28 กุมภาพันธ์ 2552

Mushishi ธรรมชาติคือมารดาของสรรพสิ่ง

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ขึ้นต้นชื่อเรื่องด้วยประโยคที่ได้ยินตั้งแต่เด็กแต่ไม่เคยซาบซึ้งมาก่อน "ธรรมชาติคือมารดาของสรรพสิ่ง" อาจเป็นเพราะอาศัยอยู่ในเมืองจึงไม่เห็นว่าแท้จริงธรรมชาติยิ่งใหญ่เพียงใดค่ะ (เว้นตอนฝนตกหนักแล้วน้ำท่วม) แต่แอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) "Mushishi" ทำให้ความทึ่งในธรรมชาติพอกพูนขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่เนื้อเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่าไม้หรือวิกฤตโลกร้อนแต่อย่างใด

Mushishi (มุชิฉิ) เป็นเรื่องราวการเดินทางของ "กิงโกะ" ชายหนุ่มซึ่งเป็นหมอรักษาโรคที่เกิดจาก "มุฉิ" แปลตรงตัวคือ "แมลง" ค่ะ แต่มุฉิในเรื่องนี้ไม่ใช่แมลง กลับเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างธรรมชาติซึ่งไม่มีชีวิตกับเหล่าสรรพสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ บางคนอาจมองว่ามุฉิคือวิญญาณของธรรมชาติที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หรือบางคนคิดว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของพลังงานที่เกิดจากธรรมชาติแต่มีชีวิต โดยสรุปคือ หากมุฉิมีจริงก็สามารถอธิบายโรคภัยและปรากฏการณ์ประหลาดทั้งหลายในโลกนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการตาบอดโดยไม่ทราบสาเหตุ หูหนวกทั้งที่ไม่พบความผิดปกติ หรือแม้แต่โรคหลงลืมในคนอายุน้อย หลายโรคเหมือนที่เคยพบคนไข้ในชีวิตจริงเลยค่ะ ความรู้ในโลกความเป็นจริงทำให้เราวินิจฉัยโรคที่ตรวจไม่พบความผิดปกติว่า "มีสาเหตุจากจิตใจ" ในระหว่างที่โลกของมุชิฉิบอกว่า "มีสาเหตุจากมุฉิ" เสียแทนเนื้อหาทั้ง 26 ตอนของแอนิเมชั่นเป็นเรื่องสั้นจบในตอนของคนในหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งกำลังประสบกับเหตุการณ์ประหลาดหรือโรคภัยที่หมอหาสาเหตุไม่ได้ และโชคดีที่กิงโกะผ่านไปขายยาพอดี เรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้า จึงให้อารมณ์ของภูตผีได้แจ่มชัดมาก การดำเนินเรื่องไม่ได้ซ้ำไปซ้ำมาเหมือนการ์ตูนเด็ก ซึ่งจะต้องมีฮีโร่มาปราบมุฉินะคะ ทุกตอนเหมือนนิทานก่อนนอนซึ่งเต็มไปด้วยจินตนาการน่าตื่นเต้น แต่กลับให้จังหวะเนิบนาบ กิงโกะใช้หลักวิทยาศาสตร์โดยการเข้าไปสอบถามประวัติคนป่วยและเก็บตัวอย่างมุฉิที่สงสัยมาตรวจดูก่อนที่จะวินิจฉัยโรค (ใช้กล้องจุลทรรศน์เสียด้วย ขอย้ำว่ายุคนี้ยังไม่มีไฟฟ้า) หลังจากนั้นจึงให้ยาซึ่งก็มีทั้งยาที่รักษาแล้วหายขาดกับยาประคองอาการ ความเป็นวิทยาศาสตร์ของมุชิฉิทำให้ผู้ใหญ่ดูแล้วไม่รู้สึกขัดเขินนักค่ะ แม้เหตุผลจะดูขี้โม้แต่วิธีการให้ได้มาซึ่งต้นเหตุของโรคภัยจากมุฉิไม่โม้ค่ะ สร้างแรงบันดาลใจให้เรามองเหตุการณ์เหนือธรรมชาติตามหลักวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ

นอกจากเนื้อเรื่องที่ให้อารมณ์แบบภูตผีญี่ปุ่นแล้ว จุดเด่นของแอนิเมชั่นมุชิฉิคือ "ภาพและเสียง" ซึ่ง...เหนือคำบรรยายค่ะ ทุกฉากทุกภาพเต็มไปด้วยธรรมชาติซึ่งใช้สีโทนเอิร์ธเทาน้ำตาลนุ่มๆ แต่ละฉากสามารถเซฟออกมาทำเป็นวอลเปเปอร์สวยๆ บนคอมพิวเตอร์ได้สบาย หรือต่อให้พิมพ์ออกมาติดฝาบ้านก็ยังงามไม่มีที่ติ แน่นอนว่าผู้กำกับฯไม่ได้จงใจทำฉากสวยๆ เพื่อแปะไว้เฉยๆ นะคะ ภาพที่นำเสนอเห็นชัดเจนว่าเมื่อกิงโกะหรือคนในเรื่องอยู่กลางธรรมชาติ มนุษย์จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ บนหน้าจอซึ่งทำให้สายตาเราจับจ้องไปที่ความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเบื้องหลังเสียแทน ลายเส้นของตัวละครในเรื่องเรียบง่ายตรงข้ามกับฉากธรรมชาติที่สวยไม่มียั้ง ยืนยันคอนเซ็ปต์ของเรื่องนี้ว่ามุฉิและธรรมชาติยิ่งใหญ่ที่สุด มนุษย์เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ แต่ก็มีหัวใจที่เปี่ยมด้วยความพยายามที่จะต่อสู้กับธรรมชาติและโรคภัยที่เกิดจากมุฉิด้วยเหมือนกันเสียงเพลงในเรื่องนี้ให้ความรู้สึกเหมือนดึงเราเข้าสู่โลกของมุฉิเลยค่ะ เป็นเพลงประกอบเรื่องแรกที่ได้ยินแล้วสามารถพูดได้เต็มปากว่านี่คือ "เสียงวิญญาณของธรรมชาติ" นอกจากสงบเยือกเย็นแล้วยังออกมาได้ถูกจังหวะทุกครั้ง เรียกว่าอารมณ์นี้ต้องมีเสียงแบบนี้ออกมาให้เราขนลุกวาบนิดๆ (คล้ายเสียงอังกะลุง) หรือจังหวะนี้มีเพลงให้เราเศร้าแต่ซึ้ง ถ้าภาพวาดแบบจีนซึ่งเห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติสามารถส่งเสียงได้ก็คงเป็นเสียแบบเดียวกับเรื่องนี้เลยค่ะ

