26 กรกฎาคม 2552

Eden of the East ราชาในต้นศตวรรษใหม่ (3)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สองสัปดาห์ก่อนเล่าให้ฟังถึง Eden of the East แอนิเมชั่นที่เพิ่งฉายจบ 11 ตอนทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่นซีซั่นฤดูใบไม่ผลิที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงการค้นหาผู้ที่สามารถ "ช่วยเหลือญี่ปุ่น" ได้จากการสุ่มเลือกคนขึ้นมา 12 คน (เรียกว่าเซเลเซา) และให้เงินหมื่นล้านเยนพร้อมกับโทรศัพท์ที่สั่งการได้ทุกอย่างผ่านสุภาพสตรีชื่อ Juiz หนึ่งในเซเลเซาคือ "ทาคิซาว่า อากิระ" เด็กหนุ่มที่ไม่ได้มีความสามารถพิเศษหรือเก่งอะไรเลย สิ่งเดียวที่เขาทำคือ "สิ่งที่ควรทำ" เท่านั้นเอง และสิ่งที่ควรทำสำหรับเขาก็แค่ช่วยคนหลายหมื่นให้รอดชีวิตจากมิซไซล์ที่ยิงถล่มญี่ปุ่น และดึงเอาคนเก่งแต่ไม่รู้จักทำงานทำการ (NEETs หรือคนที่พอใจกับการอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อส่วนรวม ได้แต่ทำงานพาร์ทไทมค์ค่าแรงต่ำไปวันๆ) ให้มาอุทิศตัวเพื่อคนอื่นด้วย

"โมริมิ ซากิ" บัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยไปเที่ยวอเมริกากับเพื่อนและพบทาคิซาว่าที่ยืนโป๊อยู่หน้าทำเนียบขาวค่ะ เธอเป็นเด็กสาวหน้าตาสวยและมีความสามารถพิเศษในการ "มองเห็นคุณค่าของผู้อื่น" เธอเป็นสมาชิกของ "ชมรมรีไซเคิล" ในมหาวิทยาลัยที่นำของเก่ามาซ่อมและขายใหม่อีกครั้ง ความที่ซาประเมินคุณค่าได้ เธอกับ "มิจจอง" เพื่อนสาวในชมรมจึงร่วมกันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชื่อว่า "Eden of the East" ขึ้นโดยใช้งานเป็น search engine รูปภาพ พูดง่ายๆ คือแค่ถ่ายภาพมา เราก็จะสามารถบอกได้ว่าส่วนต่างๆ ในภาพนั้นคืออะไร เป็นคนชื่ออะไร เป็นสถานที่หรือสิ่งของอะไรรุ่นไหน เมื่อโปรแกรมนี้ใช้การได้ในมือถือ ความนิยมจึงขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะเพียงแค่ถ่ายภาพจากกล้องบนโทรศัพท์ เราก็บอกได้แล้วว่าคนคนนี้เป็นใครจากฐานข้อมูลที่รวบรวมไว้ทั้งหมดค่ะ

ความน่าทึ่งของโปรแกรม Eden of the East คือมันไม่ได้เกิดจากคนเก่งเพียงคนเดียว จริงอยู่ว่ามิจจองพัฒนาขึ้นบนแนวคิดของซากิ แต่คนที่เติมฐานข้อมูลให้เต็มก็คือสมาชิกของ Eden of the East นั่นเอง เป็นการสื่อความหมายในทางเดียวกับทาคิซาว่านั่นคือคนที่จะประสบความสำเร็จและช่วยญี่ปุ่นได้ไม่จำเป็นต้องเก่งเทพ แต่เป็นคนที่ดึงให้คนเก่งอื่นๆ มาร่วมมือกันได้ก็พอแล้ว

ทาคิซาว่าเฉลยในตอนท้ายซีรีส์ว่าตอนแรกเขาเองก็ไม่ได้มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อการ "ช่วยเหลือญี่ปุ่น" นักหรอก แต่เขาเปลี่ยนความคิดเพราะ "มีคนคนหนึ่งเห็นคุณค่าในตัวเขา" ซากินั่นเองค่ะ ตรงนี้โดนใจนะคะ คนเก่งหลายคนเป็น NEET และไม่คิดจะทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อใครเพราะทำไปก็ไม่มีใครเห็นคุณค่า Eden of the East จึงบอกกับเราว่าการดึงให้คนกลุ่มนี้ลุกขึ้นมาเสียสละทำได้โดยให้ "โอกาส" นั่นเองและโอกาสที่ทาคิซาว่าได้รับก็คือโทรศัพท์วิเศษในมือของเขา

โดยภาพรวม นี่คือแอนิเมชั่นที่ปฏิวัติแนวคิดการเป็นคนเก่งในต้นศตวรรษที่ 21 โดยการบอกว่าคนเก่งที่ไม่ใช้ความเก่งของตัวเองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมถือว่าไม่มีค่า ดังนั้น สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องทำในตอนนี้ไม่ใช่พัฒนาการศึกษาเพื่อทำให้คนญี่ปุ่นแต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัวสูงอีกแล้ว แต่เป็นการหาทางจูงใจให้คนเก่งที่ซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดของสังคมกล้าเดินออกมาใช้ความสามารถของตัวเองในการพัฒนาชาติบ้านเมืองต่างหาก

แอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้วง Oasis มาทำเพลงเปิดให้เลยค่ะ และหลายเพลงในเรื่องก็ออกมาได้จังหวะเหมาะให้เราน้ำตาร่วงทุกที สิ่งที่เซอร์ไพรส์ที่สุดในห้าวินาทีสุดท้ายของตอนที่ 11 คือข่าวจากทีมผู้สร้างเขียนบอกว่า "อีก 2 ตอนที่เหลือเราจะฉายเป็นภาพยนตร์ในโรงนะจ๊ะ รอดูปลายปีนี้และต้นปีหน้าจ้ะ" เท่านั้นล่ะค่ะ! กรี๊ดลั่นห้องด้วยความดีใจและเสียใจทันที ที่ดีใจเพราะเรื่องนี้เพิ่งดำเนินมาได้ครึ่งทางเท่านั้นเอง เนื้อเรื่องยังมีปมให้แก้อีกเยอะเลยค่ะ แต่ที่เสียใจคือเราจะเหาะไปดูในโรงที่ญี่ปุ่นได้ยังไงกันล่ะเนี่ย

จบแอนิเมชั่นดีๆ ไปอีกหนึ่งเรื่องแล้ว แม้คนดูแอนิเมชั่นจะไม่เยอะนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรโลก แต่ถ้าลองคิดว่าค่านิยมดีๆ แบบนี้เปลี่ยนให้คนดูแอนิเมชั่นกลุ่มหนึ่งกลายเป็นคนที่มีหัวคิดมากขึ้นกว่าเดิม การ์ตูนก็เป็นสื่อที่ใช้สร้างเยาวชนวันนี้ให้เป็นผู้ใหญ่ที่สังคมต้องการในวันหน้าได้อย่างดีเลยล่ะค่ะ

วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11460 มติชนรายวัน

18 กรกฎาคม 2552

Eden of the East ราชาในต้นศตวรรษใหม่ (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สัปดาห์ก่อนเล่าเรื่องทีมงานมือทองและพล็อตเรื่อง Eden of the East ซึ่งฉายทางโทรทัศน์ในซีซั่นฤดูใบไม้ร่วงที่เพิ่งจบไปในญี่ปุ่นค่ะ โดยสรุปคือ "ทาคิซาว่า อากิระ" เด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่นลืมตาขึ้นมาหน้าทำเนียบขาว เขาพบว่าตัวเองโป๊อยู่และไม่มีความทรงจำอะไรเหลือเลย มือทั้งสองมีแค่ปืนกระบอกหนึ่งกับโทรศัพท์มือถือที่มีเงินบรรจุอยู่ 8.2 พันล้านเยน! นอกจากเงินแล้ว โทรศัพท์ยังใช้ติดต่อกับสุภาพสตรีชื่อ Juiz (ภาษาโปรตุเกสหมายถึงผู้พิพากษา) ซึ่งทำทุกสิ่งที่เขาต้องการได้ทันทีตั้งแต่สั่งให้ฆ่าคนไปจนถึงให้นายกรัฐมนตรีพูดแปลกๆ ออกอากาศ คำถามที่ทาคิซาว่าต้องการคำตอบในซีรีส์นี้คือ "เขาเป็นใคร" และ "ทำไมจึงมีโทรศัพท์วิเศษในมือ"

