22 มิถุนายน 2551

KATSU หมัดรักสั่งลุย


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากผ่านพ้นช่วงดองเค็มอันแสนยาวนาน เล่มต่อของการ์ตูนแนวรักดีกีฬาเด่นอย่าง Katsu ก็ปรากฏเล่ม 15 มาให้นักอ่านหายอยากแล้วค่ะ ถ้าเราลองจินตนาการดูว่าการ์ตูนที่เกี่ยวกับกีฬาชกมวยควรจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าส่วนใหญ่ต้องนึกถึงจิตวิญญาณนักชกบนสังเวียนอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ก็พระเอกบู๊ล้างผลาญที่ฝึกฝนท่าไม้ตายหมัดมีดโกน...อะไรแบบนั้น

แต่คงไม่ใช่สำหรับเรื่องนี้ค่ะ สิ่งที่น่าชื่นชมของ Katsu โดยเฉพาะเล่ม 15 นี้มีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคงไม่พ้นเทคนิคการดำเนินเรื่องอันล้ำเลิศของ อ.อาดาจิ มิทซึรุซึ่งแสดงอารมณ์ของตัวละครผ่านทางพฤติกรรมตัวการ์ตูนได้อย่างแนบเนียนโดยไม่ต้องใช้คำพูด และอีกเรื่องคือความเร่าร้อนของวัยรุ่นซึ่งให้แนวคิดแบบผู้ใหญ่ที่น่าสนใจ

Katsu เล่าเรื่องของเด็กหนุ่มคนหนึ่งนามว่า "คัทซึกิ" ซึ่งใช้ชีวิตนักเรียนแสนธรรมดาในครอบครัวธรรมดามาตลอดจนกระทั่งได้พบกับสาวสวยลูกเจ้าของค่ายมวย "คาซึกิ" ความสนใจในตัวสาวน้อยทำให้เขาพลอยต้องแกล้งสนใจมวยหวังจีบไปด้วย

แต่ไปๆ มาๆ พรสวรรค์ด้านกีฬาชกมวยของคัทซึกิกลับเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดวันหนึ่ง ความลับของครอบครัวคัทซึกิจึงถูกเปิดเผย เขาคือลูกชายของนักชกอนาคตไกลที่เสียชีวิตจากการชกมวย และคู่ชกในครั้งนั้นได้กลายมาเป็นพ่อคนปัจจุบันของเขา

แม้ความเก่งกาจของคัทซึกิจะเป็นของจริง แต่สิ่งที่คนรอบข้างมองเห็นกลับกลายเป็นเงาของพ่อผู้ล่วงลับ คัทซึกิกลายเป็นเป้าหมายให้หลายคนที่เคยตั้งความหวังแชมป์โลกกับพ่อของเขาหันมาปลุกวิญญาณนักชกที่หลับใหลขึ้นมาใหม่

คู่แข่งคนสำคัญขณะนี้เป็นทั้งคู่ชกบนสังเวียนมวยและความรัก "มิซากิ" หนุ่มน้อยอัจฉริยะด้านกีฬาซึ่งหลงรักคาซึกิเช่นกัน เขาเดินเข้าเวทีมวยทั้งที่เป็นโปรเบสบอลได้สบายเพื่ออะไรกันแน่ ความรักหรือเพื่อน คงต้องติดตามล่ะค่ะ

ข้อดีในงานเขียนของ อ.อาดาจิซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่น้อยคนนักจะเหมือนคือการดำเนินเรื่องด้วยภาพ ฉากที่ไม่ค่อยสำคัญนั้นจะเต็มไปด้วยบทพูดยาวๆ และสีหน้าแสดงอารมณ์ชัดเจน แต่เมื่อเป็นฉากสำคัญ เราจะไม่รู้เลยว่าตัวการ์ตูนรู้สึกอย่างไรกันแน่ คำพูดก็ไม่มีสักช่อง หลายครั้งที่คนอ่านคาดเดากันเองอย่างตื่นเต้นว่าช่องนี้หมายถึงอะไรกันแน่ และคำเฉลยมักจะปรากฏอยู่ในอีกไม่กี่หน้าถัดไป

เทคนิคนี้ทำให้การ์ตูนวัยรุ่นใสๆ เรื่องนี้น่าติดตามพอฟัดพอเหวี่ยงกับการ์ตูนสืบสวนเลยล่ะค่ะ ความน่าทึ่งอีกประการที่จะลืมไม่ได้ในเล่มนี้คือแนวคิดแบบผู้ใหญ่ซึ่งนำเสนอผ่านมุมมองของเด็กมัธยมปลายอย่างคัทซึกิ ทุกคนรอบข้างคาดหวังว่าเขาจะสานต่อสิ่งที่พ่อของเขาทำไม่สำเร็จก่อนเสียชีวิต นั่นคือการเป็นแชมป์โลก

แต่ในทางกลับกันคัทซึกิกลับมองว่าสิ่งที่พ่อของเขาทำไม่สำเร็จคือการทำให้แม่มีความสุขต่างหาก พ่อด่วนตายเร็วเกินไป ดังนั้นหากเป้าหมายของเขาคือทำในสิ่งพ่อต้องการ นั่นก็คือไม่มีวันจะเป็นนักมวยอาชีพที่เสี่ยงต่อการตายคาเวทีแบบพ่อ แต่เป็นการให้ความรักกับผู้หญิงที่รักอย่างเต็มที่ต่างหาก มาถึงฉากนี้ถึงกับตีลังกาม้วนหลังตกเก้าอี้เลยค่ะ

แนวความคิดที่เป็นผู้ใหญ่เกินตัวนี้เชื่อว่าสะท้อนความรู้สึกของคนอ่านหลายๆ คนรวมถึงตัวฉันเองด้วย เป็นคำถามให้เราหันมาถามตัวเองว่า "เราเกิดมาเพื่ออะไรกันแน่" อ่านตำราเขาว่าคนเราดำเนินชีวิตไปจนถึงจุดหนึ่งที่มีหน้าที่การงานมั่นคง ครอบครัวอบอุ่น

เราจึงค่อยย้อนกลับมามองชีวิตในช่วงอายุ 40 กว่าว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการกันแน่ บางคนทำงานอย่างหนักแล้วถึงนึกได้ว่าอยากเป็นชาวสวน หรือบางคนใช้ชีวิตเป็นพนักงานกินเงินเดือนมาตลอด ถึงนึกขึ้นได้ว่าอยากค้าขาย Katsu สะท้อนช่วง noon of life เช่นนี้ให้เราได้มองตัวเองในมุมที่แตกต่างออกไปค่ะ ทำให้นึกถึงโฆษณาโทรทัศน์ชิ้นหนึ่งที่ว่า "จะปล่อยให้โลกรอคุณอีกนานแค่ไหน" ช่วงที่โลกรอคือช่วงแสวงหาตัวเองนี่ล่ะค่ะซึ่งสุดท้าย Katsu ไม่ได้ช่วยชี้ทางให้ใคร แต่กระตุ้นให้เราระลึกได้ว่าสิ่งที่น่าค้นหามากที่สุดในโลกก็อยู่ในตัวเรานี่ล่ะค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: