27 กันยายน 2551

Detroit Metal City ฤๅเฮวี่เมทัลจะครองเมือง [2]

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากสัปดาห์ก่อนกล่าวถึงความโด่งดังของหนังสือการ์ตูนตลกร้ายเสียดสีความคลั่งไคล้ดารานักร้องอย่างหน้ามืดตามัวใน Detroit Metal City (DMC) ไปแล้ว วันนี้จะขอเล่าต่อถึงความโดดเด่นของ DMC ฉบับแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) จัดทำในรูปแบบ OVA (Original Video Animation) ซึ่งเป็นหนังการ์ตูนจำหน่ายในรูปแบบ DVD โดยไม่ฉายทางโทรทัศน์บ้างค่ะ

ก่อนที่จะกล่าวถึงแอนิเมชั่น DMC ลองนึกย้อนไปถึงหนังการ์ตูนทางช่องเก้าช่วงเช้าๆ ที่เราเคยดูนะคะ หนังการ์ตูนในยุคก่อนแม้ว่าจะสร้างจากเนื้อเรื่องในหนังสือการ์ตูนแต่ก็มักใช้ทีมงานคนละทีมกัน ผลคือภาพที่ออกมาในหนังการ์ตูนจะต่างจากในหนังสืออยู่พอสมควร ลายเส้นก็ไม่เหมือนเพราะใช้คนวาดคนละคนกัน ฉากหรือมุมมองส่วนใหญ่ต่างกันทั้งหมด ดังนั้น จึงให้อารมณ์แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างฉบับหนังสือการ์ตูนและแอนิเมชั่น ตัวอย่างหนังการ์ตูนแนวนี้คือดรากอนบอลและเซนต์เซย่าค่ะ โดยเฉพาะเซนต์เซย่าซึ่ง อ.คุรุมาดะ มาซามิ ผู้วาดฉบับหนังสือการ์ตูนก็โด่งดังมากอยู่แล้ว แต่ฉบับแอนิเมชั่นให้ อ.อารากิ ชินโก ซึ่งโด่งดังมากๆ อีกคนออกแบบตัวการ์ตูนให้ ดังนั้น เซนต์เซย่าในความทรงจำจึงมี 2 เวอร์ชั่นเสมอ

นั่นคือยุคแรกค่ะ ยุคต่อมาของแอนิเมชั่นที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนคือยุคที่เริ่มเอาภาพในหนังสือการ์ตูนใส่ลงไปในแอนิเมชั่นด้วยเนื่องจากบางภาพในหนังสือการ์ตูนเป็นภาพที่น่าจดจำ เวลาชมแอนิเมชั่นแล้วเห็นภาพแบบเดียวกับหนังสือการ์ตูน ความรู้สึกของเราคือหัวใจพองโตขึ้นจากการย้อนระลึกถึงหนังสือการ์ตูนที่อ่านผ่านมา แม้ว่าแอนิเมชั่นจะทำออกมาหยาบหรือแย่แค่ไหน ภาพความงดงามของหนังสือการ์ตูนที่แทรกเข้ามาก็ช่วยหักกลบลบหนี้ไปได้บ้าง แต่ข้อเสียคือนวัตกรรมการทำให้ภาพสองมิติขยับได้ยังไม่ก้าวหน้านักค่ะ ดังนั้น แอนิเมชั่นที่ใช้เทคนิคนี้จึงให้ความรู้สึกเหมือนดู "หนังตะลุง" คือเหมือนดูภาพบนกระดาษขยับไปมาบนแกนเดียว ซึ่งต่างกับหนังสือการ์ตูนที่เราสามารถจินตนาการภาพบนกระดาษให้ขยับในหัวเราเป็นสามมิติได้ ดังนั้น แอนิเมชั่นยุคนี้จึงไม่ขายชื่อเสียงของผู้กำกับฯหรือทีมออกแบบตัวการ์ตูน แต่ขาย "นักพากย์" แทน ซึ่งน่าจะเป็นองค์ประกอบที่ดูศิลป์ที่สุดแล้ว

มาถึงยุคแอนิเมชั่น DMC เสียทีค่ะ เป็นยุคปฏิวัติแอนิเมชั่นอีกขั้นเมื่อแอนิเมชั่นกลายเป็นเพียง "ช่องทางในการถ่ายทอดหนังสือการ์ตูน" อีกประเภทหนึ่งไปเสียแล้ว เนื่องจากแอนิเมชั่น DMC ยกภาพจากหนังสือการ์ตูนมาทั้งกรอบไม่มีตัดทอน อาจเพิ่มบางภาพเข้าไปเพื่อให้การเคลื่อนไหวนุ่มนวล แต่ภาพที่เราเห็นในหนังสือการ์ตูนเป็นอย่างไร ในแอนิเมชั่นก็เป็นอย่างนั้น ส่งผลให้ทั้งลายเส้นและมุมมองซึ่งนักวาดการ์ตูนอุตส่าห์คิดมาอย่างดีไม่สูญเปล่า แล้วต่างจากยุคหนังตะลุงอย่างไร ต่างมากเลยค่ะเพราะแอนิเมชั่น DMC ไม่ให้ความสำคัญกับขนาดจอภาพอีกต่อไป หมายถึงว่าถ้าภาพในการ์ตูนเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวสูง ภาพที่ปรากฏบนจอก็จะเป็นภาพแนวสูงไม่เต็มจอ และล้อมด้วยพื้นหลังสีดำสนิทซ้ายขวา ไม่จำเป็นที่ต้องใส่ภาพให้เต็มจอเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว พูดง่ายๆ คือเมื่อดูแอนิเมชั่น DMC ก็เหมือนดูแต่ละกรอบในหนังสือการ์ตูนที่ขยับได้และมีเสียงพากย์โดยเราไม่ต้องเมื่อยอ่านตัวหนังสือในบัลลูนนั่นเอง (แต่อาจต้องอ่านซับไตเติ้ลแทน)ความน่าทึ่งของแอนิเมชั่น DMC ยังไม่หมดแค่งานภาพที่ไม่ลดทอนความงามของต้นฉบับเท่านั้นนะคะ เสียงพากย์และเพลงคือจุดเด่นอีกจุดหนึ่งซึ่งทำให้ความฝันของนักอ่านการ์ตูนเป็นจริง บางครั้งเราอ่านการ์ตูนเกี่ยวกับดนตรีก็อยากได้ยินบ้างว่าเพลงในเรื่องมันเจ๋งขนาดไหน แอนิเมชั่น DMC สร้างมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะค่ะ ใส่เพลงที่เจ๋งสมราคาคุยลงไปช่วยให้เรารู้สึกซาบซึ้งในเนื้อเรื่องมากยิ่งขึ้น

ถือเป็นก้าวแรกๆ ที่ทำให้หนังสือการ์ตูนกลายเป็นจินตนาการที่จับต้องได้ง่ายโดยไม่ต้องอาศัยพลังความคิดของเราเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีร้านอาหารที่ทำแต่เมนูในหนังสือการ์ตูนเกิดขึ้นก็ได้ค่ะ เรียกว่าอ่านการ์ตูนจบแล้วอยากรู้รสชาติของอาหารที่อยู่ในเรื่อง เราก็สามารถเดินไปกินและ "อิน" กับเนื้อเรื่องได้มากยิ่งขึ้น ไปๆ มาๆ วัฒนธรรมหลายอย่างในอีกสิบปีข้างหน้าอาจมีที่มาจากหนังสือการ์ตูนก็เป็นได้

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11159 มติชนรายวัน

20 กันยายน 2551

Detroit Metal City ฤๅเฮวี่เมทัลจะครองเมือง [1]

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ดนตรีแนวเฮวี่เมทัล (Heavy metal) อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูนักฟังเพลงส่วนใหญ่เท่าไรนักเพราะไม่ใช่เพลงที่เหมาะกับวันอากาศดีๆ และนอนเล่นอยู่ในสนามหญ้าที่กรุ่นด้วยกลิ่นดอกไม้หวานแหววแน่นอนค่ะ ลองนึกถึงคอนเสิร์ตฮอลล์แคบๆ และเสียงกลองกับกีตาร์ดังสนั่น ผสมกับเสียงแหบพร่าของนักร้องที่ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังจะโดนดูดลงนรกไปพร้อมกับเพลงที่มีเนื้อหารุนแรง โดยส่วนตัวก็ไม่ได้ฟังบ่อยนักค่ะ แต่ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเพลงของวง Metallica ทีไร ไม่ทราบทำไมหัวมันโยกไปเองทุกที เผลอแป๊บเดียว อ้าว...ซื้อ CD ของเขามาตั้งแต่เมื่อไหร่กันเนี่ย

เพลงเฮวี่เมทัลมีอิทธิพลต่อจิตใต้สำนึกเหลือเกินค่ะ และไม่น่าเชื่อว่าวงการที่เต็มไปด้วยความร้อนระอุเช่นนี้จะถูกนำมาวาดล้อเลียนในการ์ตูนและโด่งดังเป็นพลุแตกในญี่ปุ่น นั่นคือตำนานของ Detroit Metal City (DMC) การ์ตูนที่วาดโดย อ.คิมิโนริ วาคาสุงิ ตั้งแต่ปี 2005

"โซอิจิ เนงิชิ" เด็กหนุ่มหน้าเปิ่นเป๋อซึ่งเติบโตในบ้านชานเมืองและทำไร่เลี้ยงวัวเป็นอาชีพในครอบครัวฝันอยากเป็นนักร้องดังในเมืองกรุง เขารักเพลงแนวหวานแหววโรแมนติคและเต็มไปด้วยความรักสีชมพู แน่นอนว่าฝีมือกีตาร์โปร่งแสนหวานของเขาก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร โซอิจิจึงตัดสินใจแน่วแน่มุ่งสู่โตเกียวเพื่อเป็นศิลปินและนักแต่งเพลงให้ได้

และฝันของโซอิจิก็เป็นจริง...บางส่วนค่ะ เพราะเขากับเพื่อนร่วมทีมอีกสองได้เปิดตัวกับค่ายเพลงอินดี้แนวเฮวี่เมทัล กลายเป็นวง DMC และตัวเขาใช้ชื่อปลอมว่า "โยฮาเนส ครอยเซอร์ที่ 2" โซอิจิต้องใส่ชุดประหลาดและแต่งหน้าสไตล์คล้ายๆ วง Kiss ทั้งที่เขามีเสียงใสปิ๊งยามร้องเพลงรัก แต่พอได้สวมชุด DMC โซอิจิก็ประดุจองค์ลง เขาดีดกีตาร์ด้วยเทคนิคอลังการและร้องเพลงด้วยเสียงแหบต่ำอย่างร็อคเกอร์ แน่นอนว่าเนื้อเพลงก็ล้วนกล่าวถึงเรื่องเย้ยศีลธรรมทั้งมวล ทั้งฆ่า ข่มขืน อาชญากรรม จนถึงขนาดมีคนร่ำลือว่าหากครอยเซอร์ที่ 2 ไม่ได้มาเป็นนักดนตรี เขาคงเป็นฆาตกรต่อเนื่องไปแล้ว...ขนาดนั้น

โซอิจิเองกังวลกับบุคลิกสุดขั้วของเขามากเพราะแท้จริงเขาเป็นหนุ่มน้อยขี้อายและสุภาพ แท้จริงเขาอยากเป็นครูโรงเรียนอนุบาลและแต่งเพลงรักที่คนฟังรู้สึกซาบซ่านหัวใจจนแก้มระเรื่อเป็นสีชมพู แต่สุดท้ายเขากลับ "อิน" ทุกครั้งที่สวมบทบาทเป็นครอยเซอร์ ที่สำคัญคือเขามีแฟนเพลงที่ยอมตายเพื่อครอยเซอร์จำนวนมาก ในระหว่างที่โซอิจิตัวจริงๆ ไปยืนดีดกีตาร์ร้องเพลงรักอยู่ริมถนน ไม่มีใครสักคนที่ฟังเขา

