03 พฤศจิกายน 2551

Light Novel ยามการ์ตูนถูกเล่าผ่านตัวอักษร [1]

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากเล่าการกลายพันธุ์ของหนังสือการ์ตูน (Manga-มังงะ) สู่ภาพเคลื่อนไหวในแอนิเมชั่น (Animation) ไปแล้วจากเรื่อง Detroit Metal City แอนิเมชั่นที่เหมือนฉีกหน้ากระดาษในหนังสือการ์ตูนไปแปะบนจอ วันนี้จะขอเล่าถึงมังงะซึ่งกลายพันธุ์เป็นตัวอักษรล้วนๆ ใน "Light Novel" (ไลท์โนเวล) แม้ชื่อจะบอกว่าเป็น Novel หรือนวนิยาย แต่กลุ่มผู้อ่านและความรู้สึกเมื่ออ่านกลับใกล้เคียงกับการอ่านหนังสือการ์ตูนมากกว่านิยายเยอะค่ะ มหัศจรรย์ไหมคะ

Light Novel (Raito Noberu ในภาษาญี่ปุ่นหรือเรียกสั้นๆ ว่า Ranobe) เป็นคำที่ถือกำเนิดขึ้นในวงการการ์ตูนของญี่ปุ่น หมายถึงนวนิยายที่มีภาพวาดการ์ตูนหรือแอนิเมชั่นประกอบ ส่วนใหญ่เล่มหนึ่งจะมีประมาณ 10-15 ภาพ กระจายอยู่ในตอนต่างๆ ของเล่ม ถ้าลองย้อนนึกถึงนวนิยายที่เรารู้จัก สิ่งที่เราพอจะระลึกได้คือรูปภาพอาจมีอย่างมากที่สุดก็บนปกหน้ากับปกหลัง การเล่ามักจะเน้นคำบรรยายเพื่อให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการ นั่นคือนวนิยายในความคิดของคนส่วนใหญ่ค่ะ แต่ไลท์โนเวลมีกลวิธีในการเขียนและเล่าต่างกับนวนิยายอยู่มากทีเดียว

สำหรับการเขียน เนื่องจากไลท์โนเวลเป็นหนังสือที่ออกมาเพื่อรองรับตลาดเด็กและวัยรุ่นมากกว่าวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นตัวอักษรคันจิยากๆ ที่ปรากฏในไลท์โนเวลจึงต้องมี "ฟุริงานะ" หรือคำอ่านเป็นตัวอักษรง่ายๆ วางอยู่บนอักษรคันจิเสมอ หากจะเทียบเป็นภาษาไทยก็หมายถึงคำศัพท์ที่ใช้ต้องง่ายเพียงพอที่เด็กอ่านแล้วนึกภาพออก ไม่ใช่เป็นศัพท์หรูหราที่อ่านแล้วเสนาะหูแต่นึกไม่ออกว่าหมายถึงอะไร แน่นอนว่าการใช้ฟุริงานะไม่พบในนวนิยายทั่วไปของญี่ปุ่นค่ะ

อีกจุดหนึ่งคือไลท์โนเวลนิยมเขียนเป็นย่อหน้าสั้นๆ มากกว่าที่พบในนวนิยายซึ่งหน้าหนึ่งอาจมีเพียง 2-5 ย่อหน้า ดังนั้นแต่ละย่อหน้าของไลท์โนเวลจึงอาจมีเพียง 1-2 ประโยคเท่านั้น และหน้าหนึ่งอาจมีเป็นสิบย่อหน้า เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ถูกเล่าผ่านประโยคสนทนามากกว่าคำบรรยายเช่นในนวนิยายทั่วไป ดังนั้นภาพที่คนอ่านไลท์โนเวลนึกออกก็คือภาพคนสองคนคุยกัน มากกว่าภาพความรู้สึกนึกคิดของตัวละครแบบเดียวกับนวนิยายยุคเก่า ไลท์โนเวลจึงอ่านจบได้อย่างรวดเร็วเพราะไม่ต้องพิถีพิถันกับการตีความให้วุ่นวาย

หากจะลองเปรียบเทียบความรู้สึกเมื่ออ่านไลท์โนเวลกับการอ่านการ์ตูน เราจะพบว่าเหมือนกันจนน่าตกใจค่ะ ไลท์โนเวลเปิดเรื่องด้วยการบรรยายภาพตัวละครพร้อมทั้งมีภาพประกอบเพื่อให้จินตนาการของเรามีหน้าตาตัวละครอยู่เป็นพื้นฐาน หลังจากนั้นย่อหน้าสั้นๆ ก็เหมือนกรอบหนังสือการ์ตูนที่ต้องการสื่อเพียงว่าสถานที่เกิดเหตุมีลักษณะเป็นอย่างไร ตรงไหนคือโฟกัสที่ควรสนใจ เช่น เหตุเกิดในห้องเรียน และแสงอาทิตย์ยามเย็นที่สาดกระทบกระดานดำก็งดงามจนต้องหยุดยืนมอง เพียงเท่านี้ในหัวเราก็มีภาพช่องการ์ตูนเรียงกัน 3-4 ช่องปรากฏขึ้นมาอัตโนมัติ

ประโยคสนทนาซึ่งปรากฏในไลท์โนเวลคือตัวแทนของบอลลูนหรือช่องคำพูดในการ์ตูน โดยปกติเราอ่านการ์ตูน เคยสังเกตไหมคะว่าพอกลับมาอ่านอีกครั้ง จะมีบางภาพที่เราจำไม่ได้ว่าเคยเห็น นั่นเพราะเวลาอินกับการ์ตูนเต็มที่เราจะเผลออ่านแต่ช่องคำพูดในบอลลูนซึ่งเพียงพอต่อการสื่อความรู้สึกให้เข้าใจโดยเผลอมองผ่านภาพตัวการ์ตูนไป (เพราะภาพมันก็ไม่ค่อยต่างกับช่องที่ผ่านมาเท่าไร) การอ่านประโยคสนทนาในไลท์โนเวลจึงให้ความรู้สึกเช่นเดียวกับการอ่านการ์ตูนเปี๊ยบเลยค่ะ

เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่จะมีฝีมือในการวาดภาพ ดังนั้นนักเล่าเรื่องชั้นดีหลายคนซึ่งมีพรสวรรค์ในการสร้างผลงานการ์ตูนเจ๋งๆ จึงใช้ไลท์โนเวลเป็นเวทีหนึ่งในการนำเสนอผลงานของตัวเอง นักเขียนไลท์โนเวลไม่จำเป็นต้องมีศิลปะในการใช้ภาษาชั้นสูงและไม่จำเป็นต้องวาดภาพได้ (เพราะนักเขียนกับนักวาดภาพประกอบมักเป็นคนละคนกัน) เพียงแค่สามารถลำดับเรื่องราวให้น่าสนใจและสร้างคำพูดที่สื่อความรู้สึกออกมาได้ก็เพียงพอแล้วต่อการเป็นนักเขียนไลท์โนเวลค่ะ

ในไทยเองก็มีไลท์โนเวลที่เขียนจากฝีมือคนไทยออกมาขายเยอะมากนะคะ ขอย้ำว่าเยอะมากๆ! บางครั้งกินที่บนชั้นวางมากกว่าหนังสือนิยายแปลเสียด้วยค่ะ ลองสังเกตชั้นวางนิยายรักตามร้านหนังสือที่วาดปกเหมือนการ์ตูนและมีภาพการ์ตูนประกอบข้างในค่ะ ไม่น่าเชื่อว่าวงการนี้เติบโตอย่างรวดเร็วกว่าที่หลายคนคาดและสร้างนักเขียนรุ่นใหม่จำนวนมาก ถึงขนาดสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ บางแห่งแตกสำนักพิมพ์ลูกที่พิมพ์เฉพาะไลท์โนเวลอย่างเดียวเลยค่ะ

ครั้งหน้าเล่าต่อถึงกระแสความนิยมไลท์โนเวลและการต่อยอดไปสู่ธุรกิจการ์ตูนและแอนิเมชั่นซึ่งปฏิวัติวงการวันแมนโชว์เช่นในอดีตค่ะ

วันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11194 มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: