28 มิถุนายน 2551

แอนิเมชั่น ก-ฮ อย่าเรียกเขาว่าการ์ตูนเด็ก

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เมื่อไม่กี่วันก่อน ได้ไปเดินเล่นในห้องการ์ตูนของ pantip.com ห้องพบปะออนไลน์สำหรับคนรักการ์ตูนค่ะ เห็นมีหัวข้อโหวตชื่อแปลกๆ "แอนิเมชั่น ก-ฮ" เลยลองเปิดดูโดยคาดหวังว่าน่าจะเป็นภาพนิ่งมาจัดเรียงกันแล้วเปิดอาขยานกอไก่ถึงฮอนกฮูกแบบที่เคยท่องสมัยเด็กๆ หลังจากดาวน์โหลดอยู่นานมากตามประสาอินเตอร์เน็ตเต่าคลาน การ์ตูนที่ได้ชมทำเอายิ้มแก้มปริเชียวค่ะ

"Thai Alphabet ก เอ๋ย ก ไก่" คือผลงานแอนิเมชั่น 2D (ภาพยนตร์การ์ตูนสองมิติ) ฝีมือคนไทยค่ะ ไม่รู้จักตัวจริงของท่านผู้ทำ ทราบจากในหน้าเครดิตว่าท่านผู้สร้างใช้นามแฝงว่า paitachP และมีชื่อจริงว่า Pairach Pansakoon ค่ะ คุณ Pairach อัพโหลดการ์ตูนฝีมือของตนเองขึ้นไปไว้บน Youtube แต่ปรากฏว่าการ์ตูนเรื่องนี้ได้ถูกเผยแพร่ต่อไปอีกหลายแห่งรวมถึงเป็น forward mail ล้นเข้ามาในอี-เมลเยอะมาก แสดงว่าได้รับความนิยมท่วมท้นจริงๆ

"ก เอ๋ย ก ไก่" ผูกเรื่องราวของคุณพ่อไก่ที่เพิ่งได้ลูกเล็กๆ แสนซนหลายตัว เหล่าลูกเจี๊ยบส่งเสียงหนวกหูเพื่อนบ้านจนคุณพ่อไก่ต้องออกมาขอโทษและแก้ตัวว่าหลังพระอาทิตย์ขึ้น ลูกเจี๊ยบคงเงียบเสียงได้เอง แต่เวลาก็ล่วงมามากแล้ว พระอาทิตย์ก็ยังไม่ขึ้นเสียทีค่ะ คุณพ่อไก่จึงออกปฏิบัติการตามหาพระอาทิตย์ โดยพบเจอเหล่าสิงสาราสัตว์และประสบการณ์มากมายเรียงลำดับตัวอักษรจาก "ค ควาย" ไปจนถึง "ฮ นกฮูก"

น่าชื่นใจที่คนไทยมีฝีมือขนาดนี้ค่ะ!!ความสมบูรณ์ของแอนิเมชั่นที่ไม่ได้มีโปรดัคชั่นใหญ่โตอย่ากพิกซ่าหรือวอลต์ ดิสนีย์ ขั้นนี้ต้องเรียกเทพแล้วค่ะ! ภาพลื่นไหล มุมกล้องสวย เลือกใช้สีได้เหมาะ วาดน่ารักและสื่อได้ชัดเจน ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นแอนิเมชั่น 2D ของคนไทยคุณภาพชวนให้ต้องออกปากชมเช่นนี้

จุดที่ชอบนอกเหนือจากโปรดัคชั่นคงเป็นการผูกเรื่องได้สนุกและชวนลุ้น เรียกว่าดูไปก็คิดว่าอักษรตัวต่อไปจะนำเสนออย่างไร เสียงพากย์ไม่แน่ใจว่าเป็นคนเดียวพากย์หรือเปล่า แต่ท่านนักพากย์ก็พยายามมากที่จะเปลี่ยนเสียงไปเรื่อยๆ ให้เหมาะกับบทบาท นับถือในความพยายามอย่างมากค่ะ ครั้งแรกที่ดูคิดว่าทำไมเสียงพากย์ถึงได้ทื่อๆ เหมือนท่อง แต่ฟังไปฟังมากลายเป็นเอกลักษณ์ให้ดูแล้วหัวเราะ เรียกว่าถ้าพากย์แบบนักพากย์อาชีพคงไม่ขำขนาดนี้

แน่นอนว่าผลงานสาธารณะย่อมมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น ความเห็นที่ออกมามีสิ่งที่น่าสนใจและทำให้เห็นมุมมองของคนไทยที่ดูและอ่านการ์ตูนอยู่หลายแบบเลยค่ะ

แบบแรกซึ่งเป็นคนส่วนน้อยมากคือแสดงความเห็นแบบ "นักวิจารณ์" คือพยายามชำแหละผลงานที่ มี"เอกลักษณ์" ชิ้นนี้ออกมาให้เห็นจุดด้อย และวิจารณ์ให้ปรับปรุงผลงานเพื่อให้เหมือนกับผลงานตามตลาดที่ "ไร้เอกลักษณ์" เช่น น่าจะเปลี่ยนเสียงพากย์ให้โปรหน่อย น่าจะตัดคำแสลงออกเพื่อให้เหมาะกับเยาวชน น่าจะทำดนตรีให้อลังการ น่าจะเรียงอักษรให้ถูกลำดับ น่าจะ...ฯลฯ โดยหลายท่านอาจลืมมองไปว่า ถ้าเปลี่ยนเสียงพากย์ ถ้ามีแต่คำสุภาพคะขาคุณท่านกันทั้งเรื่อง คนดูคงมีแต่เด็กประถมทั้งที่การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็กค่ะ

ตรงนี้อาจโทษใครไม่ได้นอกจากท่านผู้สร้างที่ไม่ทันได้แปะไว้ในหน้าแรกสุดว่า "เหมาะสำหรับเด็กอายุเกิน 18 ปีขึ้นไป" ดังนั้นผลงานต่อไปแปะไว้สักนิดก็น่าจะดีนะคะ เพราะเราไม่มีทางทราบว่าเราจะโด่งดังหรือยิ่งใหญ่เมื่อไร อะไรที่เผยแพร่สู่สาธารณะอาจต้องคำนึงถึงคนหลายกลุ่มให้มากขึ้นด้วยค่ะ

อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้คุณ Pairach หวั่นไหวไปกับคำวิจารณ์เพื่อให้สูญเสียตัวตนเลยค่ะ จะมีค่าอะไรถ้าผลงานสร้างสรรค์ถูกปรับกลายเป็นผลงานตลาดที่ใครๆ ก็ทำได้ส่วนความเห็นอีกแบบซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่คือ "ชื่นชม" เชื่อไหมคะว่า "การชม" คือการแสดงถึงพัฒนาการทางอารมณ์ของผู้ใหญ่ ยารักษาความอิจฉาริษยาที่ได้ผลชะงัดที่สุดคือ "ชื่นชมจากหัวใจ" ค่ะ แม้จะเห็นจุดด้อย เราก็ยังชื่นชมได้ว่าเป็นจุดที่สามารถพัฒนาต่อไปได้อีก โชคดีมากที่เห็นหลายท่านวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ด้วยคำชม ถือว่าเป็นโชคดีของวงการการ์ตูนไทยแล้วค่ะ

ทางรอดของวงการการ์ตูนไทยอาจต้องให้ทุกคนร่วมใจกันกินยาขมยี่ห้อ "ชื่นชม" เสียแล้วค่ะ ฝึกชมและดึงจุดดีขึ้นมาเพื่อเป็นกำลังใจ ใครเห็นจุดด้อยก็ให้มองเลยไปอีกว่าถ้าจะให้ดีขึ้นควรทำอย่างไร ความเห็นที่ออกมาจึงจะเรียก "วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์"

คงต้องทิ้งท้ายเพื่อเป็นกำลังใจแบบเดียวกับตอนจบการ์ตูนขบวนการว่า...

"สู้ต่อไปนะ เหล่านักสร้างการ์ตูนไทย! จงภูมิใจที่เขาวิจารณ์ดีกว่าเขาดูแล้วเงียบกันหมด!"

จากหนังสือพิมพ์ มติชนฉบับวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11068


ชม Thai Alphabet ( ก เอ๋ย ก ไก่ )จากYouTube

22 มิถุนายน 2551

กังฟูแพนด้า เรื่องบังเอิญไม่มีในโลก


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

จัดเป็นภาพยนตร์การ์ตูนที่ทำให้หัวเราะได้เต็มเสียงที่สุดในรอบปีนี้เลยค่ะ "กังฟูแพนด้า" ภาพยนตร์การ์ตูน (แอนิเมชั่น) ของค่ายดรีมเวิร์คฝั่งอเมริกันซึ่งถูกพ่อสารถีลากไปดูเนื่องจากพ่อคุณเห็นว่าแพนด้าน่ารักดี โดยส่วนตัวไม่ค่อยสันทัดกับมุขและลำดับภาพของการ์ตูนอเมริกันเท่าไรค่ะ ไปดูด้วยความคาดหวังไม่สูงนักแต่เมื่อดูปรากฏว่าดีกว่าที่คิดมาก

แพนด้าตัวเอกของเรื่องคือ "อาโป" แพนด้าหนุ่มลูกชายคนเดียวของเตี่ยร้านขายก๋วยเตี๋ยว อาโปเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเหล่ากังฟูไฟเตอร์ โดยเฉพาะ 5 นักสู้ ซึ่งประกอบไปด้วยพยัคฆ์, กระเรียน, ตั๊กแตน, อสรพิษ, และวานร (ในเรื่องชื่อหรูกว่านี้แต่จำไม่ได้ค่ะ) นักสู้เหล่านี้เป็นศิษย์ของปรมาจารย์ชิฟูผู้เก่งกาจ นอกจากนั้น ชิฟูยังเป็นผู้เก็บรักษา "คัมภีร์มังกร" ซึ่งกล่าวว่าหากใครได้ครอบครองก็จะกลายเป็นเจ้ายุทธจักร เรียกว่าทางโปรดักชั่นทำการบ้านหนังจีนมาเต็มที่ นำเสนอให้คนชอบดูหนังจีนไม่ขัดเขินเลยล่ะค่ะ

แต่แล้ววันหนึ่งในงานเลือกนักสู้มังกรผู้จะได้รับสืบทอดคัมภีร์ ความบ้าดาราและวงการกังฟูของอาโปทำให้เขาพยายามเข้าไปชมการประลองแต่ก็ไม่ทัน อาโปตัดสินใจเอาดอกไม้ไฟผูกติดตัวเองและบินข้ามกำแพงเข้าไปดู แต่ไม่ทราบโชคดีหรือโชคร้าย เขาตกลงกลางวงขณะอาจารย์เต่ากำลังชี้นิ้วเลือกผู้สืบทอด และบังเอิญอาโปตกลงตรงปลายนิ้วเสียด้วย!

ผลคืออาโปต้องฝึกวิทยายุทธ์เพื่อให้เหมาะสมกับการรับคัมภีร์โดยที่มีอาจารย์ชิฟูกับศิษย์ทั้ง 5 ของเขาแอบดูอย่างไม่พอใจอยู่เงียบๆ

สาเหตุที่ไม่พอใจคืออาโปเป็นแพนด้าตุ้ยนุ้ยที่ไม่มีวิทยายุทธ์เลยค่ะ เขาคือ โอตาคุ (เป็นศัพท์แสลงหมายถึงคนที่บ้าคลั่งในบางสิ่งมากๆ (มักเป็นการ์ตูน) จนถึงขนาดศึกษาประวัติศาสตร์ เก็บของสะสม และพยายามทุกอย่างเพื่อที่จะได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม) ที่ชอบวงการกังฟูมาก รู้ทุกเรื่องและเป็นแฟนเหนียวแน่นของนักสู้ทั้ง 5 เช่นกัน แต่ความรู้ของอาโปไม่ทำให้เขาเก่งกังฟูได้ เหมือนเด็กอ่านหนังสือเรื่องชกมวยโดยไม่เคยฝึกซ้อมก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นนักมวย ผลคือเขาถูกคนส่วนใหญ่ดูถูกว่าไม่คู่ควรกับคัมภีร์

แม้จะโดนคนอื่นไม่ชอบขี้หน้า แต่อาโปก็มองโลกในแง่ดีว่าทุกคนเข้มงวดกับเขาเพราะอยากให้เขาเก่งขึ้น ไม่ได้ต้องการกลั่นแกล้ง (มองโลกเชิงบวกได้น่ารักมาก) นอกจากนั้น เขายังทำสิ่งที่ถนัดให้กับเหล่านักสู้ทั้ง 5 ด้วย นั่นคือก๋วยเตี๋ยวที่ฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก

ชอบใจจุดนี้ของหนังมากค่ะ ฉากนี้ทำให้เด็กๆ รู้ว่าการเป็นฮีโร่อาจต้องเก่งกังฟู แต่การเป็นคนเก่งและได้รับการยอมรับไม่จำเป็นต้องเป็นฮีโร่ เพียงแค่มุ่งมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเต็มที่และรู้จักพัฒนาตัวเองเช่นเดียวกับอาโปฝึกทำก๋วยเตี๋ยว เราก็สามารถเป็นอัจฉริยะในเรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของเราได้

กลับมาที่การ์ตูน ข่าวนักรบมังกรรู้ถึงหูของไต้ลุง เสือดาวที่หมายปองคัมภีร์มังกรอยู่แต่แรก เขาอาละวาดเพราะไม่ได้รับเลือกเป็นนักรบมังกรเมื่อ 20 ปีก่อน จึงถูกคุมขังมาตลอดแต่บัดนี้เขาแหกคุกมาเสียแล้ว ด้วยจุดมุ่งหมายคือล้มอาโปและครอบครอบคัมภีร์มังกรให้ได้

อาจารย์ชิฟูหมดหนทางแล้วค่ะ เขาคิดมาตลอดว่าอาโปได้รับเลือกเพราะความบังเอิญ แต่เมื่อระลึกถึงคำผู้อาวุโสเต่า "ความบังเอิญไม่มีจริง" เขาจึงมองดูแพนด้าไม่ได้ความอีกครั้งด้วยดวงตาของครู จนรู้ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะสอนศิษย์ตุ้ยนุ้ยคนนี้ให้ได้ผล

ชื่นชมการนำเสนอตรงนี้มากๆ ค่ะ หนังไม่ดำเนินตามรอยหนังจีนโบราณที่ศิษย์ไม่ได้ความมีหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือพยายามให้มากขึ้นเพื่อจะสำเร็จเคล็ดวิชา กังฟูแพนด้าให้แง่คิดที่ต่างไปหน่อย ชิฟูบังคับอาโปให้ฝึกไม่เคยได้ผลแต่เขาสังเกตว่าอาโปทำได้ทุกอย่างเมื่อมีอาหารมาล่อ เขาจึงฝึกอาโปโดยเอาบรรดาอาหารเป็นรางวัล ผลคือฝึกได้สำเร็จในที่สุด

การเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์และพยายามสื่อสารเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่เราต้องการโดยเอาธรรมชาติของผู้อื่นเป็นที่ตั้งคือทักษะ "ความเป็นครู" ที่เด็กควรได้เรียนรู้

พ่อแม่ก็ควรเรียนรู้ด้วยนะคะ การสอนให้ลูกทำตามไม่ใช่การบังคับแบบชิฟูสอนศิษย์ยุคแรกๆ อีกแล้ว ระเบียบวินัยต้องมี แต่แรงจูงใจเป็นสิ่งที่ใช้ได้ผลกว่าการออกคำสั่งมาก ดังนั้น อาโปจึงเป็นคนที่ทำให้ชิฟูเป็นทั้งครูและพ่อได้อย่างแท้จริง ในทางกลับกันชิฟูและความตั้งใจของอาโปทำให้เขากลายเป็นแพนด้าผู้เยี่ยมวรยุทธ์ได้ในที่สุดเช่นกัน

กังฟูแพนด้าคือการ์ตูนที่เหมาะกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่จริงๆ ค่ะ พล็อตไม่ซับซ้อนทำให้เด็กเข้าใจได้ง่ายและเรียนรู้คุณธรรมอย่างรวดเร็ว ส่วนมุขขำเสียดสีหลายตอนช่วยให้ผู้ใหญ่ดูและหัวเราะได้เต็มเสียงเช่นกัน จัดว่าเป็นพายุลูกใหญ่ที่ทำให้วงการแอนิเมชั่นอเมริกันถล่มญี่ปุ่นจนคลอนได้เลยทีเดียว

จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11061

ตัวอย่างKung Fu Panda จากyoutube

อิคิงามิ 2 : บางทีมนุษย์ก็ต้องเสียสละบ้าง


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เมื่อวานนี้นั่งตรวจผู้ป่วยอยู่ตามปกติค่ะ แต่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น จู่ๆ ผู้ป่วยก็ลุกขึ้นมาอาละวาดตะโกน ญาติที่พามาก็ตัวเล็กๆ ไม่สามารถห้ามผู้ป่วยได้ ความที่ได้รับการสอนมาว่าต้องระมัดระวังตัวเสมอจึงหลบออกทางหลังห้องตรวจอย่างรวดเร็วค่ะ แต่ผู้ป่วยก็ตรงดิ่งเข้ามาจนขนาดเราถอยหนีไปจะสุดกำแพงก็ยังตามมา!

วินาทีสั้นๆ ตอนนั้นคิดแล้วค่ะว่าต้องโดนซักหมัดแน่ๆ หลบอย่างไรก็ไม่พ้น เสียดายชีวิตจริงๆ อุตส่าห์เป็นจิตแพทย์มาหลายปี ระวังตัวเสมอและคิดว่าน่าจะได้เป็นหมออีกนาน ยังไม่ทันได้ดูแลพ่อแม่เลย...แต่สงสัยต้องมาตายวันนี้เสียแล้ว (คิดไปถึงขนาดนั้น สถานการณ์จริงไม่ได้น่ากลัวขนาดนี้หรอกค่ะ)

ไม่น่าเชื่อว่าไม่กี่วินาทีสั้นๆ หลายสิ่งหลายอย่างประดังเข้ามาพร้อมๆ กันเลยค่ะ และคิดว่าถ้าเรามีเวลาอีกซักนิดก่อนตายคงจะทำอะไรได้เยอะ

เช่นเดียวกับ "อิคิงามิ" การ์ตูนที่กระแทกหัวใจหลายๆ คน และกำลังจะสร้างเป็นภาพยนตร์ในญี่ปุ่น ว่าด้วยประเทศญี่ปุ่นในยุคที่ผู้คนขาดความกระตือรือร้น รัฐบาลจึงบังคับให้เด็กทุกคนฉีดวัคซีน ซึ่ง 1 ใน 1,000 เข็มจะมีระเบิดซ่อนอยู่และถูกตั้งเวลาไว้แล้วว่าจะระเบิดตอนไหน เพื่อให้เด็กทุกคนพยายามใช้ชีวิตอย่างเต็มที่เนื่องจากไม่รู้ว่าเราจะแจ๊คพ็อตเป็นคนโดนระเบิดหรือเปล่า ดังนั้น 24 ชั่วโมงก่อนระเบิดทำงานซึ่งหมายถึงว่าคนคนนั้นต้องตาย เขาจะได้รับ "อิคิงามิ" หรือจดหมายแจ้งเพื่อให้ทำสิ่งที่ปรารถนาในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงสุดท้ายของชีวิต

"ทาเคบะ โชจิ" เด็กหนุ่มที่ไม่เคยมีความภูมิใจใดๆ เลยในชีวิตได้รับอิคิงามิค่ะ ตั้งแต่ยังเล็ก เขาเป็นเด็กหัวไม่ดี ทำอะไรก็ไม่เอาไหน แม้ปัจจุบันทำงานเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราก็ยังทำงานผิดพลาด มีเพียงคุณย่าของเขาที่บอกว่า "ถึงหลานจะเรียนไม่เก่งก็ยังมีข้อดีอีกมากนะ" คำพูดนี้ทำให้เขายังมีความภูมิใจในความธรรมดาของตัวเองเหลืออยู่บ้าง

หลังได้รับอิคิงามิ โชจิทำใจไม่ได้ เขาต้องเข้ารับการบำบัดและตั้งสติได้ในที่สุดว่าสิ่งที่ต้องทำในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่เหลือไม่ใช่นั่งเสียใจ แต่ต้องทิ้งอะไรไว้ให้คนที่มีชีวิตอยู่ระลึกถึงตัวเขาบ้าง และสิ่งนั้นจะทำให้ความตายของเขาเปลี่ยนเป็นการมีชีวิตในหัวใจผู้อื่นนิรันดร์

เมื่อโชจิตั้งสติได้แล้วจึงไปล่ำลาเพื่อนร่วมงาน เขาได้พบคุณยายที่ดูแลอยู่ คุณยายท่านนี้ไม่ยอมเดินเพราะเป็นโรคสมองเสื่อมจนความทรงจำย้อนกลับไปสมัยยังสาวๆ ที่สามีต้องไปออกรบและเสียชีวิตในสงคราม คุณยายเสียใจมากที่สามีทิ้งเธอไปรบ โกรธประเทศชาติที่พรากครอบครัวอันเป็นที่รัก จึงกลายเป็นไม่ยอมเดินเพราะจำได้ว่าตอนที่ขาเจ็บ สามีจะช่วยประคอง หากเธอไม่เดินเองสามีก็คงไม่ไปรบและกลับมาจากสงครามเพื่อช่วยประคองเช่นกันหลังจากโชจิล่ำลาทุกคนไม่นาน คุณยายก็หนีออกจากบ้านพักและล้มลงในนาข้าว ไม่ยอมลุกขึ้นยืนด้วยตัวเองอีกเลย ครั้งนี้โชจิไม่เข้าไปช่วย เขายื่นอิคิงามิให้ดูเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่สามียื่นใบเกณฑ์ทหารให้ดู

"เพื่อชาติน่ะ หัดอดทนซะบ้างสิ!"

ใช่ว่าสามีของคุณยายจะไม่รักครอบครัวจึงทอดทิ้งไปสนามรบ แต่เพราะรักจึงต้องยอมไปเป็นกำลังต่อสู้ร่วมกับเพื่อนร่วมชาติอีกหลายคนแม้จะรู้ว่าคงไม่รอดกลับมาก็ตาม เขาเสียสละเพื่อชาติได้แม้ชีวิต ดังนั้น คุณยายก็ต้องเสียสละลุกขึ้นยืนด้วยตนเองและปกป้องครอบครัวที่เหลืออยู่ให้ได้เช่นกัน

ภารกิจตายตามอิคิงามิของโชจิก็ถือเป็นการช่วยชาติทางหนึ่ง (ในการ์ตูนนะคะ เขาเปรียบเทียบ อย่าไปอินมาก) ต่างกันแค่ยุคสมัยแต่ยังคงความหมายของการเสียสละเพื่อชาติไม่เปลี่ยนแปลง ในที่สุดโชจิก็จากไปอย่างสงบท่ามกลางครอบครัวและคุณยายก็ลุกขึ้นยืนด้วยตัวเองเพราะโชจิ เขาได้ทำสิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเท่าที่มนุษย์ธรรมดาจะทำได้แล้ว ไม่ได้ตีอกชกตัวเรียกร้องให้ประเทศชาติทำอะไรเพื่อเขาบ้าง เขาคิดแค่ว่าได้ทำดีที่สุดเพื่อคนอื่นเท่าที่กำลังและเวลาของตนจะมีก็พอแล้ว

ย้อนกลับมาที่จิตแพทย์ผู้รอดพ้นจากการโดนชกและมานั่งเขียนคอลัมน์ต่อได้ค่ะ ในระหว่างที่ยังตื่นกลัวจนแทบอยากเลิกอาชีพนี้ พออ่านอิคิงามิจบถึงกับร้องไห้เลยค่ะ

"บางทีมนุษย์ก็ต้องเสียสละบ้าง" คือคำที่ผุดขึ้นมา เราร่ำเรียนด้วยทุนรัฐบาลซึ่งมาจากภาษีของประชาชนเพื่อเป็นจิตแพทย์ เราไม่ทำแล้วใครจะทำ ไม่ตอบแทนประชาชนแล้วจะตอบแทนใคร...สติถึงกลับมาอีกครั้ง ตอบตัวเองได้ว่าจิตแพทย์ไม่ใช่อาชีพเสี่ยงตาย เพราะได้มีการเตรียมพร้อมรับมืออย่างดีเราถึงรอดมาได้ไม่ใช่หรอกเหรอ จะว่าไปกระทั่งคนนั่งมอเตอร์ไซค์ก็เสี่ยงตายแต่เขาก็ระมัดระวังเตรียมพร้อมถึงยังยอมขี่ต่อไปนี่นา

ต้องขอบคุณอิคิงามิและโชจิที่ทำให้รู้สึกรักและภูมิใจในอาชีพของตัวเองมากขึ้นค่ะ

ได้มองเห็นว่าแท้จริงแล้วไม่มีมนุษย์คนใดที่ไม่ต้องเสียสละ อย่างน้อยระหว่างที่ยังมีชีวิต เราก็ควรตอบแทนผู้อื่นให้มากที่สุดเท่าที่กำลังของตัวเองจะสนับสนุนได้ แบบนี้จึงจะพูดได้เต็มปากว่าไม่เสียทีที่เกิดมาชาตินี้

จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11054

สู้..สู้ ..!!! และสู้..ต่อไป ในภารกิจเพื่อพิทักษ์ ประชาชน และจักรวาล..!!!


ชมIkigamiจากYouTube

Stormy Night การ์ตูนเด็กที่เหมาะกับคนช่างคิด


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สิ่งแรกที่สะดุดตากับกล่อง DVD ของการ์ตูนเรื่องนี้คือ "เขียนชื่อผิดนี่นา" จาก Stormy Night ซึ่งแปลว่าคืนพายุกระหน่ำ กลายเป็น Stromy Night เสียแทน ซึ่งก็ไม่ใช่จุดที่จะมาเอาผิดอะไรหรอกค่ะ เพราะจะเขียนผิดหรือถูกก็จะลองซื้อไปชมอยู่ดี เนื่องจากอ่านเจอบทวิจารณ์จากต่างประเทศที่น่าสนใจว่าภาพยนตร์การ์ตูนสำหรับเด็กวัยอนุบาลถึงประถมเรื่องนี้ สามารถตีความ "เรื่องเพศที่ซ่อนเร้น" ได้อย่างลึกซึ้งในสายตานักวิจารณ์บางคน

Stormy Night หรือชื่อญี่ปุ่น Arashi no Toru Ni สร้างขึ้นโดยได้รับเค้าโครงจากนิทานสำหรับเด็กซึ่งออกมาเป็นซีรีส์ 7 เล่ม ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1997-2005 ฉบับหนังการ์ตูนลงจอฉายครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคมปี 2005 และติดอันดับท็อป 10 ของบ็อกซ์ออฟฟิศในญี่ปุ่นกว่าเดือนทีเดียว เพียงแค่เดือนแรกก็มียอดผู้ชมสูงถึงหนึ่งล้านสองแสนคน ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ปกตินักสำหรับภาพยนตร์การ์ตูนจากนิทานเด็ก และในเดือนมกราคมปี 2006 Stormy Night ก็ได้ฉายใน 26 ประเทศทั่วโลก

เล่าเรื่องสักนิดค่ะ Stormy Night คือเรื่องของแพะหนุ่ม "เมย์" และหมาป่า "กาบุ" วันหนึ่งในคืนพายุกระหน่ำจนฟ้ามืดมิด ฝนตกหนักทำให้ทั้งสองตัวต้องหนีเข้ามาหลบฝนในบ้านร้างมืดสนิท ทั้งสองคุยกันถูกคอโดยไม่รู้เลยว่าต่างฝ่ายต่างก็เป็นศัตรูกันโดยธรรมชาติ จนเมื่อพายุเริ่มสงบ เมย์และกาบุสัญญากันว่าวันพรุ่งนี้แดดดีจะนัดไปกินข้าวกลางวันบนยอดเขาด้วยกัน

แล้วความจริงก็ปรากฏเมื่อกาบุเห็นว่าเมย์ที่เขารู้สึกถูกใจกลายเป็นแพะ นี่เขานัดอาหารของตัวเองเพื่อไปกินอาหารด้วยกันหรอกเหรอ!! โชคดีที่กาบุไม่ใช่หมาป่าใจร้ายเหมือนตัวอื่นค่ะ เขาคิดว่ามิตรภาพงดงามกว่าการเข่นฆ่าด้วยสัญชาตญาณ เขาจึงตัดสินใจเป็นเพื่อนกับเมย์ทั้งที่ต้องอดใจไม่ให้เผลองับเนื้อแพะของโปรดอยู่หลายครา

แต่เหตุการณ์ทุกอย่างก็พลิกผันเมื่อฝูงหมาป่าและแพะรู้ว่าสองตัวนี้คบหาศัตรูและอาหารเป็นเพื่อน เมย์และกาบุถูกสั่งให้ทรยศและใช้ประโยชน์จากความเป็นเพื่อน ไม่อย่างนั้นก็ต้องโดนลงโทษ แล้วทั้งสองจะทำอย่างไรดีล่ะ เด็กๆ ช่วยลุ้นต่อได้นะคะ

ยอมรับในความสวยงามของฉากจริงๆ ค่ะ Stormy Night ใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิคสองมิติสำหรับฉากหลังให้ดูเหมือนเด็กๆ กำลังเปิดหน้าหนังสือนิทานแล้วมีประตูกระดาษเปิดได้ ไม่ก็กังหันลมกระดาษหมุนๆ แต่ฉากสามมิติที่ต้องการความตื่นเต้นเช่นฉากหมาป่าต่อสู้ก็ทำได้สวยอย่างน่าทึ่ง สีจัดจ้านและใช้เทคนิคสีน้ำกลมกลืนจนแทบจะหยุดภาพเป็นงานศิลปะดีๆ ได้หลายฉากเลย

เนื้อเรื่องเป็นการนำเสนอเพื่อเด็กวัยตั้งแต่อนุบาลขึ้นไปจริงๆ ค่ะ เหล่าสัตว์ในเรื่องมีบุคลิกและความคิดเหมือนคน ซึ่งทำให้เด็กวัยอนุบาลรู้สึกเพลิดเพลินและกระตุ้นจินตนาการ แต่ความขัดแย้งระหว่างธรรมชาติกับความรู้สึกยิ่งสนับสนุนให้เด็กประถมเรียนรู้ที่จะเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นไปพร้อมๆ กับระงับความต้องการของตัวเอง เด็กวัยมัธยมต้นน่าจะตื่นตาตื่นใจกับไคลแมกซ์ 2-3 ช่วงที่ตื่นเต้น ส่วนมัธยมปลายก็ซาบซึ้งเมื่อเห็นความรักที่เพื่อนมีให้กัน ยอมรับซึ่งกันและกันและเกิดมิตรภาพแท้จริงที่วัยรุ่นใฝ่หา



ฮู่วววว....ใส่แว่นของเด็กแต่ละวัยมาดูแล้วคิดยิ่งรู้สึกนับถือผู้สร้างค่ะ แต่สิ่งที่ทำให้นักวิจารณ์หลายคนบอกว่ามี "เรื่องเพศที่ซ่อนเร้น" อยู่ ทบทวนเนื้อเรื่องดูแล้วก็ต้องหัวเราะอย่างอารมณ์ดีค่ะว่านักวิจารณ์เขาก็คิดกันได้นะ ลองหยิบแว่นของหนังโรมานซ์ร่วมสมัยมาใส่ดู Stormy Night กลับกลายเป็นการ์ตูนที่นำเสนอการค้นหาตนเอง แสวงหาสังคมใหม่ที่ให้การยอมรับ ต่อสู้กับความขัดแย้งระหว่างมิตรภาพกับความรักที่ผิดธรรมชาติ ฯลฯ...นี่คือพล็อตของหนังรักร่วมเพศระดับรางวัลหลายเรื่องเลยค่ะ ใครคิดว่าดู Broke Back Mountain แล้วซาบซึ้ง ดูเรื่องนี้แล้วจะตกใจค่ะว่าทำไมมัน "ใช่เลย"

ยังยืนยันว่า Stormy Night คือการ์ตูนสำหรับเด็กค่ะ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะไปเจอประเด็นเพศอะไรนั่นเพราะมันไม่มีค่ะ เป็นสิ่งที่นักวิจารณ์ช่างคิดบางคนตีความกันไปเองเพื่อหาเหตุผลมาสรรเสริญความลึกซึ้งของเนื้อหา แท้ที่จริงเมย์กับกาบุคือตัวอย่างที่ดีสำหรับการเรียนรู้มิตรภาพที่ยิ่งใหญ่เท่านั้นเอง

ถ้าอยากให้เด็กๆ เรียนรู้ความเสียสละและจริงใจต่อเพื่อน Stormy Night คืออีกทางเลือกที่น่าสนนะคะ

จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11047

One Stormy Night(ArashiNoYoruNi)

Arashi no Toru Ni (1)



Arashi no Toru Ni (2)



Arashi no Toru Ni (3)


Arashi no Toru Ni (4)



Arashi no Toru Ni (5)



Arashi no Toru Ni (6)


Arashi no Toru Ni (7)


Arashi no Toru Ni (8)


Arashi no Toru Ni (9)


Arashi no Toru Ni (10)


Arashi no Toru Ni (11)

Sayonara Zetsubo Sensei ลาก่อนคุณครูผู้สิ้นหวัง


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวละออง

เชื่อไหมคะว่าในยุคน้ำมันแพงเช่นนี้ ความสุขหรือทุกข์ของคนก็ยังไม่อาจวัดได้จากเงินในกระเป๋าสตางค์แต่วัดได้จาก "มุมมอง" ของแต่ละคนเองมากกว่า ถ้าไม่เชื่อต้องลองอ่านการ์ตูนที่แสนสิ้นหวังเรื่องนี้ดูค่ะ แล้วเราจะพบว่า "มุมมอง" มีอานุภาพมากเหลือเกิน

Sayonara Zetsubo Sensei หรือ "ซาโยนาระคุณครูผู้สิ้นหวัง" เป็นผลงานของ อ.คุเมตะ โคจิ ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์เป็นรูปเล่มได้ไม่นานนี้ แต่หลายท่านอาจจะเคยผ่านตาในรูปแอนิเมชั่นที่ใช้เทคนิคสวยงามและสอดแทรกคำคมไว้เยอะไปหมด

พระเอกของเรื่องคือ "อิโตชิกิ โนโซมุ" คุณครูมัธยมผู้มองโลกในแง่ร้ายที่สุดเท่าที่สมองจะคิดได้ เขามองว่าทุกอย่างในโลกล้วนสิ้นหวัง ไม่มีอะไรมีค่าควรแก่การมีชีวิตอยู่อีกแล้ว ดังนั้น เมื่อต้นเรื่อง เขาจึงกำลังผูกคอตายใต้ต้นซากุระพอดี แต่โชคช่วยเมื่อเด็กสาวผู้มองโลกในแง่ดีสุดขีด "ฟูระ คาฟุคุ" ผ่านมาเห็นเข้า เธอวิ่งเข้าไปกอดขาจนโนโซมุถูกเชือกรั้งคอเกือบตาย เขาจึงต่อว่าเธอไปว่า "เกิดฉันตายขึ้นมาจำทำยังไง!" (อ้าว)

คาฟุคุบอกว่า ไม่มีใครฆ่าตัวตายในวันที่อากาศดีและซากุระบานสะพรั่งอย่างนี้ได้หรอก (แม้จะเห็นโนโซมุเอาคอพาดเชือกเตรียมแขวนก็ตาม) ดวงตาที่มองเห็นโลกเป็นสีชมพูของเธอบอกว่าโนโซมุไม่ได้คิดฆ่าตัวตาย

"แต่กำลังยืดส่วนสูงอยู่ใช่ไหมคะ พ่อของหนูก็เคยยืดส่วนสูงอยู่เหมือนกัน"

เธอยิ้มด้วยใบหน้าที่แสนบริสุทธิ์ แต่เราคนอ่านทราบดีว่าพ่อของเธอก็ผูกคอตายเช่นกัน กลับมาวิเคราะห์ว่าทำไมอ่านถึงตรงนี้แล้วอ้าปากค้าง คำตอบคือการที่เธอยังยิ้มแย้มและเห็นโลกเป็นสีชมพูได้อยู่แม้ว่าคุณพ่อจะฆ่าตัวตาย เพราะเธอพยายามมองทุกอย่างในแง่บวก มองอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้วันต่อๆ มาของชีวิตคนเป็นไม่สิ้นสุดแบบชีวิตคนตาย

เคยมีคนถามเหมือนกันค่ะว่ามองแบบนี้ก็เหมือนหนีความจริงสิ พูดแบบนั้นก็ไม่ผิดค่ะ แต่เรานิยมเรียกว่า "ถอยมาตั้งหลัก" มากกว่า คือทิ้งความจริงส่วนที่ปวดร้าวไว้สักพักแล้วทำใจให้เข้มแข็งเสียก่อน เมื่อรู้สึกว่าใจพร้อมจึงค่อยหยิบความเศร้ามาปัดฝุ่นและพิจารณาอีกรอบ ถ้าถามว่าหยิบมาอีกทำไม เพราะอะไรไม่แกล้งทำเป็นลืมๆ ไปเสีย คำตอบคือเราต้องหยิบมาเพื่อป้องกันและเตรียมรับมือหากความเศร้านี้เกิดขึ้นอีกในอนาคตค่ะ

ในตอนที่สองของการ์ตูนเล่มนี้เป็นตอนที่ชอบที่สุดเลยค่ะ เมื่อโนโซมุเป็นคุณครูคนใหม่ประจำห้องของคาฟุคุ เขาแจกกระดาษให้นักเรียนเขียนความหวังในอนาคตของตัวเอง บางคนก็อยากเข้ามหาวิทยาลัยชั้นเลิศ บางคนก็อยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ แต่โนโซมุบอกว่าทุกคนล้วน "สิ้นหวัง" เพราะแม้จะหวัง แต่คิดหรือว่าจะมีปัญญาทำได้ (เล่นเอานักเรียนจุกกันหมด) ดังนั้น เขาจึงให้ทุกคนเปลี่ยนจากการเขียนความหวังเป็น "ความสิ้นหวัง" เสียแทน ส่งผลให้ทุกคนลงมือเขียนทุกอย่างที่อยากเป็นแต่ไม่รู้ทำได้หรือเปล่า เช่น เป็นนายกฯ เป็นดารา ฯลฯ ล้วนเป็นความหวังสูงสุดที่ทุกคนพยายามหนีความจริงว่าตนเองไม่สามารถเป็นได้และลืมๆ ไปเสีย

คาฟุคุยกมือคัดค้านค่ะ เธอบอกว่า "ไม่มีอะไรที่สิ้นหวังหรอก ถ้าทุกคนพยายาม ความหวังก็ย่อมสัมฤทธิ์ผล" กระทั่งเป็นนายกฯ เธอก็บอกว่ายังมีหวัง แต่หากบอกว่าสิ่งที่สิ้นหวังจนเป็นไม่ได้จริงๆ ก็คงเป็นพระเจ้าไม่ก็มนุษย์ต่างดาวล่ะมั้ง

สิ่งที่คนสิ้นหวังอย่างโนโซมุทำกลับกลายเป็นการสนับสนุนให้ทุกคนหันหน้าเข้าสู้กับความหวังและความสิ้นหวังเสียแทนค่ะ หลายคนหลีกเลี่ยงความคาดหวังที่สูงเกินไปเพราะกลัวว่าผิดหวังแล้วจะเจ็บปวด แต่ในบางโอกาส การกล้าเผชิญหน้ากับความผิดหวังก็ทำให้เราบินสูงกว่าที่คาดได้มากเลยนะคะ

Sayonara Zetsubo Sensei จึงไม่ใช่การ์ตูนที่สิ้นหวัง แต่เป็นการ์ตูนที่ให้มุมมองใหม่ๆ ทั้งสิ้นหวังและสมหวังอย่างสุดขีดเลยค่ะ ในความตลกโปกฮาต้องยอมรับว่าช่วยบริหารสมองให้รู้จักคิดนอกกรอบอยู่โขเลย ลองสำรวจตัวเองตอนอ่านได้นะคะ ถ้าเราคิดว่า "จะบ้าเหรอ มันจะเป็นไปได้ยังไง" แปลว่ามุมมองของเรายังแคบอยู่ค่ะ

แต่ถ้าอ่านแล้วคิดว่า "เออนะ...มันคิดอย่างนี้ก็ได้เหมือนกันนี่" เรากำลังจะกลายเป็นคนที่คิดนอกกรอบได้อย่างอัจฉริยะแล้วค่ะ

Diamond Life พ่อรวยสอนลูกฉบับการ์ตูนตาหวาน


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

เป็นการ์ตูนที่ผิดความคาดหมายไปมากเลยค่ะ หลังจากคาดหวังว่าจะได้อ่านการ์ตูนเบาๆ ไม่มีสาระ ทำนองซินเดอเรลล่านางเอกยาจกเจอพระเอกผู้ร่ำรวยแล้วแฮปปี้เอ็นดิ้ง เพื่อให้สมองได้พักผ่อนบ้าง ที่ไหนได้ "ไดมอนด์ ไลฟ์" ทำเอานอนเกือบตีหนึ่งเลยค่ะ

ไดมอนด์ ไลฟ์ เล่าเรื่อง "คานาเอะ" สาวน้อยวัย 22 ปีที่เรียนไม่จบ ม.ปลาย เนื่องจากปัญหาด้านการเงิน พ่อติดการพนันและไม่ยอมทำงานเป็นชิ้นเป็นอัน ส่วนแม่เมื่อทนพฤติกรรมของพ่อไม่ไหวจึงหนีออกจากบ้าน ส่งผลให้คานาเอะต้องลาออกจากโรงเรียนมาทำงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาดเพื่อหาเลี้ยงพ่อที่มักจะแอบขโมยเงินค่าใช้จ่ายในบ้านไปเล่นการพนันเสมอ