การ์ตูนเรื่องนี้ออกมา 5 เล่มในญี่ปุ่นแล้วค่ะ ส่วนในไทยไม่มั่นใจว่ามีบ้างหรือยัง ต้องคิดหนักก่อนจัดทำเลยค่ะเพราะเนื้อหาไม่เหมาะกับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเอาเสียเลย ต้องใช้วิจารณญาณขณะอ่านมากๆ เพราะหลายเรื่องเป็นตลกร้ายที่เสียดสีความบ้าคลั่งของมนุษย์ได้อย่างโดนใจ แต่ก็มีแง่คิดที่ดีว่าถึงเราจะต้องทำงานและสวมบทบาทในสิ่งที่เราไม่ได้รักมากนัก สมดุลระหว่างความรับผิดชอบต่องานที่ทำกับเอกลักษณ์ความเป็นตัวเองคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุขในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับที่โซอิจิไม่เคยทอดทิ้งเพลงรัก เขายังคงแต่งเพลงและร้องริมถนนแบบศิลปินข้างทางเช่นเดิมแม้ว่าจะเป็นศิลปินเฮวี่เมทัลขายดีก็ตาม การ "ไม่ทิ้งความฝันแต่ก็ไม่ปฏิเสธความเป็นจริง" คือบุคลิกที่ทำให้โซอิจิกลายเป็นฮีโร่ของนักอ่านค่ะ

ความโด่งดังของ DMC ฉบับหนังสือการ์ตูนทำให้ DMC ได้รับการจัดทำเป็นแอนิเมชั่นหรือหนังการ์ตูนจำหน่ายแบบ OVA คือไม่ฉายโทรทัศน์แต่ขายเป็น DVD น่ะค่ะ ความน่าทึ่งของแอนิเมชั่น DMC จะขอยกไปกล่าวในตอนถัดไปนะคะ ถือเป็นการปฏิวัติวงการแอนิเมชั่นญี่ปุ่นอีกขั้นหนึ่งก็ว่าได้ค่ะ และอาจจะเป็นคำตอบของผู้ที่ข้องใจว่าทำไมหนังสือการ์ตูนบางเรื่องจึงถูกจัดเป็นสื่อที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่าวรรณกรรมและกำลังทิ้งห่างแอนิเมชั่นไปไกลจนแทบไม่รู้ตัว

ล่าสุด DMC ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฉายโรงแล้วค่ะ รายงานจาก Box office ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ปรากฏว่า DMC ขึ้นชาร์ทหนังทำเงินอันดับ 2 รองจากปูเนียว (Ponyo on the Cliff by the Sea) แอนิเมชั่นของฮายาโอะ มิยาซากิผู้เคยสอยออสการ์มาแล้ว โดยผู้แสดงนำคือ "มัตสึยามะ เคนอิจิ" ซึ่งเคยผ่านตาจากบท "L" ใน Deah Noth และบท "ชิน" ใน Nana มาแล้วค่ะ แต่สัปดาห์ถัดมาก็โดน 20th Century Boy ภาพยนตร์ไตรภาคที่สร้างจากการ์ตูนของ อ.อุรุซาวะ นาโอกิ ปัดหล่นไปที่อันดับ 3 เสียแทน อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าภาพยนตร์ทำเงินในญี่ปุ่นหลายเรื่องในช่วงหลังๆ สร้างจากการ์ตูนไม่ก็เป็นการ์ตูนเสียเอง

เหตุการณ์การ์ตูนครองเมืองเช่นนี้พิสูจน์ได้อย่างดีว่าเยาวชนที่เติบโตขึ้นในยุคก่อร่างสร้างตัวของการ์ตูนญี่ปุ่น บัดนี้ได้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ทรงคุณค่าในสังคมเหนือกว่าที่คาดไว้ไปแล้ว

วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11152 มติชนรายวัน

13 กันยายน 2551

Legend of the Galactic Heroes มหากาพย์แห่งจักรวาล [3]

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เล่ามา 2 ตอนติดกันแบบนี้ เชื่อว่าหลายท่านคงงงกันแน่เลยว่าทำไมเอาการ์ตูนเก่าเก็บที่จบไปแล้วมาพูดถึงเสียยาว แม้ความนิยมเรื่องนี้จะลดลงไปนิดหนึ่งหลังจบ Gaiden 2 เมื่อปี 2000 นิดเดียวจริงๆ ค่ะเนื่องจากคนที่สามารถติดตามมหากาพย์สุดเครียดและพล็อตซับซ้อนเช่นนี้ได้ต้องเป็นแฟนพันธุ์แท้กันจริงๆ ซึ่งรักแล้วไม่มีการเปลี่ยนใจ แต่ความที่เด็กดูลำบากหน่อยจึงมีแต่กลุ่มแฟนที่อายุเกินวัยรุ่นเป็นหลัก แม้ปัจจุบันไม่ค่อยมีแฟนใหม่ๆ เพิ่มเติมเพราะเรื่องจบไปนานแล้ว แต่เหตุการณ์ปลุกผี LoGH ในปี 2008 ก็ทำให้ความนิยมเรื่องนี้กลับมาคึกคักอีกครั้งค่ะ

อย่างแรกคือมีการนำแอนิเมชั่นทั้งหมดมาจำหน่ายเป็น "DVD Box 1-4" ราคากล่องละ 3,990 เยน สำหรับกล่องแรก และกล่องละ 5,565 เยน สำหรับสามกล่องที่เหลือ รวมแล้วก็ประมาณ 6,300 บาทค่ะ แต่หากยังไม่สะใจแฟนพันธุ์แท้ซึ่งตอนนี้ก็อายุ 25-50 ปี มีงานทำรายได้สูงปรี๊ด ทางบริษัทมีจำหน่าย "Legend Box" ฉลองครบรอบ 20 ปีของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ซึ่งก็คือปี 2008 นั่นเองค่ะ

Legend Box ประกอบด้วย DVD ทั้ง 165 ตอนจัดเรียงในกล่องอะลูมิเนียมสวยงามพร้อมไก๊ด์บุ๊ก นอกจากนั้นภายในชุดยังประกอบด้วยของที่ระลึกอื่นๆ เช่น เหรียญเงินประทับตราสัญลักษณ์ของทั้งสองจักรวรรดิเก็บในกล่องสวยหรูอย่างดี เหรียญหนึ่งเป็นเงิน 20 มาร์คของฝ่าย Empire ส่วนอีกเหรียญคือ 10 ดินาร์ของฝ่าย Alliance แน่นอนว่าสามารถใช้ได้จริงในการ์ตูน (ถ้าหลุดเข้าไปได้) และยังมี Dog Tag พร้อมซีเรียลนัมเบอร์ด้วยค่ะ ยังไม่หมดนะคะ มี memorial disk ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์พิเศษจากผู้ประพันธ์และนักพากย์ มีสมุดภาพฉบับพิมพ์ใหม่เพื่อสะสมโดยเฉพาะด้วยค่ะ แถมด้วยรายละเอียดช่วงเวลาในเรื่องกับสมุดเล่มจิ๋วรวมภาพตัวละครทั้ง 108 คนอีกต่างหาก เหล่าแฟนที่น้ำลายหกสามารถสั่งซื้อได้ ราคาขำๆ แค่ 262,500 เยนเท่านั้นเอง (ประมาณ 80,000 บาท) ฮ่าๆๆๆ ขำได้อย่างเดียว ซื้อไม่ไหวค่ะ
หากอยากหลุดไปอยู่ในโลกของ LoGH และร่วมสู้รบกับไรน์ฮาร์ดหรือยังล่ะก็ ทางบริษัทเขาปล่อยเกมคอมพิวเตอร์ (PC game) ออกมาด้วยค่ะ! รายละเอียดเชิญได้ที่ http://gineiden-game.jp/ โอ้...ภาษาญี่ปุ่น อ่านไม่ออกแต่เพลงเราะ ไตเติลอลังการน่าดู เกมนี้สามารถเล่นผ่านระบบ Window - LIVE ได้นะคะ พูดง่ายๆ คือเป็นเกมออนไลน์นั่นเอง เราสามารถเลือกเล่นข้างไหนก็ได้ตามใจเรา รักชอบไรน์ฮาร์ดหรือยังก็เลือกข้างตามอัธยาศัย ใช้ภาพจากแอนิเมชั่นซะด้วย คลาสสิคมากๆ ราคาสำหรับชุดเกมธรรมดาคือ 9,240 เยนค่ะ แต่ถ้าใส่กล่องพิเศษก็ 11,340 เยน รู้สึกว่าจะเปิดจำหน่าย 16 ตุลาคมปีนี้โดยค่าย Bandai เก็บเงินรอก่อนนะคะ วันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ถ้าใครได้ดูช่อง Animax ตอนสามทุ่มญี่ปุ่น (ประมาณหนึ่งทุ่มไทย) คงจะได้เห็นเขาเอาฉากแอนิเมชั่นในเกมนี้มาฉายให้ชมกันค่ะ

แต่ถ้าเป็นคนรักกระดาษและการนอนอ่านสงบๆ ที่บ้าน LoGH ฉบับหนังสือการ์ตูนได้ถูกนำกลับมาพิมพ์ใหม่แล้วค่ะ ตีพิมพ์ในปี 2007 เป็นฉบับ A5 (ครึ่งหนึ่งของ A4) ซึ่งทางญี่ปุ่นนิยมตีพิมพ์ขนาดพิสดารแบบนี้เฉพาะการ์ตูนเพื่อการสะสมหรือโดจินชิที่เหล่านักเขียนพิมพ์จำหน่ายกันเองโดยไม่ผ่านโรงพิมพ์ใหญ่ๆ ค่ะ นอกจากนั้นยังมีภาพ portrait จากเรื่องนี้ขายด้วย ราคา 580 เยนเท่านั้นเอง เป็นขนาด B6 หาซื้อมาแปะฝาบ้านได้นะคะ

สรุปง่ายๆ ว่าสาเหตุที่ LoGH กลับมาดังระเบิดในปีนี้เพราะครบรอบ 20 ปีการจำหน่ายแอนิเมชั่นครั้งแรกนั่นเอง จะว่าไปก็ครบ 20 ปีทานากะ โยชิกิ ผู้ประพันธ์เรื่องนี้ได้รับรางวัล Seiun จากเรื่องนี้สำหรับนวนิยายไซไฟยอดเยี่ยมด้วยเช่นกัน ข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่ http://www.ginei.jp ภาษาญี่ปุ่นค่ะ ถ้าไม่ชำนาญสามารถใช้โปรแกรมแปลภาษาช่วยได้นะคะ

วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11145 มติชนรายวัน

09 กันยายน 2551

Legend of the Galactic Heroes มหากาพย์แห่งจักรวาล [2]

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

กลับมาอีกครั้งค่ะ ยังไม่จบกับการตามหาข้อมูลการ์ตูนมหากาพย์ไซไฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น อาจเรียกได้ว่าเป็นสามก๊กอวกาศสำหรับวงการแอนิเมชันก็ไม่ผิด สืบเนื่องจากครั้งก่อนเล่าให้ฟังถึงภาคปกติของ Legend of the Galactic Heroes (LoGH) ซึ่งฟาดไป 110 ตอน แค่เห็นจำนวนก็หนาวแล้ว แต่แท้ที่จริงยังไม่หมดแค่นี่ค่ะ! (มีอีกเรอะ) จะขอกล่าวถึงรายละเอียดของฉบับแอนิเมชั่นนะคะ