คำตอบแบบรวบรัดคือโทรศัพท์เงินล้านและ Juiz เกิดจากแนวคิดของ "มิสเตอร์เอ๊าต์ไซด์" ซึ่งเขาได้สุ่มเลือกคน 12 คนขึ้นมาและเรียกแต่ละคนว่า Selecao (ภาษาโปรตุเกสแปลว่าผู้ได้รับเลือก) สิ่งที่เซเลเซาทั้งสิบสองได้รับคือโทรศัพท์ที่มีเงินหนึ่งหมื่นล้านเยนและสามารถโทร.บอกให้ Juiz ทำสิ่งใดก็ได้ที่ต้องการโดยหักค่าใช้จ่ายจากโทรศัพท์ไปเรื่อยๆ กติกาคือทุกคนต้องใช้เงินไปเพื่อหาหนทาง "ช่วยเหลือญี่ปุ่น" หากใครนำเงินไปใช้เพื่อการอื่น หรือใช้เงินจนหมดโดยยังไม่ได้ช่วยญี่ปุ่น หนึ่งในสิบสองเซเลเซาที่เป็น "ซัพพอร์เตอร์"จะถูกส่งไปฆ่าคนคนนั้น และสุดท้ายผู้ชนะเกมนี้จะเป็นเพียงคนเดียวที่รอดชีวิต

"ช่วยเหลือญี่ปุ่น" เป็นคำเรียบง่ายแต่ที่จริงยากมากเพราะแต่ละคนตีความการช่วยเหลือญี่ปุ่นไปต่างๆ กัน คุณหมออาจจะคิดว่าช่วยชีวิตมนุษย์ก็เป็นการช่วยญี่ปุ่นแล้ว หรือผู้นำเผด็จการคิดว่าการทำให้คนหวาดกลัวเพื่อจะได้ร่วมมือกันต่อสู้คือการช่วยญี่ปุ่น แต่สำหรับทาคิซาว่าพระเอกของเรื่อง เขาไม่ได้คิดอะไรที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นเลย ทาคิซาว่าพูดได้น่าฟังมากในตอนหนึ่งว่าคนที่สามารถจะช่วยเหลือญี่ปุ่นได้น่าจะเป็นพวกนักการเมืองหรือคนเรียนเก่งๆ ไม่ใช่เหรอ คนธรรมดาๆ ที่ไม่ฉลาดอย่างเขาช่วยญี่ปุ่นไม่ได้หรอก สิ่งที่ทาคิซาว่าใช้เงินพันกว่าล้านเยนไปจึงเป็นแค่การทำ "สิ่งที่ควรทำ" เท่านั้นเอง

สามเดือนก่อนเขาทราบว่าหนึ่งในเซเลเซาสั่งมิซไซล์ให้มายิงถล่มญี่ปุ่น เขาจึงใช้เงินในการอพยพผู้คนไปยังที่ปลอดภัยและสุดท้ายก็ไม่มีใครเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ความสมจริงและน่าประทับใจอยู่ตรงวิธีคิดของทาคิซาว่าค่ะ เขาไม่ฉลาดพอที่จะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะรอดจากมิซไซล์จึงบอกให้เหล่า NEET สองหมื่นคนใช้โทรศัพท์พิมพ์ SMS บอกวิธีที่จะช่วยคนจากมิซไซล์ได้ หลังจากนั้นจึงให้ Juiz คัดเลือกวิธีที่ดีที่สุดขึ้นมา หมายความว่าแม้เขาไม่ใช่คนฉลาดแต่ก็รู้วิธีที่จะดึงศักยภาพของคนฉลาดคนอื่นๆ ออกมาช่วยชาติบ้านเมืองได้นั่นเอง

NEET เป็นตัวย่อของคำว่า "Not currently engaged in Employment, Education or Training" คือคนวัยทำงานที่อยู่ว่างๆ โดยไม่ได้เรียนหรือทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จัดเป็นปัญหาแรงงานของญี่ปุ่นในปัจจุบันเพราะคนเหล่านี้ไม่มีแรงจูงใจในการเสียสละหรือทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่สนใจที่จะดิ้นรนให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ด้วย ได้แต่อยู่บ้านเฉยๆ เล่นอินเตอร์เน็ต และหารายได้เล็กน้อยจากการทำงานพาร์ทไทม์ค่าแรงถูกเท่านั้นทั้งที่ NEET หลายคนเป็นคนเก่งและสามารถทำงานใหญ่เพื่อพัฒนาบ้านเมืองได้สบาย

Eden of the East จบตอนที่ 11 ทางโทรทัศน์ด้วยการแสดงให้เห็นว่าคนที่สามารถช่วยเหลือญี่ปุ่นได้และญี่ปุ่นต้องการคือ "ราชา" ค่ะ เป็นคำที่ดีเพราะไม่ได้หมายถึงคนเก่งและมีความสามารถสูงอย่าง "ฮีโร่" ที่ญี่ปุ่นพยายามผลิตและสะท้อนให้เห็นได้จากการ์ตูนฮีโร่เกลื่อนตลาดเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน "ราชา" คือศูนย์รวมจิตใจและผู้ที่ทำให้คนเก่งหลายคนเคลื่อนไหวได้ คือผู้ที่ทำให้คนอื่นยอมอุทิศตัวเพื่อนประโยชน์ส่วนรวม ศัพท์แบบฝรั่งๆ หน่อยคือผู้ที่ "มีความเป็นผู้นำ" หรือ leadership นั่นเอง

ตอนหน้ามาลงลึกอีกนิดว่านางเอกของเรื่องมีบทบาทอย่างไร และเมื่อแนวคิด "ฮีโร่" ตกยุคไปแล้ว คนที่จะได้รับการยอมรับจากสังคมในยุคนี้คือคนแบบไหน มาต่อครั้งหน้าค่ะ

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11453 มติชนรายวัน

12 กรกฎาคม 2552

Eden of the East ราชาในต้นศตวรรษใหม่ (1)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนที่ผ่านมาคือซีซั่นฤดูใบไม้ผลิของวงการการ์ตูนที่ฉายทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่นค่ะ ถ้าจะถามว่าเรื่องไหนที่ดูแล้วประทับใจมากที่สุด คงต้องเทใจให้ Higashi no Eden หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Eden of the East ซึ่งเต็มไปด้วยคำว่า "เซอร์ไพรส์!" ตั้งแต่ก่อนเริ่มฉายจนกระทั่งฉายจบไป 11 ตอนแล้ว

เซอร์ไพรส์แรกสุดตั้งแต่ก่อนเรื่องนี้ออกฉายคือโปสเตอร์โฆษณาที่เห็นนี่ล่ะค่ะ มีภาพโทรศัพท์มือถือค่อยๆ หลอมกลายเป็นน้ำผึ้งราดบนผลแอปเปิ้ลซึ่งน่าจะสื่อถึงสวนอีเดนที่บางครั้งใช้แทนสถานที่ที่เหมือนสวรรค์ บนผลแอปเปิ้ลมีคำว่า Noblesse Oblige หมายถึงสิทธิพิเศษที่ได้รับย่อมมีข้อผูกมัดในการตอบแทนภายหลังซึ่งเป็นธีมหลักของเรื่องนี้ สุดท้ายคือใบโคลเวอร์เล็กๆ ที่วางประดับข้างผลแอปเปิ้ล ทั้งหมดนี้มีความหมายค่ะ

ก่อนอื่นเมื่อเห็นมือถือไซเบอร์พังค์กับชื่อ Production I.G. ที่มุมโปสเตอร์ คนแรกที่แวบเข้ามาในหัวคือผู้กำกับ "คามิยามะ เคนจิ" ซึ่งฝากผลงานไว้ใน Ghost in the Shell เกือบทุกภาค และเป็นดังคาด Eden of the East เป็นผลงานที่ผู้กำกับฯคามิยามะประพันธ์และวางสคริปต์เอง กำกับศิลป์และเขียนสตอรี่บอร์ดเองในตอนที่เป็นคีย์เนื้อเรื่อสำคัญ ผลงานของผู้กำกับฯคามิยามะโดดเด่นเรื่องการใส่เสน่ห์ให้คาแร็กเตอร์และกำกับมุมกล้องได้สวยมาก ดำเนินเรื่องดีและเก่งในการทิ้งปริศนาไว้ท้ายตอนเพื่อให้เราอยากดูตอนต่อไป เรียกว่าเกิดมาเพื่อกำกับฯแอนิเมชั่นสำหรับฉายรายสัปดาห์จริงๆ แต่สิ่งที่ทำให้แฟนๆ ส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกดูเรื่องนี้อาจไม่ใช่เพราะผู้กำกับคามิยามะ แต่เป็นผู้ออกแบบตัวละครเรื่องนี้เสียแทนค่ะ

"อ.อุมิโนะ จิกะ" ผู้วาดเรื่อง Honey and Clover ซึ่งแอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้กลายเป็นตำนานการ์ตูนชีวิตวัยรุ่นที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์มาเป็นผู้ออกแบบตัวละครให้ Eden of the East ผลคือเพื่อนๆ หลายคน (รวมถึงตัวเองด้วย) ตัดสินใจดู Eden of the East เพราะชอบผลงานเรื่อง Honey and Clover มาก่อนค่ะ ดังนั้น ภาพน้ำผึ้งกับใบโคลเวอร์บนโปสเตอร์โฆษณาต้องการสื่อถึง อ.อุมิโนะนั่นเอง เมื่อสามยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ผู้กำกับฯที่ทำให้ Ghost in the Shell ที่มีฉากคุยกันทั้งเรื่องกลายเป็นหนังสนุกและน่าติดตามได้, โปรดักชั่นที่ทำภาพการ์ตูนสองมิติได้เนียนสวยระดับเทพ, และผู้ออกแบบคาแร็กเตอร์ที่ทำให้ตัวการ์ตูนน่าจดจำมาร่วมมือกัน สิ่งที่ตามมาก็คืองานที่น่าจะโกยทั้งเงินทั้งกล่องในปี 2009 นี้ไปได้เพียบ

แค่โปสเตอร์ก็ว่าน่าตื่นตะลึงแล้ว เนื้อเรื่องและการดำเนินเรื่องในสไตล์ของผู้กำกับฯคามิยามะยิ่งน่าตื่นตะลึงเข้าไปใหญ่ค่ะ ลองคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากเราลืมตาขึ้นมาและพบว่ายืนโป๊อยู่หน้าทำเนียบขาวโดยไม่มีความทรงจำอะไรเหลืออยู่เลย ทั้งตัวมีแค่ปืนและโทรศัพท์มือถือแปลกๆ อยู่ในมือและในโทรศัพท์มีเงิน (ดิจิตอลมันนี่) อยู่ 8.2 พันล้านเยน! นั่นคือสิ่งที่พระเอกของเรื่องนี้มีในตอนต้น เขาค่อยๆ สืบหาความทรงจำของตัวเองไปทีละนิดและพบว่าตนเองอาจจะเป็นผู้ก่อการร้ายที่ยิงมิซไซล์ถล่มญี่ปุ่นเมื่อสามเดือนก่อนก็ได้

ในที่สุดพระเอกของเราตัดสินใจเลือกพาสปอร์ตที่ใช้ชื่อ "ทาคิซาว่า อากิระ" จากพาสปอร์ตหลายเล่มและเดินทางกลับญี่ปุ่นเพื่อสืบหาว่าเขาเป็นใครกันแน่ มีอยู่สองคนที่เขาสามารถพูดคุยและสอบถามได้ในเวลานี้ คนแรกคือ "โมริมิ ซากิ" หญิงสาวที่เขาเจอตอนที่ตัวเองยืนโป๊อยู่หน้าทำเนียบขาว และอีกคนคือ Juiz ซึ่งเป็นเสียงสุภาพสตรีในโทรศัพท์มีหน้าที่ "ทำทุกอย่าง" ที่ทาคิซาว่าต้องการ เธอจะรับคำสั่งและดำเนินการโดยหักค่าใช้จ่ายจากเงินที่มีอยู่ในโทรศัพท์ หลังจากเธอรับคำสั่ง เธอจะกล่าวคำว่า Noblesse Oblige (ที่ปรากฏอยู่บนแอปเปิ้ลในโปสเตอร์) และเตือนสติว่าภารกิจของผู้ที่ได้โทรศัพท์เงินล้านเครื่องนี้คือการเป็นผู้ที่จะกลายมาเป็นผู้กอบกู้ญี่ปุ่นในอนาคต

พล็อตน่าสนใจไม่เลวเลยใช่ไหมคะ ตอนหน้ามาดูว่าเซอร์ไพรส์ของเรื่องนี้มีอะไรอีกค่ะ

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11446 มติชนรายวัน

04 กรกฎาคม 2552

ศิลปะแบบ Superflat กับวัฒนธรรมโอตาคุ (3)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สองสัปดาห์ก่อนเกริ่นให้ฟังถึง "มุราคามิ ทาคาชิ" ศิลปินแนว Superflat ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในตะวันตก ช่วงปี 2001 เขาเป็นคนแรกที่เปิดตัวและนิยามงานศิลปะของตัวเองว่า Superflat พูดง่ายๆ คืองานศิลปะที่ดูแล้ว "เหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น" นั่นเอง งานปั้นของเขาชื่อ My Lonesome Cowboy ซึ่งหน้าตาเหมือนฟิกเกอร์การ์ตูนขนาดเท่าคนจริงขายได้ในราคา 15.1 ล้านดอลล่าร์! และในปี 2003 บริษัทกระเป๋าแบรนด์ดังของฝรั่งเศส Louis Vuitton ให้เขาออกแบบคอลเลคชั่น Multicolor กลายเป็นกระเป๋าหลุยส์ฯ สีสันสดใสแต่ราคาแพงลิ่วค่ะ วันนี้จะมาเล่าต่ออีกนิดถึงศิลปินญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จระดับโลกด้วยแรงบันดาลใจจากการ์ตูนญี่ปุ่น

เมื่อแรกเริ่มที่มุราคามิโด่งดังใหม่ๆ สิ่งที่ทำให้มุราคามิถูกต่อต้านจากเหล่าโอตาคุคือเขาให้สัมภาษณ์ว่าเขา "ไม่ใช่โอตาคุ" ทั้งที่ผลงานทุกชิ้นดูอย่างไรก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนและแอนิเมชั่นแน่ๆ เมื่อลองอ่านบทสัมภาษณ์ของเขาแล้วถึงเพิ่งเข้าใจค่ะ มุราคามิเองก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งมีความเชื่อเช่นเดียวกับคนในสังคมญี่ปุ่นว่า "โอตาคุ" เป็นคำที่ใช้นิยามพวกที่หมกมุ่นอยู่แต่การ์ตูนจนไม่เป็นอันทำอะไร แต่เขาไม่ได้ดูถูกคนที่ชอบการ์ตูนนะคะ เขาเพียงแค่ไม่อยากให้คนทั่วไปมองเขาด้วยภาพลบของ "โอตาคุ" ดั้งเดิมเท่านั้นเอง จะว่าไปเขาก็ไม่ชอบให้คนมองเขาว่าเป็นอย่างนู้นอย่างนี้ตามประสาศิลปินที่มีความเป็นปัจเจกสูงค่ะ ความไม่ยึดติดกับรูปแบบศิลปะใดๆ เลยได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของเขา และสุดท้ายเอกลักษณ์ของเขาก็ได้กลายมาเป็นรูปแบบของตัวเองซึ่งเต็มไปด้วยกลิ่นของแอนิเมชั่นชัดเจน

วิธีการคือเขาสร้างคำนิยามใหม่เสียเลยว่าผลงานออกแบบใดก็ตามที่ได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนหรือแอนิเมชั่นญี่ปุ่น เราจะเรียกว่า "Superflat" พูดง่ายๆ คือเขาต้องการสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาบนรากฐานเดิมของโอตาคุนั่นเอง อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมแนวครึ่งป๊อปครึ่งโอตาคุมีในญี่ปุ่นมานานแล้วแต่อาจอยู่ตามใต้ดินเป็นสตรีทแฟชั่นและถูกเรียกด้วยศัพท์แบบญี่ปุ่นว่า "Poku" (Pop+Otaku) คำนี้คงไม่สามารถสื่อให้ชาวโลกเข้าใจได้เท่า Superflat ค่ะ

มุราคามิให้สัมภาษณ์ลงใน Journal of Contemporary Art เมื่อปี 2000 ว่าเขาเองก็อยากจะเป็นเจ้าปฐพีในวงการที่เขาชอบนั่นคือเป็นราชาของเหล่าโอตาคุ แต่เขาก็เป็นไม่ได้เนื่องจากบรรดาของสะสมและความสามารถของเขามีไม่มากพอที่จะทำให้คนในวงการให้การยอมรับเขาในฐานะราชา เรียกว่าพรสวรรค์ในการเดินตามกระแสวัฒนธรรมการ์ตูนที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาถึงจุดอิ่มตัวสำหรับเขาเสียแล้วค่ะ เขาจึงเปลี่ยนตัวเองจากโอตาคุมาเป็นศิลปินเสียแทน หรืออีกนัยหนึ่งคือเปลี่ยนจากผู้เดินตามวัฒนธรรมของคนอื่นมาเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมเสียเอง

มุราคามิเลือกที่จะตีความโอตาคุในมุมมองของเขาและปรับให้เป็นสไตล์ซึ่งถ่ายทอดออกมาในงานศิลปะโดยมีจุดมุ่งหมายให้ชาวโลกรู้ว่าคนเป็นโอตาคุก็มีพลังสร้างสรรค์เหมือนกันนะ และเขาก็ได้เป็นราชาในวัฒนธรรม Superflat ที่เขาสร้างขึ้นในที่สุด ผู้คนไม่มองเขาอย่างเหยียดหยามแบบที่มองโอตาคุอีกต่อไปเพราะเขาคือผู้นำวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่เคยลืมความเป็นโอตาคุของตัวเอง ที่ทราบว่าเขาไม่ลืมเพราะลมหายใจในชิ้นงานของมุราคามิเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมการ์ตูนทั้งนั้นเลยค่ะ

ในฤดูใบไม้ผลิปี 2009 นี้ ทางหลุยส์วิตตองได้ให้มุราคามิปรับโฉมคอลเลคชั่น Multicolor Spring Palette อีกครั้งต่อเนื่องจาก Superflat Monogram เดิมที่เขาเคยออกแบบไว้เมื่อปี 2003 คอลเลคชั่นนี้มีกำหนดเปิดตัววันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมานี่เองค่ะ และคลอดมาพร้อมแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) Superflat First Love ซึ่งมีแพนดาสีเจ็บเป็นไอคอน

สาวๆ คนรักการ์ตูนท่านไหนอยากถือกระเป๋าแบรนด์เนมที่ยังคงความเป็นโอตาคุไว้นิดๆ คงหนีไม่พ้นต้องเสียเงินให้ LV แล้วล่ะค่ะ แต่สนนราคาคอลเลคชั่นใหม่ใบละหกหมื่นขึ้นไป ก็คงต้องคิดกันหนักๆ ก่อนตัดสินใจนะคะ


วันที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11439 มติชนรายวัน