22 มิถุนายน 2551
ผีซ่าส์กับฮานาดะ การ์ตูนที่ควรได้ดูสักครั้งในชีวิต
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง
คำถามที่มักจะถูกถามเสมอๆ เกี่ยวกับเรื่องการ์ตูนมักจะไม่พ้นการจัดอันดับค่ะ คือมักจะให้เราบอกว่าเรื่องไหนมีความเป็น "ที่สุด" ในความคิดของคนที่อ่านการ์ตูนมาตั้งแต่อนุบาลจนกระทั่งอายุเข้าทศวรรษที่สามอย่างเรา พวก "ชอบที่สุด" หรือ "สนุกที่สุด" เป็นคำถามที่ตอบยากมาก ถามกี่ครั้งก็จะนึกขึ้นมาได้หลายสิบเรื่องเพราะแม้แต่ในคำว่า "ชอบ" ก็ยังตีความได้อีกหลายอย่าง เช่น ชอบภาพ ชอบเนื้อเรื่อง ชอบการดำเนินเรื่อง ฯลฯ
แต่การ์ตูนที่ "ซาบซึ้งที่สุด" จนบรรยายเป็นคำพูดไม่ได้ ต้องบรรยายออกมาเป็นน้ำตา นั่นคือ "ผีซ่าส์กับฮานาดะ" ซึ่งออกขายเป็น VCD และ DVD ในไทยแล้ว เรื่องนี้ได้รับรางวัลภาพยนตร์การ์ตูนโทรทัศน์ยอดเยี่ยมจาก Tokyo International Anime Fair ปี 2003 (แซงอินุยาฉะได้), รางวัลแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมจาก Asian Television Technical & Creative Awards ปี 2003 (เอาชนะการ์ตูนฉายโรงในปีนั้นอย่าง Baron the Cat Returns), กับรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมประเภททั่วไปจากหนังสือการ์ตูนเรื่องเดียวกันในงาน Kodansha Manga Award ครั้งที่ 19 ประจำปี 1995 (ซึ่งปีนั้นคินดะอิจิได้รางวัลประเภทการ์ตูนผู้ชาย)...เป็นหางว่าว"ฮานาดะ อิจิโระ" เป็นเด็ก ป.3 ที่เกิดและเติบโตในจังหวัดแถบชนบทของญี่ปุ่น เรื่องราวน่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่โทรทัศน์สีเพิ่งจะมีขายไม่นาน (น่าจะประมาณสามสิบกว่าปีก่อน) ซึ่งเรื่องทั้งหมดเริ่มจากอิจิโระต้องการให้ซื้อโทรทัศน์ใหม่เป็นรุ่นมีสีจนกระทั่งทะเลาะกับคุณแม่ สุดท้ายเมื่อหนีออกจากบ้านก็กลับประสบอุบัติเหตุถูกรถชนแต่อิจิโระรอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์
แม้จะรอดตายแต่อิจิโระต้องเย็บศีรษะถึง 9 เข็ม และได้ของแถมมาอีกอย่างคือความสามารถในการมองเห็นและได้ยินเสียงวิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว
แม้อิจิโระจะเป็นเด็กที่ซนที่สุดในหมู่บ้าน เรียกว่าเหยียบที่ไหนสิ่งมีชีวิตตายเรียบ แต่จุดอ่อนเพียงอย่างเดียวของเขาคือ "กลัวผี" ถึงอย่างนั้นกลับต้องมารับฟังคำขอของวิญญาณซึ่งคดีแรกสุดคือวิญญาณสาวสวยต้องการให้ไปหาชายที่รัก
ความที่พื้นเพเป็นเด็กที่มีจิตใจดี (ผสมปอดแหกเมื่ออยู่กับผี) ทำให้อิจิโระยอมช่วยเหลือจนวิญญาณหญิงสาวคนนั้นไปสู่สุคติได้ในที่สุด ข่าวนี้คงแพร่สะพัดไปในหมู่วิญญาณทำให้มีวิญญาณมาขอความช่วยเหลืออีกหลายครั้ง
ความน่ารักของการ์ตูนเรื่องนี้อยู่ที่วิธีคิดแบบเด็ก ป.3 ของอิจิโระนี่ล่ะค่ะ สำหรับเด็กที่ไม่รู้จักความตาย (แต่รู้ว่าตายไปต้องเป็นผีแล้วผีน่ากลัว) ไม่รู้จักความรักหรือความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างคนที่มีชีวิตอยู่กับคนที่ตายไปแล้ว (รู้แต่ว่าถ้าไปสู่สุคติก็จะไม่ได้คุยกันอีกเลยเศร้า) ไม่รู้จักกระทั่งการฆ่าด้วยการฉีดยา (แต่รู้แค่ว่าฉีดยามันเจ็บก็เลยกลัว) อิจิโระจึงเลือกกลัวแต่ในสิ่งที่ทำให้คนดูหัวเราะออก เพราะหลายครั้งเราเผลอซาบซึ้งไปกับฉากลาจากที่แสนเศร้า แต่อิจิโระกลับมีมุมมองในแบบเด็กๆ และเหตุผลแบบเอาแพะมาชนแกะที่เรานึกไม่ค่อยถึง
แนวคิดที่ได้จากการ์ตูนเรื่องนี้อีกอย่างคือ "การเปิดโอกาสให้ทำความดีอาจทำให้คนคนหนึ่งได้รับการหล่อหลอมจนเป็นคนดีได้ในที่สุด" อิจิโระที่ซนจนหมดทางเยียวยาและไม่เคยคิดจะทำเรื่องดีๆ ให้พ่อแม่สบายใจกลับต้องมาเสียสละช่วยเหลือวิญญาณเพียงเพราะกลัวโดนผีหลอก ที่จริงเขาก็ไม่ได้เต็มใจช่วยหรอกนะ ว่าง่ายๆ คือโดนบังคับ แต่เมื่อได้เรียนรู้การทำความดีและเห็นผลตอบแทนที่ชัดเจนคือคนที่เราทำดีให้เขาสบายใจ ความดีจึงค่อยๆ หลอมเป็นส่วนหนึ่งในใจของอิจิโระทีละนิดในที่สุด
ยิ่งดูก็ยิ่งเกิด "ศรัทธาในความดี" มากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ จากที่มองคนอื่นโดยคาดเดาเจตนาตามใจตัวเองก็เริ่มมองที่การกระทำกับผลของการกระทำมากขึ้น เคยเห็นคนมีชื่อเสียงบางคนไปทำบุญหรือทำความดีไหมคะ หลายคนอาจมองว่า "สร้างภาพ" หรือ "ไม่จริงใจ" แต่ไม่ว่าเขาจะไม่ตั้งใจหรือถูกบังคับให้ทำความดีแบบอิจิโระ อย่างน้อยผลดีที่เขาทำก็ส่งให้คนอื่นมีความสุขค่ะ และสุดท้ายสักวันก็จะหลอมกลายเป็นความดีในหัวใจของเขาเอง
"ผีซ่าส์กับฮานาดะ" ไม่ได้สอนให้ใครทำความดีค่ะ แต่ทุกครั้งที่ดูเราจะรู้สึกว่าจิตใจตัวเองได้รับการชำระจนสะอาดขึ้นทีละนิด มองว่าความเสียสละไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนที่ดีขนาดพ่อพระแม่พระถึงจะทำได้ แต่แม้ว่าเราจะเป็นคนเลวนิดๆ เราก็ยังเสียสละและทำดีได้เช่นกัน
อิจิโระทำให้เราศรัทธาในความกล้าที่จะทำดีของตัวเองค่ะ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น