ใน 110 ตอนนี้เป็นแอนิเมชั่นฉบับดั้งเดิมตอนละ 25 นาที จำหน่ายครั้งแรกในรูปแบบโฮมวิดีโอซึ่งเป็นตลับวิดีโอระบบ VHS ปัจจุบันนี้หาแทบไม่ได้แล้ว แต่การ์ตูนที่ไม่ได้ฉายทางโทรทัศน์เช่นนี้ ปัจจุบันเรียก Original Animated Video หรือ OAV ค่ะ OAV ของเรื่องนี้ออกมาในปี 1988 (20 ปีก่อน) และจบในประมาณ 8 ปีต่อมา ถ้าใครจำได้ ยุคนั้นเป็นยุควิดีโอบูมและเป็นยุคที่แอนิเมชั่นดีๆ ออกมามากมายเนื่องจากไม่จำเป็นต้องผลิตและรอขายโฆษณาทางโทรทัศน์แบบยุคก่อนหน้านั้นอีกแล้ว แต่ยุค VHS ก็สิ้นสุดลงเนื่องจากการมาถึงของเคเบิลทีวี ก่อนจะกลับมาฮิตอีกครั้งเพราะมีการผลิตเป็น VCD และ DVD ซึ่งราคาพอรับได้ในปัจจุบัน

ถึงแม้ตอนหลักจะยาวจนน่ากลัว LoGH ก็มีตอนสั้นๆ ประมาณ 1-1.5 ชั่วโมง ทั้งแบบ movie และ OAV ออกมาหลายตอนเลยค่ะ แถมยังมี side story เรียกว่า Gaiden ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องจากนวนิยาย 8 เล่มนอกเหนือจากเรื่องหลักออกมาอีก 2 เรื่อง เรียกว่าแฟนๆ ดูกันไม่มีวันจบ รายชื่อตอนที่นอกเหนือจาก 110 ตอนได้แก่

Legend of Galactic Heroes: My Conquest is the Sea of Stars เป็น Movie ฉายในปี 1988 ตอนต้นปี ความสำเร็จของแอนิเมชั่นชิมลางนี้น่าจะทำให้ทีมงานมั่นใจที่จะสร้างทั้ง 110 ตอนและจำหน่ายในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ตอนนี้เป็นการเล่าอารัมภบท LoGH แบบย่อๆ ในเวลา 60 นาทีซึ่งมีเนื้อเรื่องหลักที่การพบกันครั้งแรกในสนามรบระหว่างไรน์ฮาร์ดกับยัง สองหนุ่มตัวเอกของเรื่อง ความโดดเด่นอยู่ที่คาแร็กเตอร์ทรงเสน่ห์และจุดยืนพร้อมทั้งปมในใจของทั้งสองคน

Legend of Galactic Heroes: Golden Wings จำหน่ายในรูปแบบ OVA เมื่อปี 1992 คือ 4 ปีหลังออกจำหน่ายครั้งแรก ความยาว 60 นาที ว่าด้วยเรื่องวัยเด็กของไรน์ฮาร์ด ฟอน มิวเซล ลูกชายของครอบครัวขุนนางตกยากที่มีพ่อไม่เอาไหน ส่วนแม่ของเขาเสียชีวิตไปแล้วเนื่องจากโดนรถของขุนนางชน นี่เป็นเหตุให้ไรน์ฮาร์ดเกลียดชนชั้นขุนนางมาก อยู่มาวันหนึ่ง อันเนโรเซ่พี่สาวของไรน์ฮาร์ดเกิดเข้าตาจักรพรรดิเข้าจึงถูกพาตัวไปเป็นสนม ไรน์ฮาร์ดโกรธพ่อของเขามากและเชื่อมาตลอดว่าพ่อขายพี่สาวให้จักรพรรดิ กลายเป็นว่าชนชั้นขุนนางพรากคนสำคัญที่สุดในชีวิตของเขาไปถึงสองคน สิ่งเดียวที่เขาคิดว่าจะทำได้เพื่อทวงพี่สาวคืนมาคือเข้าเรียนในโรงเรียนทหารร่วมกับเพื่อนในวัยเด็กของเขา "ซิกฟรีด" ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นนายทหารคนสนิทของเขานั่นเอง ไรน์ฮาร์ดหวังว่าเขาจะสามารถไต่เต้าขึ้นไปให้ยิ่งใหญ่กว่าจักรพรรดิเพื่อให้พี่สาวกลับมาอยู่กับตนในท้ายที่สุด แอนิเมชั่นตอนนี้ลายเส้นต่างจากตอนอื่นมากเพราะใช้ลายเส้นจากหนังสือการ์ตูนค่ะ เนื้อเรื่องก็ล้อตามที่ปรากฏในหนังสือการ์ตูนด้วยเช่นกัน เนื่องจากฉบับการ์ตูนมีความเป็นดราม่าอยู่มาก ดังนั้น ตอนนี้จึงเป็นตอนที่ซาบซึ้งที่สุดสำหรับคนชอบบทซึ้งแน่นอนค่ะ

Legend of Galactic Heroes: Overture to a New War เป็น Movie ฉายในปี 1993 ความยาว 90 นาที เป็นการเล่าใหม่ในช่วง 2 ตอนแรกของเรื่อง แต่เพิ่มเติมปูมหลังในอดีตของยัง เวนลีอีกนิดหน่อยสำหรับแฟนคลับของเขาโดยเฉพาะ เนื้อหาซ้อนทับกับ My Conquest is the Sea of Stars OAV เรื่องแรกสุดเลยค่ะ เหมือนกันเปี๊ยบๆ ก็ไม่ผิด แต่มีการขยายความให้ละเอียดขึ้น งานภาพผ่านไป 5 ปีสวยและสบายตาขึ้นค่ะ แต่ดูทั้งสองตอนก็ไม่ผิดเพราะให้อารมณ์โบราณที่ต่างกันนิดหน่อย

Legend of Galactic Heroes Side Stories (ซีซั่น 1) บางทีก็เรียก Gaiden 1 หรือ A Hundred Billion Stars, A Hundred Billion Lights ค่ะ จำหน่ายในรูปแบบ OAV จำนวน 24 ตอนในปี 1998-1999 ช่วงแรกของซีซั่นเป็นการขยายความเรื่องราวในอดีตของไรน์ฮาร์ดกับซิกฟรีดช่วงเวลาก่อนจะเกิด 110 ตอน เป็นเรื่องของการเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้ำแข็งและความเจ็บปวดที่ถูกทรยศ ผสมกับการต่อสู้อื่นๆ ตามประสาการ์ตูนสงครามค่ะ

Legend of Galactic Heroes Side Stories (ซีซั่น 2) บางที่เรียก Gaiden 2 หรือ Spiral Labyrinth จำหน่ายเป็น OVA จำนวน 28 ตอนในปี 1999-2000 เล่าเรื่องอดีตของยัง เวนลีบ้าง เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับ Gaiden 1 คือก่อน 110 ตอนนั่นเอง เรื่องนี้คือช่วงที่ยังเป็นวีรบุรุษแห่ง El Facile ส่วนไรน์ฮาร์ดก็ได้รับมอบหมายภารกิจแรกไปที่ Iserlohn แบบเดียวกับใน Gaiden 1 ยังมีเรื่องตามหลังจากนั้นอีกแต่คล้ายกับว่าจะเล่าไปทางไรน์ฮาร์ดมากกว่าหน่อย

ไว้งวดหน้ามาเล่าต่อถึงความยิ่งใหญ่ของเรื่องนี้ค่ะ

วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11138 มติชนรายวัน