โดยสรุป "มุชิฉิ" เป็นแอนิเมชั่นที่สวย สนุก สร้างสรรค์ แต่ไม่กระตุ้นให้สมองหลั่งอะดรีนาลีนเท่าไร เพราะไม่ได้ตื่นเต้นเร้าใจหรือน่าติดตามถึงขนาดหยุดดูไม่ได้ ดูไปดูมาแล้วอาจหลับจากความเนิบนาบของเรื่องค่ะ (หลับไปแล้ว 5 ยกระหว่างดู 26 ตอน) แต่ใช่ว่าช้าเนิบนาบแล้วไม่ดีเสมอไปนะคะเวลาเรานั่งริมทะเลฟังเสียงคลื่นสงบๆ หรืออยู่บนยอดเขาฟังเสียงลมและดูเมฆลอยไปเรื่อยๆ เราก็มีความสุขแม้ว่าจะหลับในอีกไม่กี่นาทีต่อมาก็ตาม มุชิฉิให้อารมณ์แบบเดียวกันเป๊ะเลยค่ะ

วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11313 มติชนรายวัน

22 กุมภาพันธ์ 2552

Natsume Yujin-Cho เพื่อนดีเริ่มที่ใจ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

วันที่นั่งเขียนคอลัมน์นี้เป็นวันหลังจากที่มีหิมะตกหนักที่สุดในรอบ 18 ปีของลอนดอนค่ะ สำหรับคนที่ไม่เคยเห็นหิมะ การได้เห็นนอกบ้านขาวโพลนถือเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อยู่ แต่คิดในทางกลับกันหิมะทำให้รถหยุดวิ่ง มหาวิทยาลัยยกเลิกการสอน ทุกคนอยู่แต่ในบ้านและรอบตัวเงียบจนเหงา ยามที่ความเหงารุมเร้าแบบนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือดูการ์ตูนที่ทำให้อบอุ่นหัวใจค่ะ และเรื่องที่ทำให้อุ่นไปทั้งตัวก็คือ Natsume Yujin-Cho มีตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูนภาษาไทยชื่อ "นัตซึเมะกับบันทึกพิศวง" แต่เวอร์ชั่นที่ดูเป็นแอนิเมชั่นซึ่งออกมาถึงซีซั่นที่สองแล้วค่ะ

"นัตซึเมะ ทากาชิ" คือเด็กหนุ่มที่เย็นชาเหมือนหิมะ เนื่องจากเขามีความสามารถพิเศษในการมองเห็นภูตผีได้เช่นเดียวกับ "เรย์โกะ" คุณย่าของเขาทำให้เขาต้องเจอเรื่องที่เลวร้ายพร้อมกันถึงสองสิ่งตั้งแต่เด็ก สิ่งแรกคือเหล่าภูตผีที่เขามองเห็น (ในแอนิเมชั่นวาดออกมาน่ารัก ไม่กระตุกขวัญค่ะ) และอีกสิ่งคือคนรอบตัวที่รังเกียจเพราะคิดว่าเขาพูดโกหกเรื่องมองเห็นภูตผีได้ ความเจ็บปวดหล่อหลอมให้นัตซึเมะตัดสินใจไม่บอกใครเรื่องที่เขามองเห็นภูตผีอีก แม้เขาจะมีเพื่อนที่โรงเรียนแต่ก็บอกไม่ได้ว่าที่ต้องวิ่งจนหอบลิ้นห้อยเพราะกำลังวิ่งหนีภูตผีอยู่ จนกระทั่งวันที่เขาได้รับสมุดที่มีภาษาประหลาดเขียนอยู่ภายในซึ่งตกทอดมาจากคุณย่าเรย์โกะ รอบตัวเขาก็มีศัตรูนับไม่ถ้วนขึ้นมาอัตโนมัติเนื่องจากสมุดเล่มนั้นคือสมุดบันทึกชื่อของภูตผี เหล่าภูตผีที่ต่อสู้และพ่ายแพ้ให้กับเรย์โกะจะต้องถูกผนึกชื่อลงสมุดส่งผลให้นัตซึเมะโดนภูตผีเหล่านั้นตามมาขอชื่อคืนไม่เว้นแต่ละวัน

"มาดาระ" หรือ "อาจารย์เหมียวหง่าว" คือหนึ่งในเหล่าภูตผีที่ทราบเรื่องสมุดบันทึกของนัตซึเมะค่ะ มาดาระเองต้องการครอบครองสมุดเล่มนี้เนื่องจากต้องการพลังของเหล่าภูตผีที่ถูกผนึกชื่อในสมุดเช่นกัน แต่ไปๆ มาๆ เขากลับยอมสิงในร่างตุ๊กตาแมวกวักน่าเอ็นดูและกลายเป็นฝ่ายที่ช่วยปกป้องนัตซึเมะจากภูตผีที่ต้องการชิงสมุดเสียแทน แม้นัตซึเมะจะไม่ได้ชอบเหล่าภูตผีนักเพราะชีวิตเขาต้องถูกทอดทิ้งและถูกกลั่นแกล้งมาตลอดจากการมองเห็นภูตผี แต่เขาก็ไม่คิดจะเก็บผนึกเหล่านี้ไว้เป็นตัวประกัน ทางออกที่ดีที่สุดคือการคืนชื่อในสมุดให้เหล่าภูตผีไปเรื่อยๆ เพราะนัตซึเมะเชื่อว่าทุกคนเป็นเพื่อนกันได้โดยไม่จำเป็นต้องกุมจุดอ่อนซึ่งกันและกันไว้

เมื่อได้มีโอกาสสัมผัสกับภูตผีมากกว่าเดิมที่เอาแต่วิ่งหนีลูกเดียว นัตซึเมะจึงเริ่มเข้าใจว่าไม่ใช่เขาคนเดียวที่เหงา เหล่าภูตผีเองก็เหงาและปรารถนาจะเป็นอิสระจากความทรมานที่ต้องเวียนว่ายอยู่ในโลกนี้เช่นกัน หลายครั้งที่นัตซึเมะถูกหลอกจนเกือบโดนภูตผีจับกินแต่สุดท้ายเขาก็ยังศรัทธาในความเป็นเพื่อนเสมอ เขาเชื่อว่าถ้ามีโอกาสได้คุยเปิดใจและสร้างสัมพันธ์ด้วยการคืนชื่อให้ เหล่าภูตผีก็คงยอมเป็นมิตรกับเขาแน่นอน

สิ่งที่ทำให้ Natsume Yujin-Cho ไม่ใช่ "การ์ตูนผี" แม้มีภูตผีป้วนเปี้ยนเต็มเรื่องแต่เป็น "การ์ตูนเพื่อการรักษาแผลใจ" คือการดำเนินเรื่องในแต่ละตอนซึ่งไม่เน้นจิตหลอนหรือกระตุกขวัญสั่นประสาทแต่เน้นความรู้สึกสับสนในใจของนัตซึเมะเองค่ะ เขาปรารถนาที่จะเชื่อใจคนรอบข้างแต่ก็ต้องหันหน้าหนีตลอดเนื่องจากกลัวที่จะต้องถูกทอดทิ้งหรือหัวเราะเยาะ และเมื่อเขาปรารถนาที่จะเชื่อใจภูตผี แสดงเจตนาดีด้วยการยินดีมอบชื่อที่ผนึกในสมุดคืนให้ เขาก็ยังคงถูกเหล่าภูติผีหลอกเอาหลายครั้งจนต้องให้อาจารย์เหมียวหง่าวออกโรงช่วยเหลือ สุดท้ายแม้ความจริงใจของนัตซึเมะจะไม่ได้ทำให้ภูตผีบางตนกลับตัว เขาก็ยังเชื่อมั่นเสมอว่าถ้าอยากเป็นเพื่อนกับอีกฝ่ายก็ต้องเป็นคนทุ่มเทและเปิดใจให้เสียก่อน ความมุ่งมั่นของนัตซึเมะนี่ละค่ะที่ช่วยเยียวยาหัวใจคนดูให้รู้สึกว่าความปรารถนาดีต่อกันอย่างจริงใจก็มีอยู่จริงในโลก

เนื่องจากเหล่าภูตผีหน้าตาเหมือนในภาพวาดญี่ปุ่นโบราณ บรรยากาศของเรื่องจึงให้ความรู้สึกถึงแฟนตาซีย้อนยุคสุดคลาสสิค นอกจากนั้นใบหน้าเย็นชาแบบหิมะเรียกพี่ของนัตซึเมะยังช่วยให้คนดูไม่รู้สึกหวาดผวาเวลาเจอภูตผี เราแทบจะไม่เจออะไรในสีหน้าหรือคำพูดของนัตซึเมะว่าเขาเกลียด กลัว หรือรัก แต่การกระทำของเขาที่ยอมทุ่มเทเสียพลังงานในการคืนชื่อให้เหล่าภูตผีก็ทำให้เราเชื่อว่าคำพูดสวยงามไม่ใช่เครื่องแสดงความจริงใจได้เท่าการกระทำที่เป็นมิตร

Natsume Yujin-Cho ไม่ได้เป็นการ์ตูนที่ให้ข้อคิดอะไรมากมายค่ะ แต่เป็นการ์ตูนที่ดูแล้วรู้สึกอุ่นในหัวใจ นัตซึเมะทำให้คนดูเชื่อว่ามิตรดีมีจริงในโลกและคนชั่วที่หลอกลวงหักหลังก็มีในโลกเช่นเดียวกัน แต่จะเก็บมาคิดมากเป็นสาระทำไมในเมื่อเราก็ยังมีเพื่อนดีๆ รอบตัวอีกตั้งเป็นกระบุง

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11306 มติชนรายวัน

20 กุมภาพันธ์ 2552

Kadokawa Anime on Youtube เปลี่ยนปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเงิน

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า "คลิปวิดีโอ" หรือบางคนเรียกสั้นๆ ว่า "คลิป" มาบ้างแล้วนะคะ คลิปวิดีโอมักหมายถึงวิดีโอหรือภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายเก็บไว้ในรูปไฟล์ สาเหตุที่คลิปเหล่านี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากมีเว็บไซต์ที่สามารถอัพโหลดคลิปและเผยแพร่ให้ผู้ชมได้รับชมทั่วโลกผ่านอินเตอร์เน็ตอย่างง่ายดาย (Video Sharing Web Sites) หนึ่งในเว็บไซต์ที่รู้จักกันดีคือ YouTube นี่ล่ะค่ะ นอกจากวิดีโอที่คัดลอกมาจากแหล่งอื่นแล้ว วิดีโอหลายเรื่องยังสร้างขึ้นเองด้วยฝีมือของนักตัดต่อสมัครเล่น เราอาจเรียกวิดีโอเหล่านี้ว่า User Generated Video ซึ่งเป็นการปฏิวัติวงการสื่อและก้าวพ้นข้อจำกัดของโทรทัศน์ โดยผู้ชมสามารถพลิกบทบาทมาเป็นผู้สร้างเสียเองได้ด้วย

ปัญหาของคลิปวิดีโอซึ่งทำให้วงการการ์ตูนปวดหัวมาเนิ่นนานคือปัญหา "ละเมิดลิขสิทธิ์" นั่นเองค่ะ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือถ้ามีคนนำภาพยนตร์การ์ตูนมาฉายให้ดูฟรีทางอินเตอร์เน็ตเสียแล้ว ใครจะซื้อ DVD ให้เปลืองเงินถ้าไม่ได้อยากสะสมจริงๆ หรือจะนั่งรอชมทางโทรทัศน์ดึกดื่นไปเพื่ออะไรในเมื่ออินเตอร์เน็ตมีให้ชมได้ตลอดเวลา ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตนี้กระทบต่อทั้งยอดขาย DVD และรายได้จากโฆษณาทางโทรทัศน์ แต่โชคดีที่มีการกวาดล้างผลงานละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้ไปพอสมควรโดยเฉพาะในเว็บไซต์เผยแพร่คลิปใหญ่ๆ ดังนั้น วงการภาพยนตร์การ์ตูนจึงยังอยู่รอดปลอดภัยดีค่ะ

ปัญหาคลิปละเมิดลิขสิทธิ์หมดไปไม่เท่าไร ทางบริษัทผู้ผลิตแอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) ก็ต้องกุมขมับอีกครั้ง เมื่อคลิปที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตไม่ใช่การ์ตูนเป็นตอนๆ เหมือนอดีต แต่เป็นวิดีโอที่นำภาพในการ์ตูนมาตัดต่อเองกลายเป็นมิวสิควิดีโอเก๋ๆ หรือแม้แต่วิดีโอเล่าเรื่องย่อคุณภาพดีเทียบเท่าหนังตัวอย่างที่ฉายในโรงภาพยนตร์ แน่นอนว่าทางบริษัทมีสิทธิให้หยุดเผยแพร่เนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธ์เช่นกัน แต่การคุมกำเนิดคลิปที่โผล่เป็นดอกเห็ดเหล่านี้ไม่ใช่งานง่ายๆ เลยค่ะ ที่สำคัญคือคลิปเหล่านี้มีคนเข้าชมเป็นจำนวนมากเสียด้วย

ในที่สุดค่าย Kadokawa ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแอนิเมชั่นจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสเสียเลย โดยการเปิดช่องการ์ตูนชื่อ Kadokawa Anime Channel บน YouTube ขึ้นเมื่อต้นปี 2008 และฉายวิดีโอสองแบบหลัก แบบแรกคือวิดีโอการ์ตูนในค่ายของตนเองซึ่งไม่ต้องรอให้มีคนละเมิดลิขสิทธิ์ไปโพสท์ให้ เจ้าของลิขสิทธิ์นี่ล่ะค่ะโพสท์เองเลย และอีกแบบหนึ่งคือ MAD videos หรือวิดีโอตัดต่อโดยฝีมือแฟนๆ ซึ่งนำภาพและเสียงจากแอนิเมชั่นในค่ายไปตัดต่ออย่างละเมิดลิขสิทธิ์

เพื่อทำให้ของโจรกลายเป็นงานลิขสิทธิ์ถูกต้อง ทางคาโดคาวะจึงมีขั้นตอนคัดกรองว่าผลงาน MAD videos เหล่านี้คุณภาพดีเพียงพอที่จะแขวนไว้บน Kadokawa Anime Channel บน YouTube หรือไม่ หากได้มาตรฐานจึงจะสามารถเผยแพร่ได้ ซึ่งช่วยส่งผลในการโฆษณาแอนิเมชั่นของค่ายอีกทางหนึ่งด้วย ยอดผู้เข้าชมคลิปตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนปีที่แล้วสูงถึง 50 ล้านครั้งเลยทีเดียวค่ะ ตัวเลขที่น่าตื่นตะลึงนี้ได้ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ซึ่งทำให้วงการการ์ตูนรอดตายอีกครา นั่นคือนวัตกรรม VideoAd หรือการแปะโฆษณาลงบนคลิปที่รับชมโดยตรงนั่นเอง พูดง่ายๆ คือถ้าเราเปิดคลิปดู เราก็ต้องเห็นโฆษณาร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะโฆษณาลอยทับอยู่หน้าคลิป ผู้ชมมีทางเลือกเดียวคือดูโฆษณาเพื่อหาปุ่มปิดไม่อย่างนั้นก็จะดูคลิปเต็มจอไม่ได้ โฆษณาที่ผู้ชมต้องดูและบ่นไม่ได้เพราะตัวเองก็ดูคลิปของฟรีเช่นนี้คือสวรรค์ของสปอนเซอร์เลยล่ะค่ะ

ทางคาโดคาวะเปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมามีรายได้จาก Kadokawa Anime Channel บน YouTube ถึงเดือนละสิบล้านเยน! รายได้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการฉายแอนิเมชั่นของตัวเอง แต่มาจาก VideoAd หรือโฆษณาที่แปะอยู่บนคลิป MAD videos นี่ล่ะค่ะ แผนธุรกิจเปลี่ยนของโจรให้เป็นเงินของคาโดคาวะและ YouTube จึงกลายเป็นที่จับตามองเนื่องจากเป็นกลยุทธที่ให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ไม่เฉพาะทำให้งานละเมิดลิขสิทธิ์กลายเป็นงานชั้นดีถูกต้องตามกฎหมาย แต่คาโดคาวะยังได้โฆษณาแอนิเมชั่นของตัวเองไปทั่วโลกผ่านทาง YouTube และกลายเป็นศูนย์กลาง MAD videos ซึ่งสามารถควบคุมคุณภาพงานได้ด้วยตนเองก่อนเผยแพร่ และรับค่าโฆษณาโดยที่ไม่ต้องลงแรงทำเองให้เหนื่อย

Kadokawa Anime Channel บน YouTube จึงสอนให้รู้ว่าการมองปัญหาให้เป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมและแนวคิดใหม่ๆ คือคำตอบที่ดีกว่ามองปัญหาว่าเป็นเรื่องที่ควรกำจัดให้หมดสิ้นไปค่ะ ใครจะนึกถึงว่าปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้ลงเอยที่การกวาดล้างเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11299 มติชนรายวัน

07 กุมภาพันธ์ 2552

การ์ตูนกับทักษะการอ่าน และแอนิเมชั่นกับทักษะการฟัง

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

หลังจากไม่ได้อ่านหนังสือการ์ตูนภาษาไทยเล่มใหม่ๆ เป็นเวลานาน เนื่องจากการ์ตูนที่ขนมาอ่านระหว่างเรียนอยู่ต่างประเทศก็อ่านเสียจนเกลี้ยงคลังแล้ว หนังสือการ์ตูนภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นก็เกลี้ยงเช่นกัน แอนิเมชั่น (ภาพยนตร์การ์ตูน) ก็ไม่ตอบสนองความต้องการได้เท่าหนังสือการ์ตูน ในที่สุดจึงอี-เมลกลับไปบอกที่บ้านค่ะว่า "ส่งหนังสือการ์ตูนมาให้หน่อย"

หนังสือการ์ตูนภาษาไทยกล่องยักษ์สองโหลใช้เวลาเดินทางเกือบหนึ่งเดือนและมาถึงมือในที่สุดค่ะ ความที่ดีใจและตื่นเต้นหลังจากไม่ได้สัมผัสการ์ตูนภาษาไทยมาเป็นเวลา 3 เดือน (เท่านั้นเอง) จึงรีบเปิดกล่องแล้วคว้ามาอ่านอย่างรวดเร็ว! และปรากฏการณ์ที่น่าระทึกใจบางอย่างก็เกิดขึ้น!

"ทำไมเราอ่านหนังสือช้าลงล่ะเนี่ย..."

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการสังเกตพัฒนาการในการอ่านและดูภาพยนตร์การ์ตูนของตัวเองโดยไม่มีงานวิจัยมารองรับนะคะ เปรียบเทียบระหว่างการอ่านหนังสือการ์ตูนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และการอ่านหนังสือเรียนภาษาอังกฤษ รวมถึงการดูแอนิเมชั่นภาษาญี่ปุ่นที่มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษค่ะ สามเดือนของการอ่านการ์ตูนภาษาไทยและอังกฤษน้อยลง ในระหว่างที่อ่านหนังสือเรียนและดูแอนิเมชั่นมากขึ้น ผลคือ...

ทักษะในการอ่านตัวหนังสือภาษาไทยลดลงอย่างชัดเจนหลังจากไม่ได้อ่านมา 3 เดือนค่ะ สังเกตได้จากระยะเวลาที่ใช้อ่านการ์ตูนในแต่ละช่องและแต่ละหน้านานขึ้นกว่าปกติ จากใช้เวลาอ่านประมาณเล่มละ 20 นาที กลายเป็นมากกว่า 30 นาที และอ่านข้ามเสียเยอะเนื่องจากรู้สึกว่าสิ่งที่อ่าน "ไม่อิน" เท่าสมัยก่อน แต่อรรถรสในการอ่านก็ยังคงมากกว่าการ์ตูนภาษาอังกฤษ ซึ่งแม้จะอ่านได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ และมีสมาธิมากขึ้น คำแปลภาษาไทยก็ยังคงมีอิทธิพลต่อความรู้สึกขณะอ่านมากกว่าอยู่ดี

ต่อมาคือทักษะในการดูแอนิเมชั่นพากย์ภาษาญี่ปุ่นซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ โดยส่วนตัวเป็นคนที่ดูแอนิเมชั่นแทบไม่ได้เลยค่ะ เนื่องจากสมาธิสั้นเอามากๆ หลังจากดูไปครึ่งชั่วโมงก็มักจะเกิดไอเดียอยากทำนู่นทำนี่ ส่งผลให้ดูไม่เคยจบเสียที แถมระหว่างดูก็มีเหม่อเป็นพักๆ ทำให้เนื้อเรื่องบางตอนขาดหายไป จะกดย้อนไปดูก็ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน ผิดกับหนังสือการ์ตูนที่สามารถเปิดย้อนหาหน้าที่ต้องการได้รวดเร็วกว่า ดังนั้น แอนิเมชั่นจึงเป็นของไกลตัวมาแต่ไหนแต่ไรแล้วค่ะ จนกระทั่ง 3 เดือนที่ผ่านมา จำใจต้องดูเพราะไม่มีหนังสือการ์ตูนให้อ่าน ผลที่ได้คือทักษะในการอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการอ่านซับไตเติ้ลนะคะ คาดว่าเพราะตอนชม สายตาเราจะเหลือบอ่านซับไตเติ้ลแค่บางคำให้พอเข้าใจ คำที่ไม่เข้าใจก็จะมองข้ามไปแล้วคาดเดาเอาจากภาพที่เห็น แน่นอนว่าไม่ได้เรียนรู้รูปประโยคด้วยค่ะ ทักษะภาษาอังกฤษจากซับไตเติ้ลจึงไม่เกิด แต่ทักษะการฟังภาษาญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นอย่างมากค่ะ! เมื่อดูไปหลายๆ เรื่องถึงได้เริ่มสังเกตว่าบางครั้งเราฟังภาษาญี่ปุ่นเข้าใจก่อนอ่านซับไตเติ้ลเสียอีก และเมื่อฟังเสียงพากย์พร้อมกับอ่านซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษก็ทำให้เดาความหมายของคำใหม่ๆ ที่ได้ยินได้มากขึ้นค่ะ เป็นการเรียนรู้คำศัพท์ได้อย่างดีทีเดียว

มาถึงทักษะการอ่านหนังสือเรียนภาษาอังกฤษบ้างนะคะ ผลคือหนังสือการ์ตูนภาษาอังกฤษและซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษในแอนิเมชั่นไม่ได้ช่วยในการอ่านหนังสือเรียนเลยค่ะ หลังจากนั่งสังเกตว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ทักษะการอ่านข้ามประเภทหนังสือมาไม่ได้ คำตอบคือหนังสือเรียนเขาใช้ภาษาอังกฤษแบบ "วิชาการ" ซึ่งมีรูปแบบการเขียนเฉพาะ ไม่เหมือนภาษาแบบ fiction หรือนวนิยาย ดังนั้น ทักษะการอ่านหนังสือเรียนจึงเพิ่มขึ้นได้ด้วยวิธีเดียวคืออ่านหนังสือเรียนเยอะๆ เท่านั้นค่ะ อย่างไรก็ตาม หนังสือการ์ตูนช่วยให้ความ "กลัวหนังสือ" ลดลงและมีความสุขกับการอ่านมากขึ้นอย่างชัดเจน

หนังสือการ์ตูนหรือแอนิเมชั่นไม่ว่าภาษาใดก็ล้วนมีประโยชน์ต่อทักษะการอ่านหรือฟัง แต่แนะนำว่าไม่ควรอยู่หน้าจอหรืออ่านแต่หนังสือการ์ตูนโดยไม่ออกไปพบปะผู้คน เพราะจากการสังเกตอีกเช่นกัน 3 เดือนที่พูดภาษาไทยน้อยลง เวลาเจอเพื่อนคนไทยก็ชักเริ่มเรียบเรียงประโยคออกมาแปลกๆ แล้วค่ะ รู้สึกตัวว่าทักษะการพูดลดลงอย่างชัดเจน ในระหว่างที่ทักษะการเขียนยังคล่องทั้งภาษาไทยและอังกฤษเพราะต้องพิมพ์รายงานและเขียนคอลัมน์อยู่เป็นประจำ

ข้อสรุปของการสังเกตครั้งนี้คือ Practice makes Perfect ค่ะ อยากเก่งอะไรก็ฝึกทำเข้าไปเยอะๆ พร้อมกับสังเกตความผิดพลาดเพื่อนำไปปรับปรุงในอนาคต ไม่นานรับรองเก่งขึ้นแน่ๆ ค่ะ

วันที่ 08 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11292 มติชนรายวัน

05 กุมภาพันธ์ 2552

Whisper of the Heart เสียงกระซิบที่ปลายทางของหัวใจ

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ตอนนี้ในลอนดอนมีแต่ฝน หมอก มืด และความหนาวค่ะ บรรยากาศเช่นนี้เหมาะกับการดูการ์ตูนที่ทำให้หัวใจเบิกบานพองโตและการ์ตูนที่ได้ดูด้วยความบังเอิญคือ Whisper of the Heart ภาพยนตร์การ์ตูนที่ฉายในปี 1995 ในญี่ปุ่น (14 ปีก่อน) และนำมาใส่ระบบเสียง Dolby Digital โดยค่าย Buena Vista ก่อนออกฉายในอเมริกาเหนือเมื่อต้นปี 2006 นี่เอง

Whisper of the Heart เปิดเรื่องในเมืองเล็กๆ "ทามะนิวทาวน์" ซึ่งกำลังถึงจุดเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนระบบยืมหนังสือในห้องสมุดจากการใช้กระดาษเป็นบาร์โค้ด "ชิสึคุ" เด็กสาวทราบเรื่องนี้จากคุณพ่อซึ่งเป็นบรรณารักษ์ เธอจึงหยิบกระดาษยืมหนังสือที่ท้ายเล่มมาดูและเพิ่งสังเกตว่าทุกเล่มที่เธอยืมมามีชื่อของ "อามาซาวะ เซอิจิ" เขียนยืมก่อนเธอ เด็กสาววัยสิบสี่ซึ่งหลงใหลโลกของหนังสือที่เต็มไปด้วยจินตนาการจึงเริ่มคิดภาพเซอิจิและใฝ่ฝันที่จะได้พบตัวจริงสักครั้ง นอกจากระบบบาร์โค้ดซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาแล้ว หัวใจของชิสึคุก็มาถึงจุดเปลี่ยนด้วยภาพของเซอิจิในจินตนาการเช่นกัน

ด้วยความบังเอิญหรืออาจจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในชีวิตของชิสึคุ เธอได้พบกับแมวอ้วนท่าทางกวนๆ ในรถไฟ แมวฉลาดตัวนั้นลงป้ายเดียวกับเธอและวิ่งตรงไปทางห้องสมุดซึ่งเธอต้องเอาข้าวกล่องไปให้คุณพ่อเช่นกัน ชิสึคุนึกสนุกตามไปและได้พบกับร้านขายของแอนทีค "The Earth Shop" ซึ่งมีคุณปู่ "นิชิ" ที่ใจดีดูแล ที่นั่นเธอได้พบกับตุ๊กตาสูงกว่าไม้บรรทัดที่ศีรษะเป็นแมวแต่ตัวเป็นคนในชุดทักซิโด้ตามแบบสุภาพบุรุษยุโรป ตุ๊กตาตัวนั้นคือ "บารอนฮัมเบิร์ต" บางอย่างในดวงตาแวววาวของบารอนทำให้ชิสึคุถูกดึงไปสู่โลกแห่งจินตนาการที่มีคนแคระและนางฟ้า เธอก้าวไปสูงขึ้นอีกขั้นหนึ่งแล้วสำหรับจินตนาการ แต่กลายเป็นถอยหนึ่งก้าวจากความเป็นจริง

ชิสึคุกลับไปร้านขายของแอนทีคอีกครั้งเพราะอยากพบกับบารอนซึ่งในความคิดของเธอเต็มไปด้วยเรื่องราวในจินตนาการที่บารอนเป็นตัวเอกอัดแน่นจนแทบระเบิด เธอเป็นนักอ่านที่ดีมานานและคนที่ทำให้เธอคิดว่าได้เวลาถ่ายทอดในฐานะนักเขียนบ้างคือเด็กผู้ชายซึ่งเป็นหลานของคุณปู่นิชิ ภายหลังชิสึคุจึงทราบว่าเด็กผู้ชายอายุเท่ากับเธอคนนี้คือ "อามาซาวะ เซอิจิ" ที่ยืมหนังสือก่อนหน้าเธอนั่นเอง
งานอดิเรกที่จริงจังของเซอิจิคือทำไวโอลินที่ร้านของคุณปู่นิชิ เขามุ่งมั่นอยากเป็นช่างทำไวโอลินชั้นเลิศให้ได้แม้อายุแค่สิบสี่ปี ความฝันอันยิ่งใหญ่ของเซอิจิถ่ายทอดมาสู่ชิสึคุอย่างน่ามหัศจรรย์ค่ะ เธอเองอยากพัฒนาตัวให้ได้มากกว่านี้และเห็นแล้วว่าตัวเองมีพรสวรรค์ทางด้านภาษา นิยายเรื่องแรกที่เธอเขียนใช้ตุ๊กตาแมวบารอนเป็นตัวเอกและแรงบันดาลใจ ในตอนนั้นเซอิจิได้ไปอิตาลีเพื่อฝึกการทำไวโอลินสองเดือน ชิสึคุจึงรู้สึกว่าเซอิจิวิ่งทิ้งห่างเธอไปไกลและเธออยากตามให้ทัน เธอตัดสินใจบอกพ่อแม่ว่าจะไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัยแต่จะเดินตามความฝันที่จะเป็นนักเขียน เหลือเชื่อที่พ่อแม่อนุญาตค่ะ! ตรงนี้ตอกย้ำให้เรารู้ว่าชิสึคุเติบโตมาในครอบครัวที่ดูแลเธอเป็นอย่างดีและเธอได้รับความไว้วางใจที่จะตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตจากการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ชิสึคุตั้งหน้าตั้งตาเขียนนิยายและนำไปให้คุณปู่นิชิอ่านทั้งน้ำตา นี่คือผลงานชิ้นแรกในชีวิตของเธอ ผลงานที่ล้มเหลวแต่ทำให้โลกจินตนการของชิสึคุมาบรรจบกับโลกของความเป็นจริงในที่สุด

คุณปู่นิชิบอกว่า ผลงานของเธอคือ "อัญมณีที่ยังไม่ผ่านการเจียระไน" ซึ่งชิสึคุทราบได้ทันทีว่าการเจียระไนคือการพัฒนาตัวเองมากกว่านี้ การตัดสินใจไม่เรียนต่อและหันหน้าเข้าสู่โลกของจินตนาการไม่ใช่คำตอบ แต่การเรียนรู้ให้สูงขึ้นพร้อมกับฝึกฝนตัวเองต่างหากคือคำตอบ ชิสึคุเปลี่ยนใจเตรียมตัวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยค่ะ พร้อมๆ กับเซอิจิที่กลับมาจากอิตาลีและหอบเอาหัวใจที่ตามเสียงกระซิบของความฝันมาจนถึงปลายทางในที่สุด

Whisper of the Heart เป็นก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของการค้นพบตัวเองและผสานโลกของความฝันและความจริงเข้าด้วยกันอย่างน่าประทับใจ ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้กำกับโดย "โยชิฟุมิ คอนโด" ซึ่งกำกับฯ Whisper of the Heart เป็นเรื่องแรกและเรื่องสุดท้ายในชีวิต สามปีหลังเรื่องนี้ออกฉาย เขาก็จากไปด้วยโรคหลอดเลือดโป่งพองในสมองด้วยวัยเพียง 37 ปี แต่ก็ทิ้งผลงานซึ่งทำให้หัวใจของทุกคนพองโตจากเสียงกระซิบเล็กๆ ในโลกแห่งจินตนาการ

Whisper of the Heart คือแอนิเมชั่นที่ทำให้เราหยุดวิ่งอย่างไร้ทิศทางและฟังเสียงเล็กๆ จากหัวใจของเราเองค่ะว่าความปรารถนาสูงสุดของเราแม้อยู่ไกลสุดเอื้อม แต่ทางเดินก็ปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้วนี่เอง

วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11258 มติชนรายวัน

Big Windup! การ์ตูนที่เหมาะแก่การสร้างคน (2)

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ต่อจากสัปดาห์ที่แล้วซึ่งเล่าค้างไว้ถึง Ookiku Furikabutte การ์ตูนเบสบอลที่ได้รับทั้งเงินและกล่องไปอย่างท่วมท้นในปี 2007และยังดังติดชาร์ตไม่มีตกในปี 2008 ความลับของการ์ตูนที่เป็นพันธมิตรของทั้งนักอ่าน ผู้ปกครอง สำนักพิมพ์ และกระทรวงวัฒนธรรมคืออะไรกันแน่ เพราะเหตุใดสี่เส้าที่มีความต้องการจากการ์ตูนต่างกันสุดขั้วจึงลงตัวที่การ์ตูนเรื่องนี้ นักอ่านต้องการการ์ตูนที่อ่านแล้วสนุก ไม่ต้องสร้างสรรค์นักก็ได้ ผู้ปกครองต้องการการ์ตูนที่สร้างสรรค์ให้คุ้มกับเงินที่เสียไป สำนักพิมพ์ต้องการการ์ตูนที่ทำยอดขายได้ดีๆ และกระทรวงวัฒนธรรมต้องการการ์ตูนที่จะเปลี่ยนค่านิยมของสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น อะไรคือสิ่งที่ทำให้ Ookiku Furikabutte ลงตัวกับทุกความต้องการ

คำนิยามสั้นๆ ของการ์ตูนเบสบอลเรื่องนี้คือ Inspiration and Team ค่ะ ทีมเบสบอลที่ปรากฏในเรื่องทุกทีมดึงเอาสุดยอดแห่งศาสตร์ของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าจากสองยุคสมัยที่ห่างกันสามทศวรรษมารวมกันอย่างลงตัว โดย Inspiration หรือ "แรงบันดาลใจ" คือค่านิยมของการ์ตูนเบสบอลในยุค 70 ยุคทองของการ์ตูนที่มองภาพ ?โคชิเอน? หรือสนามแข่งรอบชิงชนะเลิศสำหรับเบสบอลมัธยมปลายเป็นปลายทางของความฝันฤดูร้อน ทุกคนต้องฝึกฝนอย่างหนัก พลีหยาดเหงื่อและน้ำตาฝ่าฟันอุปสรรค์เพื่อให้ได้ไปยืนอยู่กลางโคชิเอนและคว้าถ้วยแห่งชัยชนะมาครอง

Ookiku Furikabutte นำเสนอภาพนี้ใน "ทุกตอน" ค่ะ ไม่มีตอนไหนเลยที่สมาชิกชมรมเบสบอลจะไม่ฝึกซ้อมและพัฒนาตัวเอง การ์ตูนนำเสนอเทคนิคการเป็น "นักเบสบอลมัธยมปลาย" อย่างชาญฉลาดด้วยการสร้างสมดุลให้ชีวิตของเหล่านักกีฬาซึ่งไม่ใช่แค่เล่นเบสบอลเป็นงานเดียวในชีวิต ทุกคนต้องฝึกพื้นฐานร่างกายจิตใจและต้องเรียนหนังสือ นี่คือการ์ตูนเบสบอลหนึ่งในน้อยเรื่องที่นำเสนอออกมาเต็มปากเต็มคำว่า "แม้เราจะมุ่งมั่นในเบสบอล แต่เราก็เป็นนักเรียนด้วยเหมือนกัน" สมดุลนี้ทำให้เหล่าผู้ปกครองต่างสรรเสริญและกระทรวงวัฒนธรรมยกนิ้วให้

การเล่นเบสบอลใน Ookiku Furikabutte ไม่ใช่การขว้างและตีสาดไปมาพร้อมกับทำแต้มเพื่อชัยชนะให้คนดูลุ้นจนอดรีนาลีนหลั่ง แต่การเล่นทุกจังหวะมีเสียงความคิดของผู้เล่นว่าเขาทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ตัวอย่างเช่น "ทาจิมะ" มือตีฝีมือดีที่ตีลูกได้ทุกประเภท การ์ตูนไม่ได้นำเสนอแค่ทาจิมะตีสาดจนลูกลอยไปไกลเท่านั้น แต่ก่อนตีเราได้เห็นว่าทาจิมะเลือกตีไปยังบริเวณที่การป้องกันอ่อน หรือเลือกที่จะไม่ตีเพื่อดูทิศทางและแนวการขว้างของลูก อีกคนหนึ่งคืออาเบะซึ่งแม้เป็นแคชเชอร์หรือผู้รับบอลซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังคนตี ก่อนเขาส่งสัญญาณบอกมิฮาชิซึ่งกำลังจะขว้างลูกมา เราจะได้ยินเสียงคำพูดของเขาบอกว่าเขาศึกษาคู่แข่งคนนี้มาแล้วว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร หลังจากนั้นจึงวางแผนว่าควรให้มิฮาชิขว้างลูกแบบไหนจึงจะเหมาะที่สุด การนำเสนอความคิดในทุกขั้นตอนคือการเล่นอย่าง "นักวิเคราะห์วิจัย" ค่ะ และแนวคิดนี้คือการสร้างคนเพื่อให้กลายเป็นนักวิจัยที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต ถ้าเด็กมัธยมปลายในญี่ปุ่นดูการ์ตูนเรื่องนี้แล้วพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์แบบเดียวกับนักศึกษาระดับปริญญาโท ประเทศนี้ในอีกสิบปีข้างหน้าจะน่าทึ่งขนาดไหน

ส่วน Team หรือ "การทำงานเป็นทีม" คือค่านิยมของการทำงานในปัจจุบันค่ะ ไม่มีตัวเอกฉายเดี่ยวแบบอดีตอีกแล้วเพราะเราไม่ต้องการฮีโร่ที่เก่งคนเดียวแต่เพื่อนพ้องล้มเหลวทุกคน Ookiku Furikabutte นำเสนอทักษะการทำงานเป็นทีมและการทำให้ทีมเวิร์กมันออกมาเวิร์ก หมายถึงทุกคนในทีมต้องร่วมมือเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือโคชิเอน เมื่อทำดีทุกคนต้องชื่นชม เมื่อทำพลาดทุกคนก็ช่วยกันวิเคราะห์ว่าพลาดเพราะอะไรและให้กำลังใจสำหรับครั้งหน้า การพลาดแล้วเหยียบซ้ำแบบอดีตไม่มีในเรื่องนี้แม้แต่ฉากเดียว แรงกดดันที่ทำให้เป็นทุกข์เกิดจากความพยายามที่จะก้าวข้ามขีดความสามารถของตัวเองล้วนๆ ดังนั้นเรื่องนี้จึงนำเสนอ "การมองโลกในเชิงสร้างสรรค์" อย่างน่าทึ่ง ไม่ได้หมายถึงมองทุกอย่างดีไปหมดนะคะ แต่หมายถึงมองทุกอย่างว่าล้วนแล้วแต่แก้ไขได้ พัฒนาได้ ทำให้ดีขึ้นกว่านี้ก็ยังได้

Ookiku Furikabutte ได้สร้างค่านิยมใหม่ให้สังคมและดอกผลก็สามารถเห็นได้ใน 10-30 ปีข้างหน้าเมื่อเด็กเหล่านั้นกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลทางความคิดในสังคม เช่นเดียวกับที่ผู้เขียน "อาสะ ฮิกุจิ" ชื่นชมการ์ตูนเบสบอลเมื่อสามสิบปีก่อนตอนเป็นเด็ก และกลายมาเป็นนักเขียนการ์ตูนเบสบอลซึ่งทรงอิทธิพลทางความคิดที่สุดในญี่ปุ่นตอนนี้

ถ้าโดราเอมอนคือการ์ตูนที่จะให้ลูกอ่านตอนประถม Ookiku Furikabutte คือเรื่องที่ควรให้ลูกได้ดูตอนขึ้นชั้นมัธยมแน่นอนเลยค่ะ แต่น่าเสียดายที่การ์ตูนซึ่งให้ประโยชน์สูงสุดใน Top 50 การ์ตูนขายดีในญี่ปุ่นประจำปี 2008 อย่างเรื่องนี้กลับไม่มีแปลเป็นภาษาไทย!

ไม่เป็นไร...ดูเป็นภาษาอังกฤษก็ถือเป็นการฝึกฝนอย่างหนึ่งเช่นกัน นี่คือตัวอย่างของการมองโลกอย่างสร้างสรรค์นะคะ

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11278 มติชนรายวัน