3D ของญี่ปุ่นไม่นูนค่ะ! เห็นได้ชัดว่า 3D ของสองซีกโลกมีประวัติความเป็นมาต่างกัน โดยของญี่ปุ่นกำเนิดจากหนังสือการ์ตูนซึ่งต้องการเปลี่ยนลายเส้นการ์ตูนให้ดูเป็นวัตถุจริง ส่วน 3D ตะวันตกกำเนิดจากการเปลี่ยนวัตถุจริงให้ดูเป็นการ์ตูน (แต่ไม่ใช่ลายเส้น) ค่ะ เรียกว่าเป็นพัฒนาการที่สวนทางอย่างสิ้นเชิง

ไม่มีใครให้คำนิยามได้ว่าผลงาน 3D ที่เหมือนจริงมากกว่าการ์ตูนและเหมือนการ์ตูนมากกว่าของจริงเช่นนี้เรียกว่าอะไรกันแน่ ในที่สุดเมื่อ 8 ปีก่อน "มุราคามิ ทาคาชิ" ศิลปินแนวโพสต์โมเดิร์นของญี่ปุ่นจึงนิยามผลงานศิลปะที่ "ดูเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น" ว่า "Superflat" ค่ะ ต้องเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นด้วยนะคะ เหมือนวอลต์ดิสนีย์ไม่ได้ค่ะ

หาข้อมูลอยู่นานก็ไปเจอเล็คเชอร์เรื่อง "Superflat กับวัฒนธรรม โอตาคุ" ซึ่งนำเสนอในปี 2001 ที่ MOCA Gallery ฮอลลีวู้ดเข้าพอดีค่ะ ก่อนจะไปถึง Superflat ต้องอธิบายคำว่า Otaku ซักนิดเนื่องจากครั้งแรกที่ผลงานของมุราคามิออกสู่สายตาชาวญี่ปุ่นและชาวโลก คำถามแรกที่เขาได้รับคือ "เขาเป็นโอตาคุใช่ไหม" เนื่องจากผลงานของเขาไม่ว่าจะดูอย่างไรก็ได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนแลแอนิเมชั่นล้านเปอร์เซ็นต์ค่ะ

"โอตาคุ" เป็นคำเรียกคนญี่ปุ่นซึ่งชื่นชอบการ์ตูนอย่างมากในเชิงเหยียดหยามนิดๆ หากเป็นเมืองไทยคงเข้าได้กับการเป็น "แฟนพันธุ์แท้" เพียงแต่คำว่าโอตาคุมีความหมายในแง่ลบมากกว่า น่าสังเกตว่าแม้คนญี่ปุ่นจะรังเกียจคำนี้กระทั่งคนเป็นโอตาคุเองยังไม่ชอบให้คนพูดใส่หน้าว่าเป็นโอตาคุ แต่เหล่าคนรักการ์ตูนในประเทศอื่นกลับยืดอกและเรียกตัวเองว่าโอตาคุอย่างภาคภูมิใจ อาจเป็นเพราะคนชาติอื่นนิยมชมชอบการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างจริงใจในระหว่างที่คนญี่ปุ่นเองกลับมีความหลังแสนเจ็บช้ำกับโอตาคุจนกลัวคำนี้ขึ้นสมอง

มาดูประวัติเขาหน่อยนะคะ "โอตาคุ" เป็นศัพท์บัญญัติที่เกิดขึ้นช่วงทศวรรษที่ 70 ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าเป็นยุคทองของการ์ตูน เด็กวัยที่ดูการ์ตูนในยุคนั้นเติบโตขึ้นกลายเป็นศิลปินที่ทรงอิทธิพลในญี่ปุ่นปัจจุบันมากมาย โอตาคุในยุคนั้นคือวัยรุ่นที่บริโภควัฒนธรรมบันเทิงและศิลปะซึ่งวนเวียนอยู่ในกลุ่มการ์ตูน, แอนิเมชั่น, โมเดลตัวการ์ตูน และใช้ชีวิตในสังคมออนไลน์เสียส่วนใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับวัยรุ่นทั่วไปซึ่งอาจจะชอบแฟชั่น พบปะพูดคุยกับเพื่อน หรือเล่นกีฬา

ทีแรกทุกคนคิดว่าโอตาคุเป็นแค่วัฒนธรรมย่อยๆ ตามสมัยนิยมเท่านั้นเอง แต่เพราะของแรงหรืออย่างไรก็ไม่ทราบค่ะ วัฒนธรรมโอตาคุเกิดขยายวงออกไปทั้งในและนอกญี่ปุ่นดังที่เราเห็นการ์ตูนญี่ปุ่นวางขายอยู่ทั่วโลก ในญี่ปุ่นเองก็เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโอตาคุขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านการ์ตูน ร้านโมเดล เกิดบริษัทผลิตแอนิเมชั่นหรือกระทั่งสำนักพิมพ์ที่พิมพ์แต่การ์ตูนอย่างเดียวขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ยืนยันว่าตลาดของเหล่าโอตาคุกว้างไกลเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้มากนัก ผลิตภัณฑ์สำหรับจำหน่ายให้เหล่าโอตาคุกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งออกและทำรายได้มหาศาลให้ญี่ปุ่นรวมถึงสนับสนุนสินค้าทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ตามมาเป็นพรวน เช่น เมื่อเห็นตัวการ์ตูนกินราเมงญี่ปุ่นเราก็อยากไปกินราเมงบ้าง ถ้าเห็นร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่ติดกับอาหารอิตาลี เราอาจจะเลือกกินอาหารญี่ปุ่นมากกว่าเพราะอย่างน้อยก็รู้ว่าอาหารชนิดไหนเรียกว่าอะไรจากที่เคยเห็นมาก่อนในการ์ตูน

แต่แล้วฝันร้ายของโอตาคุก็เกิดขึ้นในปี 1989 ค่ะ จะเป็นเรื่องใดนั้น และจะลากไปถึง Superflat ได้หรือเปล่า ครั้งหน้ามาต่อนะคะ

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11425 มติชนรายวัน

13 มิถุนายน 2552

Paprika บางทีความฝันก็ต้องเผ็ดบ้าง

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ในเดือนพฤษภาคม 2009 นี้มีนวนิยายไซไฟดัดแปลงจากภาษาญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งวางจำหน่ายในอังกฤษค่ะ ชื่อเรื่องน่าแสบลิ้นว่า "Paprika" ซึ่งฉบับนวนิยายดั้งเดิมได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นสำหรับฉายโรง (Theatrical Anime) ในปี 2006 ที่ผ่านมา ถึงขนาดฝรั่งเอามาแปลแบบนี้ต้องมีดีแน่นอนค่ะ ตามประสาคนที่มักจะรู้จักของดีช้ากว่าชาวบ้านเสมอก็เลยต้องหามาดูเสียหน่อยว่าจะแจ่มแค่ไหน

Paprika เริ่มเรื่องจากนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของการทำจิตบำบัดโดยผู้ป่วยไม่ต้องพูดคุยกับนักจิตบำบัดเพื่อค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใต้สำนึกอีกแล้ว จิตใต้สำนึกสามารถถ่ายทอดออกมาผ่านทางจอคอมพิวเตอร์ในรูปของความฝันด้วยเครื่องมือชื่อว่า DC Mini ดังนั้น นักจิตบำบัดจึงมองเห็นความฝันของผู้ป่วยเหมือนกำลังดูโทรทัศน์ แล้วจึงค่อยนำภาพต่างๆ ที่ปรากฏในความฝันมาตีความอีกครั้งหนึ่ง

"ดร.ชิบะ เอ็ตสึโกะ" นักจิตบำบัดสาวที่ดูเป็นนักวิชาการจืดชืดเข้าร่วมทดลองใช้ DC Mini เพื่อรักษาผู้ป่วยด้วยเช่นกัน แต่เมื่อเธอเข้าไปในความฝันของผู้ป่วย เธอจะเปลี่ยนตัวตนเป็นอีกคนหนึ่งและใช้ชื่อว่า "ปาปริก้า" ซึ่งมีทุกสิ่งตรงข้ามกับเธอทั้งหมด ทั้งทรงผม เสื้อผ้า การแต่งหน้า หรือแม้แต่อุปนิสัย เหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นเมื่อหัวหน้าของเอ็ตสึโกะมีอาการเหมือนตกอยู่ในความฝันและกระโดดลงมาจากตึก เธอใช้ DC mini เข้าไปดูความฝันของหัวหน้าที่รอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์และพบว่าเขากำลังฝันถึงขบวนพาเหรดที่เต็มไปด้วยตุ๊กตา แต่ความฝันนี้กลับเป็นฝันของเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่หัวหน้าเข้าไปอยู่ในความฝันของคนอื่นแต่ความฝันของคนอื่นกำลังควบคุมเขาอยู่ค่ะ

เมื่อพบผลข้างเคียงของ DC mini เช่นนี้ เอ็ตสึโกะจึงต้องการหยุดโครงการให้เร็วที่สุด แต่เธอกลับถูกดูดเข้าไปในความฝันที่ไร้จุดสิ้นสุดของใครบางคนเสียแทน ทางออกของความฝันอยู่ตอนจบเรื่องค่ะ ปมทุกอย่างคลายลงโดยมีแกนอยู่ที่ความฝันซึ่งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าของแต่ละคนซ่อนอยู่ภายในจิตใต้สำนึก เอ็ตสึโกะซึ่งปฏิเสธตัวตนของปาปริก้าเข้าใจในท้ายที่สุดว่าชีวิตจืดชืดของเธอจำเป็นต้องมีความเผ็ดร้อนของปาปริก้ามาเติมเต็มให้สมบูรณ์ และรสเผ็ดที่ชีวิตเธอขาดหายไปก็คือความรักนั่นเอง ทุกอย่างจบสมบูรณ์เหมือนนวนิยายขนาดสั้นหนึ่งเล่มที่เมื่อปิดหน้าสุดท้าย สิ่งที่จะเหลือไว้กับเราก็มีแค่ความตื่นเต้นหวาดเสียวและความรู้สึกดีๆ ที่ได้ชมผลงานชั้นเยี่ยมค่ะ

Paprika ได้รับรางวัลภาพยนตร์แอนิเมชั่นฉายโรงยอดเยี่ยมในงานโตเกียวอินเตอร์เนชั่นแนลอนิเมแฟร์ ปี 2007 และได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ว่านี่คือภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่โดดเด่นนับจากเรื่อง Spirited Away ที่ฉายก่อนหน้านี้ 5 ปี และได้รับรางวัลออสการ์

ความสำเร็จของเรื่องนี้น่าจะมาจากหลายปัจจัยค่ะ คนแรกที่ต้องยกความดีให้คือผู้ประพันธ์ดั้งเดิม สึสึอิ ยาสุทากะ ซึ่งตีพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้ในปี 1993 และผู้กำกับคอน ซาโตชิ นำมาดัดแปลงเป็นแอนิเมชั่นใน 13 ปีต่อมา การนำเสนอความฝันที่ซ้อนทับกันไปมาและวนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นหลายครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำให้ผู้ชมดูอย่างสนุกโดยไม่หลงทางกลางเรื่องเสียก่อน ยกนิ้วให้ผู้กำกับจริงๆ ค่ะ งานภาพทั้งสองมิติและสามมิติที่สวยเนียนต้องยกความดีให้ Madhouse Studios และที่ลืมไม่ได้เลยคือเพลงประกอบของฮิราซาวะ สุสุมุ ที่ผสมเพลงมาร์ชของขบวนพาเหรดกับการร้องเสียงโหยหวนแบบ celtic แนวลูกทุ่งญี่ปุ่นได้ลงตัวค่ะ ฟังแล้วหัวใจเหมือนจะเต้นตามจังหวะเพลงไปด้วยเลย

รู้สึกว่า Paprika จะมีจำหน่ายเป็น DVD ลิขสิทธิ์ในไทยพากย์ไทยด้วยนะคะ แต่เวอร์ชั่นที่ได้ดูเป็นเสียงญี่ปุ่นซับไตเติ้ลอังกฤษ ขนาดอ่านแทบไม่ทันยังสนุกจนอยากซื้อนิยายมาอ่านเลยค่ะ นิยายเล่มละ 9.99 ปอนด์ ในระหว่างที่ DVD 12.99 ปอนด์ (ประมาณ 675 บาท) โอ้...

มันก็ต้องซื้อ DVD สิคะ! แต่กลับไปซื้อในไทยดีกว่าค่ะ ถูกและดีมีพากย์ไทยอย่างนี้ ที่ไหนจะแจ่มไปกว่าเมืองไทยบ้านเรา

วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11418 มติชนรายวัน

06 มิถุนายน 2552

Bara no Tame ni ครอบครัวกุหลาบ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนไปเดินเล่นที่ Piccadilly Circus ที่ลอนดอน ซึ่งมีร้านหนังสือญี่ปุ่นมือสองตั้งอยู่ไม่ห่างไปมากนัก แล้วก็ได้เจอการ์ตูนซึ่งทำให้หัวใจเต้นระรัวและคิดว่าวันนี้เป็นวันที่เราโชคดีจริงๆ การ์ตูนเรื่องนั้นคือ "Bara no Tame ni" หรือแปลตามตัวว่า "For the Roses " โดย อ.โยชิมุระ อาเคมิ หนึ่งในนักเขียนในดวงใจค่ะ จำได้ว่าเคยอ่านในไทยซักสิบปีมาแล้ว ตอนนั้นแปลแบบไม่มีลิขสิทธิ์ออกมาหนึ่ง เล่มใหญ่ซึ่งเท่ากับ 2 เล่มของญี่ปุ่น แล้วก็หายไปตลอดกาล ปัญหาคือไม่รู้ชื่อภาษาญี่ปุ่นของการ์ตูนเรื่องนี้ ก็เลยได้แต่เก็บไว้ในใจมาตลอดสิบปี จนได้เจอที่ร้านกลางลอนดอนอีกครั้ง! โอ้...มหัศจรรย์ค่ะ

"Bara no Tame ni" เป็นการ์ตูนผู้หญิงแนวดราม่าเล่าเรื่องของ "ยูริ" หญิงสาววัยสิบแปดที่ตุ้ยนุ้ยแก้มกลมและตัวเตี้ย เธอมองว่าตัวเองเป็นคนไม่สวยและคิดว่าผู้หญิงคนอื่นเกิดมาโชคดีกว่าเธอมากนัก จู่ๆ ยูริก็มีโชคร้ายหล่นทับพร้อมๆ กันหลายเรื่อง เรื่องแรกคือ แฟนหนุ่มบอกเลิกกับเธอ ต่อมาคุณย่าที่เลี้ยงเธอมาตั้งแต่เด็กหลังคุณพ่อเสียชีวิตก็มาด่วนจากไปกะทันหัน ทำให้เธอต้องย้ายออกจากบ้านพักพนักงานที่คุณย่าอาศัยอยู่ เมื่อไม่มีทั้งเงินและที่พัก ยูริจึงหมดสิ้นหนทาง แต่โชคดีที่คุณย่าทิ้งพินัยกรรม ซึ่งมีข้อความน่าตกใจว่า ผู้หญิงที่ไม่สวยอย่างเธอ แท้จริงแล้วเป็นลูกสาวของดาราดาวค้างฟ้าของญี่ปุ่น!

ยูริตัดสินใจเดินทางไปยังบ้านของคุณแม่ที่ไม่เคยเจอกันมาก่อนในชีวิตค่ะ ท่ามกลางอากาศหนาวและหิมะหนาของซัปโปโร ยูริได้พบกับพี่น้องคนละพ่ออีกสามคน ได้แก่ ฟุโยะพี่สาวสุดขี้เกียจที่ไม่ยอมทำอะไรเองเลยแม้แต่ชงชา สุมิเระพี่ชายลูกครึ่งอเมริกันตาสีฟ้านิสัยเถื่อน แต่มักจะใจดีเมื่อเมา และน้องเล็กอาโออิที่เป็นชายหนุ่มผมยาวและหน้าสวยกว่าผู้หญิง แน่นอนว่าสวยกว่ายูริจนทำให้เธอรู้สึกอายที่เกิดมาเป็นผู้หญิงเสียเปล่ากลับสวยสู้ผู้ชายไม่ได้ และสุดท้ายคือคุณแม่ดาราใหญ่ ซึ่งลูกทุกคนไม่รักเธอ เพราะนอกจากคลอดพวกเขาออกมาแล้ว เธอก็ไม่เคยเลี้ยงดูในฐานะแม่เลยจนกระทั่งปัจจุบัน

สิ่งที่ยูริรู้สึกเกี่ยวกับครอบครัวใหม่ของเธอคือ ทุกคนสวยงามแต่ก็ร้ายกาจเหมือนดอกกุหลาบ แต่ละคนวิจารณ์ต่อว่าคนอื่นตรงๆ อย่างไม่เกรงใจ แม้จะรูปร่างภายนอกสวยงาม แต่ถ้าเข้าไปใกล้ก็จะต้องโดนหนามกุหลาบเกี่ยวจนเลือดซิบ ยูรินึกเสียใจที่เดินทางมาค่ะ แต่คุณแม่บ้านที่ทำงานมานานกลับบอกว่านั่นคือข้อดีของกุหลาบไม่ใช่เหรอ

"อย่างน้อยก็มีหนามเห็นเด่นชัดให้คนอื่นระมัดระวังตัวตอนสัมผัส"

ยูริเข้าใจความหมายนี้ในอีกไม่นานค่ะ แม้ทุกคนในบ้านจะปากร้ายแต่ก็พูดทุกอย่างที่อยู่ในใจออกมาตรงๆ เวลาทำผิดก็ขอโทษตรงๆ ไม่มีการนินทาหรือแทงข้างหลังให้ต้องช้ำใจเหมือนพวกดอกไม้มีพิษที่ดูเหมือนไม่อันตรายแต่ที่จริงแสบกว่า

"Bara no Tame ni" ตีพิมพ์ในช่วงปี 1992-1998 (สิบกว่าปีมาแล้ว) และได้รับรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมโชกักกุคังสาขาการ์ตูนผู้หญิงเมื่อปี 1994 ซึ่งเป็นปีเดียวที่ Yu Yu Hakusho ได้รับรางวัลสาขาการ์ตูนผู้ชาย ปีก่อนหน้านี้รางวัลตกเป็นของ Basara ส่วนปีถัดมาเป็นของ " พี่น้องคู่วุ่น" ซึ่งสยามอินเตอร์ฯเคยตีพิมพ์แล้วทั้งหมด แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ตีพิมพ์ Bara no Tame ni ปล่อยให้เป็นฟันหลออยู่ตรงกลาง โชคดีทีมีฝรั่งใจดีแปลมาถึงเล่ม 7 แล้วค่ะ เหลืออีก 9 เล่ม ไม่รู้ว่าจะได้อ่านจบก่อนแก่หรือเปล่า แต่แค่ได้อ่านการ์ตูนซึ่งรอมาสิบกว่าปีอีกครั้งก็ทำให้ซาบซึ้งใจแล้ว

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า โชคดีมักรอเราอยู่ในวันใดวันหนึ่งเสมอ เช่นเดียวกับที่ยูริได้พบครอบครัวหลังจากกันสิบแปดปี และแฟนผลงานคนนี้ที่เจอการ์ตูนที่เฝ้ารอมาสิบกว่าปีเช่นกันค่ะ

วันที่ 07 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11411 มติชนรายวัน