30 สิงหาคม 2551

Legend of the Galactic Heroes มหากาพย์แห่งจักรวาล [1]

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ขณะนี้ผู้เขียนมาเรียนต่ออยู่ต่างบ้านต่างเมืองค่ะ ดังนั้น แม้จะสามารถสั่งหนังสือการ์ตูนและให้ส่งมาถึงลอนดอนได้ แต่ก็คงใช้ระยะเวลาพอสมควรโดยเฉพาะช่วงแรกซึ่งได้แต่นั่งเหงาอ่านการ์ตูนเล่มเก่าไปเรื่อยๆ วิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดความเบื่อคือ "ดูซีรีส์" หรือหนังชุดขนาดยาวค่ะ และการ์ตูนชุดยาวที่พอจะนึกออกในเวลานี้ก็คือ "Legend of the Galactic Heroes" ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) มหากาพย์การสู้รบในอวกาศที่ดีที่สุดตลอดกาลค่ะ

Legend of the Galactic Heroes (LoGH) เป็นแอนิเมชั่นที่สร้างขึ้นจากนวนิยายชื่อเดียวกันนี้ ประพันธ์โดยทานากะ โยชิกิ (ผู้ประพันธ์เรื่อง Arslan นวนิยายแฟนตาซีสุดคลาสสิคอีกเรื่อง) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1982 (26 ปีก่อน) จำนวน 18 เล่ม เป็นเรื่องหลัก 10 เล่มกับ side story อีก 8 เล่ม และในปี 1988 ซึ่งเป็นปีแรกที่แอนิเมชั่นออกจำหน่าย ฉบับนวนิยายก็ได้รับรางวัล Seiun ซึ่งเป็นรางวันที่มอบให้นวนิยายแนวไซไฟยอดเยี่ยมประจำปีของญี่ปุ่น

แม้สเกลเนื้อเรื่องจะกว้างมากเนื่องจากเป็นการสู้รบในจักรวาลระหว่างสองจักรวรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งทางช้างเผือก แต่ปมทั้งหมดเกิดขึ้นรอบตัวฮีโร่สองคนเท่านั้น คนหนึ่งคือ "ไรน์ฮาร์ด ฟอน เลินแกรม" นายพลแห่งจักรวรรดิกาแลกซี (Galactic Empire) ซึ่งปกครองโดยระบบกษัตริย์ที่ดูคล้ายปรัสเซียในศตวรรษที่ 19 เขาได้รับสมญานามว่า "หนุ่มผมทอง" เพราะเป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดีที่ใครๆ ก็นินทาว่าเขาได้เป็นนายพลเพราะเป็นน้องชายของสนมไกเซอร์แห่งจักรวรรดิ อีกฝั่งหนึ่งคือ "ยัง เวนลี" เสนาธิการทหารอัจฉริยะแห่งฝ่ายปลดแอก (Free Planets Alliance) ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เป็นคนที่ทำตัวติดดินเสมอและยืดหยุ่นกับชีวิตมากกว่าไรน์ฮาร์ด

ความเคลื่อนไหวในเรื่องทั้งหมดจะมีศูนย์กลางที่สองคนนี้เป็นหลัก อาจเรียกได้ว่า LoGH ให้อารมณ์เหมือนดูสามก๊กอย่างไรอย่างนั้น เพราะนอกจากตัวละครที่โดดเด่นขึ้นมาในแต่ละช่วงมีบุคลิกชวนซาบซึ้งจนเราแทบอยากตั้งแฟนคลับ การสู้รบที่ใช้ทั้งไหวพริบในสนามรบและการเอาตัวรอดจากแรงกดดันทางการเมืองล้วนทำให้ LoGH ดูสมจริงกว่าแอนิเมชั่นแนวไซไฟของญี่ปุ่นในสายตาของชาวโลกทั่วไปซึ่งมักจะระลึกถึงหุ่นรบหรือนักบินฝีมือเทพ ไม่แปลกใจเลยที่เรื่องนี้จะยาวถึง 110 ตอนค่ะ นี่เฉพาะซีรีส์หลักนะคะ ยังมีฉบับภาพยนตร์และ Original Animation Video (OAV) อื่นๆ ที่ตัดบางช่วงของเนื้อเรื่องมาเล่าอย่างละเอียดให้ฟังอีกค่ะ

ที่จริงเวอร์ชั่นแรกที่ได้รู้จักเรื่องนี้คือเวอร์ชัน "Manga" หรือหนังสือการ์ตูนซึ่งวาดโดย "มิจิฮาระ คัทสึมิ" มีพิมพ์เป็นภาษาไทยนานมากแล้วอยู่ 3 เล่ม (คือภาคหลักเล่ม 1-2 และ Golden Wings) แต่ที่ญี่ปุ่นมี 11 เล่ม + 1 Golden Wings ค่ะ ฉบับหนังสือการ์ตูนนี้ได้รับการยอมรับว่าเล่าปูมหลังได้รายละเอียดใกล้เคียงกับฉบับนวนิยายมากกว่าในแอนิเมชั่นเสียอีกเนื่องจากใส่แนวคิดและบุคลิกของแต่ละคนได้ไม่อั้นโดยไม่คิดมากเรื่องฉากสู้รบ อาจเป็นเพราะ อ.มิจิฮาระผู้วาดไม่ได้เขียนเมคานิกหรือบรรดารูปยานรบเองค่ะ ดราม่าจึงโดดเด่นกว่าไซไฟ จำได้ว่าตอนอ่านเรื่องนี้ (น่าจะเป็นสิบปีมาแล้ว) ยังคิดอยู่ในใจว่าทำไมวางปมได้ซับซ้อนและคลี่ลายได้สนุกขนาดนี้ ตอนนั้นเชื่อว่าต้องมีเนื้อเรื่องที่ยิ่งใหญ่อยู่อีกแน่ ซึ่งกว่าจะรู้ว่าแท้จริง LoGH เป็นนวนิยายและแอนิเมชั่นระดับตำนานก็ผ่านไปนานมากแล้ว เหมือนรักแรกที่กลับมาพบกันอีกครั้งยามแก่เลยค่ะ ฮ่าๆๆ

แต่ครั้นจะเริ่มดูตั้งแต่ตอนที่ 1 ถึง 110 แค่เห็นจำนวนตอนก็ไม่กล้าแตะเสียแล้ว สำหรับผู้เริ่มต้นแนะนำให้ดูฉบับสั้นๆ ก่อนค่ะ เช่น My Conquest is the Sea of Stars (movie) ยาว 60 นาที ฉายเมื่อปี 1988 เป็นบทนำเกริ่นให้ฟังก่อนจะเริ่มดูทั้ง 110 ตอน โดยเล่าถึงการพบกันครั้งแรกกลางสนามรบของไรน์ฮาร์ดกับยังซึ่งขณะนั้นยังเป็นนายทหารชั้นผู้น้อยอยู่ แสดงให้เห็นบุคลิกและแนวคิดของทั้งสองคนได้เป็นอย่างดี อีกตอนคือ Overture to a New War (movie) ยาว 90 นาที ฉายเมื่อปี 1993 นำสองตอนแรกมาเรียบเรียงและเล่าใหม่อีกครั้งโดยมีรายละเอียดปูมหลังของยัง เวนลีเพิ่มขึ้นอีกหน่อย

ขอบคุณข้อมูลจาก Wikipedia, Anime Nfo, และ LoGH Info Center นะคะ งวดหน้าเดี๋ยวลองมาดูว่าเรื่องนี้มีกี่ตอนกันแน่ค่ะ เยอะจนชักกังวลว่าจะหาได้ครบทุกตอนไหมเนี่ย

วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11131 มติชนรายวัน

24 สิงหาคม 2551

รักอุ่นๆ บนรถเมล์สีชมพู

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

จำได้ว่าสมัยเรียนชั้น ม.5 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งตั้งอยู่กลางเมือง ความที่ขยันขันแข็งอยากเอ็นทรานซ์ได้คณะที่ต้องการก็เลยต้องอดทนเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนจนถึงเกือบหกโมงเย็น หลังจากนั้นก็นั่งรถเมล์กลับบ้าน ถึงบ้านก็ปาไปเกือบสองทุ่ม เหนื่อยค่ะแต่รู้สึกสนุกที่ได้มองผ่านหน้าต่างรถเมล์และดูคนเดินไปเดินมาริมทาง บางทีก็มองเพื่อนร่วมทางบนรถว่าเขาทำอะไรกันบ้าง บางวันก็เจอคนดีๆ ช่วยถือกระเป๋าให้ บางวันก็หวาดเสียวเวลามีผู้ชายท่าทางเมาๆ ขึ้นมาบนรถ เป็นช่วงเวลาที่สนุกกับรถเมล์ก่อนจะห่างไปอีกเป็นสิบปี

วันนี้มาเรียนอยู่ต่างประเทศเลยต้องกลับมาใช้รถสาธารณะอีกครั้ง แต่ใช้รถไฟใต้ดินเป็นหลักนะคะ ไม่ค่อยสนุกหรอกค่ะที่ต้องอยู่บนรถไฟร้อนๆ แล้วออกมาเจออากาศหนาวๆ ข้างนอก แต่ถ้าจำเป็นต้องขึ้นไปเรียนทุกวัน การมองหาสิ่งดีๆ บนรถไฟน่าจะทำให้ชีวิตมีความสุขกว่านั่งเซ็ง ซึ่ง "รักหลากสีกับรถเมล์สายรัก" ช่วยให้สายตามองหาเรื่องเล็กๆ ชวนให้หัวใจกระชุ่มกระชวยได้ดีขึ้นค่ะ

"ชิโฮะ" เด็กสาววัยมัธยมเพิ่งย้ายจากโตเกียวมาเรียนในต่างจังหวัด ทั้งที่เธอเมารถแต่ก็จำเป็นต้องขึ้นรถเมล์ไปเรียน ดังนั้น เธอจึงรู้สึกเบื่อทุกครั้งที่ต้องขึ้นรถแล้วนั่งพะอืดพะอมไปเรื่อย แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เธอลืมอาการคลื่นไส้ไปได้คือเด็กหนุ่มต่างโรงเรียนที่ขี่จักรยานไปเรียนในเวลาเดียวกับที่เธอขึ้นรถ ชิโฮะแอบมองเขาทุกวันและคิดว่าเป็นสิ่งดีๆ ตอนเริ่มต้นวันใหม่ที่ทำให้หัวใจของเธอเป็นสีชมพู

โชคช่วยเมื่อวันหนึ่งรถเมล์เบรกกะทันหันจนชิโฮะหัวกระแทกกระจก เด็กหนุ่มขี่จักรยานเจ้าเก่าจึงหยุดและหันมามองรถเมล์ เขาสบตาเข้ากับชิโฮะและแอบขำในความเปิ่นเป๋อของเธอ นั่นคือครั้งแรกที่ได้ทำความรู้จักกันอย่างไม่เป็นทางการ

ในวันฝนตก รถเมล์แน่นมากกว่าทุกวันจนชิโฮะอดนั่งริมหน้าต่างเพื่อส่องหนุ่มน้อยเหมือนเคย โชคร้ายกลับกลายเป็นโชคดีเพราะหนุ่มจักรยานก็ขึ้นรถเมล์มาด้วย เกือบจะได้ทำความรู้จักอยู่แล้วเชียว วิญญาณละครไทยเข้าสิงคนเขียนแน่ๆ ค่ะ เพราะเพื่อนหนุ่มน้อยจักรยานเรียกให้ไปนั่งด้วยกัน ระหว่างคุยเพื่อนก็ชวนให้นินทาคนเสียนี่ แล้วก็ไปนินทาว่าหนุ่มจักรยาน "มัตซึน" ไม่ชอบผู้หญิงที่พูดสำเนียงโตเกียวเนื่องจากเคยไปทัศนศึกษาที่โตเกียวแล้วโดนดูถูกว่าเขาพูดสำเนียงบ้านนอก

ชิโฮะก็ดันได้ยินเสียงนินทาเสียด้วยค่ะ! แล้วมัตซึนค่อยมาทราบทีหลังว่าชิโฮะก็เพิ่งมาจากโตเกียวเสียด้วย อกหักทั้งที่ยังไม่ทันจีบอย่างนี้ต้องเรียกแห้วค่ะ น้ำเน่ามาก แต่ชอบจังเลยค่ะ

สุดท้ายก็ตามสไตล์การ์ตูนโรแมนซ์ทั่วไป มัตซึนตามมาขอโทษและปรับความเข้าใจ กลายเป็นความรักและคบกันเป็นแฟนในที่สุด

เป็นเรื่องที่ธรรมดาและพล็อตเก่าแก่มากใช่ไหมคะ แต่การอ่านหนังสือหรือการ์ตูนที่เล่าเรื่องราวที่เราคุ้นเคยหรือรู้สึกอ่านแล้วเป็นสุขก็มีประโยชน์ในแง่เป็นงานอดิเรกเพื่อการผ่อนคลาย ไม่ว่าจะอ่านกี่รอบก็รู้สึกสบายใจได้ เหมาะกับการอ่านตอนเครียดๆ หรือชีวิตห่อเหี่ยวเป็นที่สุดค่ะ

ในเล่มนี้ยังมีความรักกุ๊กกิ๊กที่เกี่ยวข้องกับรถเมล์อีกหลายเรื่องนะคะ อ่านแล้วก็รู้สึกว่าชีวิตน่าเบื่อในรถไฟใต้ดินก็ไม่ได้แย่เสียทีเดียวนัก ได้เห็นคนหลากหลายเชื้อชาติแต่งกลายแปลกตาขึ้นรถมาด้วยอารมณ์ต่างๆ แล้วก็สนุกค่ะ แถมก่อนไปเรียนหนังสือต้องเดินข้ามลอนดอนบริดจ์ไปขึ้นรถไฟด้วย อากาศยามเช้ากับสะพานสวยๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ลอนดอนบริดจ์คือวิวร้อยล้านที่นักท่องเที่ยวหลายคนฝันจะมาเห็น แต่เราได้เห็นทุกวัน! ถ้าไม่เรียกว่าโชคดีก็ไม่ทราบจะเรียกอะไรแล้วค่ะ

การมองหาความสุขเล็กๆ ในที่ทำงานหรือสถานที่เรียนถือเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติของการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขนะคะ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนมุมมองก็ทำให้โลกแห่งความเป็นจริงกลายเป็น "โลกแห่งความเป็นจริงที่สวยงาม" ได้แล้ว

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11124 มติชนรายวัน

ซามูไรซูเปอร์กุ๊ก" กองทัพเดินด้วยท้องและของอร่อย

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ก่อนที่จะมาเรียนต่อต่างประเทศ รุ่นพี่ที่เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศก็พูดติดตลกเกี่ยวกับอาหารการกินในต่างแดนว่า "ข้อดีของการที่เราไปอยู่เมืองนอกนานๆ คือเราจะรักเมืองไทยมากขึ้น รักอาหารไทยและมีความสุขเวลากินข้าวสวยร้อนๆ จนแทบไม่อยากกินอาหารของชาติอื่นเลย" พูดเสร็จรุ่นพี่ก็ยิ้มแป้นนั่งดูเรากินขนมปังต่อ

บางทีความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยก็ทำให้เราลืมไปว่าแค่ข้าวร้อนๆ ก็อร่อยอย่างคาดไม่ถึงได้นะคะ ยิ่งถ้ามีกับข้าวอร่อยๆ มาเคียงก็เหมือนขึ้นสวรรค์

ความรู้สึกซาบซึ้งกับอาหารพื้นๆ ที่ไม่ได้หรูหราเกิดขึ้นเมื่อได้อ่าน "ซามูไรซูเปอร์กุ๊ก" ค่ะ ว่าด้วยทหารเดินเท้าซึ่งเป็นทหารที่มีคุณค่าน้อยที่สุดในกองทัพนายหนึ่งซึ่งไม่เก่งด้านสู้รบเอาเลย แต่เขามีฝีมือในการปรุงอาหารอย่างมาก เขาคือ "ยาฮาจิ" ชายร่างเล็กที่มักจะยิ้มอย่างอารมณ์ดีเมื่อได้ปรุงอาหารใหม่ๆ

ยาฮาจิเกิดในยุคศึกสงครามสมัยที่ยังใช้ธนูเยอะกว่าปืนไฟน่ะค่ะ ในตอนนั้นทุกแห่งประสบปัญหาข้าวยากหมากแพง ชาวไร่ชาวนาอดอยากและล้มป่วยเสียชีวิตมากมาย ทำให้ชายหนุ่มหลายคนจำใจเข้ามาเป็นทหารในกองทัพเพื่อให้มีกินไปวันๆ แต่กองทัพเองก็ใช่ว่าจะอุดมสมบูรณ์ บางทัพของตระกูลที่ผู้นำไม่ได้ร่ำรวยก็อาจให้ทหารได้กินแค่ข้าวตากแห้งชืดๆ กับบ๊วยตากแห้งที่ช่วยเพิ่มรสเค็มปะแล่มเป็นเครื่องเคียงเท่านั้น เนื้อสัตว์แทบจะเป็นอาหารในฝันเสียมากกว่าเพราะต้องล่าเอาตามป่าเขา ดังนั้น ทหารหลายคนในกองทัพจึงสุขภาพทรุดโทรมจากการได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

คนที่เห็นปัญหานี้และตัดสินใจนำความรู้ที่มีออกมาใช้ปรุงอาหารให้เพื่อนทหารด้วยกันคือยาฮาจินี่ล่ะค่ะ เขายอมทำสิ่งที่เสียศักดิ์ศรีนักรบอย่างการไปหยิบเอาอาหารแห้งในตัวทหารที่เสียชีวิตแล้วมาปรุง หรือการจุดไฟหุงต้มอาหารทั้งที่กลางสนามรบเขาห้ามจุดไฟ นิสัยบ้าบิ่นของยาฮาจิก็ทำให้เขาเกือบต้องหัวกุดเมื่อแม่ทัพทราบเรื่องและโกรธมาก ยาฮาจิได้รับโอกาสให้ทำอาหารมอบให้แม่ทัพขี้โมโหและโชคดีที่เขาทำอร่อยจึงได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าครัวในที่สุด เรียกว่าเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในชีวิตเขาเลยค่ะ

เสน่ห์ของการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ความมุ่งมั่นของยาฮาจิเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ประพันธ์เรื่องนี้บรรยายไว้ละเอียดยิบว่าอาหารจานนั้นมีส่วนประกอบอะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง ที่น่าประทับใจจนอยากกินคงเป็นข้าวต้ม 5 สีค่ะ อาหารชุดนี้ยาฮาจิทำเพื่อมอบให้จูเบ นายของตนที่ล้มป่วยและเจ็บคอจนกินไม่ได้แม้แต่ข้าวต้ม เขาปรุงอาหารขึ้นมา 5 ชนิด ซึ่งต้องกินเรียงลำดับกัน ได้แก่ ซุปใสทำจากขิงและน้ำข้าวช่วยลดอาการเจ็บคอ ต่อที่ตัวเพิ่มความอยากอาหารคือข้าวต้มสีทองจากปลาฮาโมะและเห็ดมัตสึทาเคะเป็นซุปลื่นๆ คล่องคอ (อ่านถึงถ้วยที่สองก็เริ่มรู้สึกว่าน้ำลายสอปากแล้วค่ะ) ถ้วยที่สามคือข้าวต้มสีดำผสมสมุนไพรหลากหลาย มีดักแด้กับตัวอ่อนแมลงบดละเอียดเพิ่มสารอาหาร (คงเพิ่มโปรตีนแน่นอน คนไทยเรานิยมมานาน) ถ้วยที่สี่เป็นข้าวต้มขาวจากข้าวสดซึ่งไม่ใช่ข้าวสารแห้งแบบที่เรากินกันทุกวันนี้ค่ะ เป็นข้าวใหม่ซึ่งยังมีคุณค่าทางอาหารอยู่มาก และถ้วยสุดท้ายคือข้าวต้มผสมเห็ดไมทาเคะและเนื้อสัตว์ เจ้าเห็ดไมทาเคะช่วยรักษาอาการอักเสบได้ดีน่าจะช่วยอาการป่วยได้มาก

อ่านจบห้าถ้วยก็ต้องหยิบทิชชูมาซับน้ำลายสักหน่อยค่ะ ไม่น่าเชื่อว่าแค่ข้าวต้มก็ยังมีวิธีการทำหลากหลายและได้ประโยชน์ต่างๆ กันขนาดนี้ ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกทึ่งในอาหารเหลือเกิน

อ่านเรื่องนี้จบแล้วอยากกินข้าวสวยร้อนๆ ขึ้นมาจับใจเลยค่ะ แต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในไทย มองซ้ายมองขวาก็เจอแต่ขนมปัง พาสต้า ข้าวอินเดีย คิดถึงวันสุดท้ายที่ได้กินข้าวหอมมะลิหุงใหม่ๆ เม็ดเรียวๆ แล้วน้ำตาจะร่วงค่ะ ไม่ใช่ไม่มีเงินซื้อข้าวกับหม้อนะคะ แต่ไม่มีฝีมือค่ะ...หุงทีไรไม่ดิบก็แฉะทุกที

สรุปว่า ยาฮาจิให้ข้อคิดกับเราว่าการกินอย่างเป็นสุขอาจไม่ใช่เพราะได้กินอาหารอร่อย แต่เพราะเรากินแล้ว "ระลึกในความอร่อย" ของอาหารมากกว่าค่ะ (เพียงแต่ถ้าอร่อยด้วยก็คงจะดีมาก)

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11117 มติชนรายวัน

10 สิงหาคม 2551

"โอเดตต์"ความเป็นมนุษย์เริ่มที่หัวใจ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

จากประสบการณ์ในการพูดคุยอย่างจริงจังกับคนที่ไม่ได้ชอบอ่านการ์ตูน ความเห็นของคนเหล่านี้ต่อคนที่อ่านการ์ตูนมีเป็น 2 แบบค่ะ แบบแรกออกในเชิงบวกสักหน่อย คือ มองว่าคนที่อ่านการ์ตูนน่าจะเป็นคนอารมณ์ดีและไม่ซีเรียสกับชีวิตมาก กับแบบที่สอง คิดว่าคนที่อ่านการ์ตูน (ในระดับสะสมคือเกินกว่าอ่านเอาสนุกทั่วไป) เป็นคนไม่รู้จักโต มีความคิดเป็นเด็ก ไม่ยอมเผชิญหน้ากับความเป็นจริงและหลงใหลในโลกของจินตนาการ

ในฐานะคนอ่านการ์ตูนกลับรู้สึกว่าทั้งสองความเห็นมาจากสายตาของคนที่ไม่ได้อ่านการ์ตูนจริงๆ ด้วยค่ะ ความจริงเป็นอย่างไรไม่สำคัญ แต่สายตาจากคนในสังคมที่มองก็ตัดสินไปแล้วให้คนที่เดินถือการ์ตูนอ่านในไทยกลายเป็นประชากรอีกชนชั้นหนึ่ง ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจนี้น่าจะคล้ายๆ กับที่ "โอเดตต์" หุ่นยนต์แอนดรอยด์สาวรู้สึก

"โยชิซาว่า โอเดตต์" คือหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ ผลิตโดยศาสตราจารย์โยชิซาว่า อัจฉริยะด้านหุ่นยนต์ซึ่งอายุยังน้อยและเฮฮาปาร์ตี้กับการสร้างหุ่นให้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด สิ่งที่ยังขาดไปสำหรับโอเดตต์คือ "ความเป็นมนุษย์" หมายถึงความรู้สึกสุขทุกข์สนุกสนาน โอเดตต์จึงอยากเข้าโรงเรียนมัธยมปลายเพื่อหาเพื่อนและเรียนรู้สังคมมนุษย์จากเหล่าเพื่อนสาวของเธอโดยปิดเรื่องที่เธอเป็นหุ่นยนต์แรงช้างไว้เป็นความลับ

ยิ่งได้อยู่ร่วมกับมนุษย์ โอเดตต์ก็ยิ่งรัก "ความเป็นตัวเอง" น้อยลงและอยากจะเหมือนเพื่อนให้มากขึ้น พัฒนาการทางจิตใจขั้นนี้เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปเลยค่ะ วัยมัธยมเป็นวัยที่สังคมเพื่อนมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง อย่างน้อยเขาก็ใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าอยู่กับครอบครัวเยอะ การยอมรับจากเพื่อนสำคัญกว่าพ่อแม่ด้วยเหตุผลเดียวกัน และการที่ตัวเองแตกต่างจากคนอื่นถือเป็นเรื่องน่าอับอายมากกว่าภูมิใจ จนกว่าจะค้นหาว่าแท้จริงตัวเขาเองก็มีเอกลักษณ์ คือ มีดีในแบบของตัวเองนั่นล่ะค่ะถึงจะได้เข้าวัยผู้ใหญ่เสียที

โอเดตต์เข้าใจตัวเองอย่างแจ่มแจ้งอย่างรวดเร็วเพียงแค่จบตอนแรกค่ะ เธอขอร้องให้ศาสตราจารย์สร้างความรู้สึก "อร่อย" ให้เธอเมื่อกินอาหารทั้งที่อาหารของเธอเพียงแค่ชาร์ตไฟฟ้าก็เพียงพอแล้ว ขอร้องให้ทำน้ำตาที่ไหลออกมาตอนรู้สึกเสียใจ แน่นอนว่าเธอมีน้ำตาไว้ล้างฝุ่นที่ตาแต่ความรู้สึกเสียใจคืออะไรก็ไม่รู้ และขอร้องให้ลดพละกำลังช้างสิบเชือกของเธอเท่ากับมนุษย์คนอื่นๆ สุดท้ายศาสตราจารย์ก็ใจอ่อนยอมทำให้จนโอเดตต์ใกล้เคียงกับมนุษย์ธรรมดา

แต่กลับมีเหตุการณ์ที่ทำให้เธอนึกเสียใจในการทิ้งเอกลักษณ์ของตัวเองไปค่ะ เธอกับเพื่อนตกลงไปในบ่อน้ำแห้งขอดโดยไม่ได้ตั้งใจ โชคไม่ดีที่เพื่อนสาวมีอาการหอบหืดกำเริบและกำลังจะเสียชีวิต แม้โอเดตต์จะพยายามปีนขึ้นไปจากบ่อก็ทำไม่ได้เพราะเธอไม่ใช่หุ่นยนต์แรงช้างอีกแล้ว เธอเป็นเพียงเด็กสาวธรรมดาและกำลังจะปล่อยให้เพื่อนตาย

ผู้วาดยังไม่ทำท่อน้ำตาแตกตั้งแต่ต้นเรื่องค่ะ โอเดตต์และสหายรักรอดทั้งคู่ แต่สิ่งที่น่าซาบซึ้งยิ่งกว่าการรอดตายคือโอเดตต์เข้าใจแล้วว่าเธอก็เป็นเธอ มีดีที่ความเป็นตัวเธอเอง ซึ่งแม้จะต่างจากคนอื่นอยู่หลายขุมเพราะเป็นหุ่นยนต์แต่เธอก็มีสิ่งที่มนุษย์ไม่มีมากมาย

เรื่องนี้อ่านได้เรื่อยๆ แต่กลับดึงดูดให้วางมือไม่ลงค่ะ เป็นเรื่องเล่าเรียบง่ายของประชากรอีกชนชั้นหนึ่งซึ่งถูกมองว่าต่างจากมนุษย์ทั่วไปทั้งที่ภายนอกก็เหมือนชาวบ้าน ให้อารมณ์คล้ายนักอ่านการ์ตูนหลายคนที่หากหน้าตาเลยวัยรุ่นไปแล้วแต่หยิบการ์ตูนขึ้นมาอ่านเมื่อไร ก็จะถูกมองว่าเป็นประชากรอีกประเภทหนึ่งและถูกตัดสินว่าเป็นคนอย่างนู้นอย่างนี้ไปทันที การค้นหาความเป็นมนุษย์ของหุ่นยนต์อย่างโอเดตต์จึงอาจเปรียบได้กับการค้นหาความภูมิใจในตัวเองของนักอ่านการ์ตูนด้วยค่ะ วันใดที่ภูมิใจว่าตัวเองชอบอ่านการ์ตูน วันนั้นคือวันที่เริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่แล้ว

แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมด้วยนะคะ! ก่อนที่โอเดตต์จะเผยบรรดาสายไฟและแผงวงจรของตัวเองต่อหน้าเพื่อน เธอขอร้องให้เพื่อนหลับตาเสียก่อนเพราะเธอไม่มีเวลามากพอจะอธิบายที่มาที่ไป เช่นเดียวกับจิตแพทย์ที่ชอบอ่านการ์ตูนคนนี้ แม้จะย่องไปร้านการ์ตูนและซื้ออย่างสง่างามแต่ก็จะไม่นั่งอ่านการ์ตูนตามที่สาธารณะค่ะ

ไม่ได้อยากปิดบังแต่ก็ไม่ได้อยากป่าวประกาศ ความภูมิใจในตัวเองต้องสมดุลกับความเหมาะสมของการเป็นส่วนหนึ่งในสังคมด้วย ซึ่งโอเดตต์นำเสนอการทดลองหาจุดสมดุลนี้ได้อย่างสนุกเลยล่ะค่ะ

จากมติชนรายวันฉบับวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11110

02 สิงหาคม 2551

ฝันอันสูงสุดของนักช็อป

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

"ช็อปปิ้ง" หมายถึงการซื้อของในความคิดของคนทั่วๆ ไป แต่สำหรับบางคน การช็อปปิ้งเป็นมากกว่าแค่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค แต่มันคือ "พิธีกรรม" ที่ส่งผลทางจิตใจในหลายเรื่อง เช่น ผ่อนคลายความเครียด สนุกสนานเฮฮาเหมือนเที่ยวสวนสนุก หรืออาจจะเป็นเป้าหมายในชีวิตเพื่อกระตุ้นให้อดทนสู้ทำงานอย่างมุ่งมั่นโดยหวังว่าสักวันจะเก็บเงินได้เพียงพอที่จะซื้อของที่หมายปอง ถ้าเห็นคนใกล้ตัวบ้าช็อปปิ้งแล้วรู้สึกหงุดหงิด ลองอ่าน "โตเกียว อลิซ" ดูนะคะ รับรองว่าจะหงุดหงิดน้อยลง (เพราะไม่อยากเชื่อว่าจะมีคนบ้าช็อปได้ขนาดนี้)

"อาริสุกาวะ ฟู" นางเอกของเรื่องคือเด็กสาวทำงานออฟฟิศธรรมดาที่นับถือการช็อปปิ้งเป็นลัทธิประจำใจ หลายคนอาจใช้ความสงบ ความดี หรือบุคคลที่นับถือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว แต่สำหรับฟูแล้ว เธอปรารถนาเพียงการช็อปปิ้ง ขอให้ได้ซื้อของเถอะ สิ่งร้ายๆ ก็จะถูกปัดเป่าให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ปัญหาที่เธอมักจะพบเป็นประจำคือตัวเลขในบิลบัตรเครดิตปลายเดือนค่ะ เพราะทั้งที่คิดว่าจะประหยัดเงินอดมื้อกินมื้อเพื่อสอยกระเป๋าชาแนลรุ่นคัมบอนไลน์ (Cambon line) สีชมพูน่ารักมานอนกอด (เธอคิดจะเอามากอดบนเตียงจริงๆ) แต่พอเผลอเห็นข้าวของที่ลดราคาตามห้างทำตาระยิบระยับแล้วขอไปอยู่ด้วย เธอก็ใจอ่อนซื้อมาจนค่าใช้จ่ายเกือบติดลบทุกเดือน แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดแต่ฟูก็ไม่เคยเข็ด เธอยังคงช็อปต่อไปและมุ่งมั่นฝันถึงคัมบอนไลน์ทุกคืน

ในที่สุดวันที่ต้องการก็มาถึง ฟูชวนเพื่อนสาวไปห้างสรรพสินค้าด้วยกันเพื่อซื้อคัมบอนไลน์ให้ได้ เธอถึงขนาดต้องเอาที่ปิดตามาปิดไว้เพื่อไม่ให้เผลอสบสายตาออดอ้อนจากบรรดาสินค้าที่เรียงรายอยู่ก่อนถึงเคานท์เตอร์กระเป๋าชาแนล (ขนาดนั้นเลยนะ) แม้จะเตรียมการอย่างดี แต่ช่วงลดถล่มราคาของบาร์นนี่ส์ก็ทำให้ฟูและเพื่อนขาดสติ ช็อปกระจายจนสิ้นเนื้อประดาตัวและต้องพลาดหวังจากชาแนลสุดรักอีกครั้งค่ะอ่านแล้วก็ตลกทั้งฟูและเพื่อนของเธอค่ะ ลองคิดเล่นๆ ดูว่าถ้าฟูชอบชาแนลมาก อย่างนี้ไปทำงานเป็นพนักงานขายกระเป๋าชาแนลเลยไม่ดีกว่าเหรอ

คำตอบอยู่ในตอนถัดไปไม่กี่ตอนค่ะ เมื่อฟูบ้าช็อปปิ้งอีกครั้งและซื้อช็อกโกแลตมามากจนกินไปถึงชาติหน้าก็ไม่หมด เธอจึงนำมาจัดเป็นดิสเพลย์แล้วยกให้หัวหน้างานของเธอค่ะ เดาว่าเป็นการถ่ายเทสต๊อคสำหรับนักช็อปเพื่อเตรียมพื้นที่ให้ซื้อของมาเพิ่มอีกได้ ฟูมอบให้หัวหน้าในวันวาเลนไทน์โดยไม่คิดอะไรแต่รู้สึกว่าหัวหน้าจะคิดค่ะ เขาเห็นรูปกระเป๋าชาแนลบนโต๊ะทำงานของฟูและทราบว่าเป็นสิ่งที่เธออยากได้ ก็เลยซื้อมาให้เป็นของขวัญขอบคุณซะเลย

อ่านถึงตรงนี้แล้ววี้ดวิ้วในใจค่ะ คิดว่าฟูคงดีใจกรี๊ดกร๊าดที่ได้ของที่ต้องการแน่นอน แต่...ไม่ใช่อย่างนั้นเลยค่ะ! หัวหน้าไม่เข้าใจถึงวิญญาณนักช็อป! สิ่งที่เธอต้องการไม่ใช่กระเป๋าชาแนล แต่เป็นความรู้สึกที่ได้เก็บเงินและเฝ้ามองอยู่ทุกวัน จนวันที่เงินถึงก็เดินไปซื้อมานอนกอดต่างหาก! ของฟรีที่มีคนยื่นให้มันไร้ค่าสิ้นดี ส่งผลให้ฟูรับกระเป๋ามาและวางไว้ห่างๆ ด้วยความเสียใจ

แม้จะไม่ค่อยเข้าใจสิงห์นักช็อปเท่าไรแต่ก็เห็นใจฟูค่ะ ศรัทธาของคนเราตีความด้วยสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจไม่ได้ทั้งหมดหรอก แต่ก็ยังงงอยู่ดี งงได้สองวันก็บรรลุเลยค่ะ เมื่อฝากเพื่อนซื้อเครื่องสำอางในร้าน duty free สนามบินเพราะถูกกว่าในห้างสรรพสินค้า เพื่อนก็ใจดีน่ารักมากค่ะ ซื้อแล้วส่งไปรษณีย์มาให้โดยคิดแค่ค่าสินค้ากับค่าส่ง ไม่คิดค่าเหนื่อยหรือค่าแรงแม้แต่นิดเดียว ทีแรกนึกว่าเขาคงเกรงใจเรา แต่ไม่ใช่ค่ะ เธอบอกว่า...

"มีอีกก็ฝากอีกได้นะ ถ้าไม่รู้ราคาก็ถามได้ เรามีบินบ่อยๆ (เป็นแอร์ฯ น่ะค่ะ) รับรองไม่คิดค่าแรง เพราะเราชอบช็อปปิ้งน่ะ"

สรุปว่าเธอชอบความรู้สึกที่ได้เดินดูสินค้า เปรียบเทียบ ตัดสินใจ จ่ายตังค์ (ถ้าจ่ายน้อยจะยิ่งดี หรือเพื่อนจ่ายแต่เราขอไปเดินช่วยเลือกก็จะดีมาก) หลังจากซื้อแล้ว ถ้าเป็นของชอบก็อาจจะเอากลับมากอด แต่ถ้าเฉยๆ อาจจะไม่ใช้ไม่แตะเลยก็ได้ค่ะ นี่น่ะหรือ...ลัทธิช็อปปิ้ง

คงต้องลองศึกษาสัจธรรมนักช็อปจากการ์ตูนเรื่องนี้อีกซักหน่อยค่ะ แค่ทุกวันนี้ช็อปการ์ตูนเดือนละหลายพันบาทก็แทบต้องกินแกลบแทนข้าวอยู่แล้ว อย่าต้องให้ช็อปปิ้งขึ้นสมองแบบสาวฟูเลยค่ะ งานนี้กระทั่งแกลบอาจจะไม่มีให้กินก็ได้

จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่วันที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11103