วันโชคร้ายที่สุดก็มาถึง เมื่อคานาเอะถูกขโมยเงินสำหรับจ่ายค่าเช่าบ้านไปหมด ตอนนั้นพระเอกผู้ใจบุญ "ฮารุกิ" ผ่านมาเจอและควักเงินสองแสนเยนให้เธอฟรีๆ เพราะว่าเขาคือประธานบริษัทไฟแรงวัย 26 ปี เจ้าของบริษัทที่คานาเอะไปเป็นพนักงานทำความสะอาดอยู่นั่นเอง

ในช่วงแรกเนื้อเรื่องน้ำเน่าได้ถูกใจมากค่ะ อ่านแล้วก็เดาได้ว่าเดี๋ยวเถอะ มันต้องมีเรื่องให้ทะเลาะกันวันละนิด จีบกันวันล่ะหน่อย งอนเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็เป็นแฟนกัน ท้ายเล่มจบชัวร์ แต่ อ.ฟุจิวาระ อากิระ ผู้วาดเรื่องนี้กลับมีกึ๋นกว่าที่คาดไว้มากค่ะ จากการ์ตูนน้ำเน่าสไตล์หนังไทยเรียกพี่ เธอพลิกให้กลายเป็นการ์ตูนที่ให้แรงบันดาลใจกับคนในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้ได้อย่างฉลาด

ทุกอย่างพลิกผันเมื่อคานาเอะได้ไปเป็นพนักงานทำความสะอาดที่บ้านของฮารุกิด้วยความบังเอิญ ความอัจฉริยะในการทำความสะอาดของคานาเอะเริ่มเข้าตาฮารุกิในที่สุด เขาคิดในใจว่า คานาเอะน่าจะพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นกว่าได้ แต่ผู้ชายที่ร่ำรวยจากการทำนาบนหลังคนอย่างเขาก็ยังไม่เชื่อใจคานาเอะอยู่ดี บทพิสูจน์บทแรกทำให้เขาได้รับบทเรียนอันยิ่งใหญ่เลยค่ะ

คานาเอะเล่าให้ฮารุกิฟังว่า เธอต้องการใช้เงินเป็นค่ารักษาพ่อ เธอจึงใช้เงินจากบัตรเครดิตหลายๆ ใบ และค่อยๆ ผ่อนจ่ายแบบลูกโซ่ (คือกู้ใบใหม่โปะใบเก่าไปทีละนิดแล้วค่อยๆ ปิดหนี้ไปทีละใบ) ซึ่งด้วยความรู้ขนาดเธอก็คิดว่าจัดการได้ง่ายกว่าบริษัทเงินกู้ เธอขอคำแนะนำจากฮารุกิในฐานะประธานบริษัท และคำแนะนำที่ได้คือ

"กู้มาเยอะๆ แล้วชักดาบซะเลย"

อ่านแล้วอ้าปากค้างค่ะ!

เฮ้ย! การ์ตูนเด็กนะ! สอนอย่างนี้ได้ยังไง!

ฮารุกิยังยกแม่น้ำอีกร่วมร้อยสายพร้อมทั้งเสนอว่า ถ้าคานาเอะอยากเบี้ยวเงินเจ้าหนี้ เขาจะช่วยบอกวิธีให้เอง ฟังแล้วหากยอมทนหน้าด้านหน่อยก็ไม่มีปัญหา ขนาดตัวเองอ่านยังเผลอมีใจให้วิชามารชักดาบของฮารุกิเลยค่ะ แต่ในที่สุด คานาเอะก็ตอบว่า

"สิ่งเดียวที่ฉันมีอยู่ตอนนี้คือศักดิ์ศรี ถ้ากู้เขามาแล้วก็ต้องใช้คืนให้ได้ กรุณาอย่าเอาสิ่งสุดท้ายที่ฉันมีอยู่ไปเลย"

อ้าปากค้างต่อค่ะ!

นางเอกเท่เป็นบ้า! แม้เธอจะจนและทำงานหนัก แต่เธอก็มีศักดิ์ศรีพอที่จะไม่ทำเรื่องชั่วๆ ที่อาจทำให้คนอื่นต้องเดือดร้อนและตราหน้าเธอว่าเป็นพวกขี้โกง ฮารุกิถึงค่อยมาเฉลยตอนท้ายว่า หากคานาเอะยอมชักดาบเจ้าหนี้ตามที่เขาแนะนำ สุดท้ายตัวคานาเอะเองน่ะแหละที่จะรับผลกรรมทั้งหมด เธอจะไม่มีใครไว้ใจและยอมช่วยเหลืออีกต่อไป รวมถึงตัวเขาด้วย

ความซื่อสัตย์ของคานาเอะส่งผลให้เธอได้รับความไว้วางใจมากขึ้น และใกล้ชิดฮารุกิทีละน้อย เรื่องหลังจากนั้นออกจะหวานแหววเพื่อให้น่าอ่านรู้สึก "คล่องคอ" มากขึ้น แต่คุณธรรมที่สอดแทรกในเนื้อเรื่องชวนให้ประทับใจจริงๆ ค่ะ ดีไม่ดีพ่อรวยสอนลูกเสร็จแล้ว ลูกจนนี่ล่ะค่ะที่จะช่วยสอนให้พ่อเห็นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตด้วย

ไดมอนด์ ไลฟ์ จึงช่วยยืนยันว่า คนรวยก็ไม่ได้สมบูรณ์พร้อมเสมอไป และคนจนก็ยังอยู่ได้แม้ต้องอดมื้อกินมื้อ เพราะถึงศักดิ์ศรีไม่ช่วยให้อิ่มท้อง แต่อิ่มใจนะเออ

จากมติชนรายวัน : วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11033

Dragon Zakura เข้ามหาวิทยาลัยน่ะเรื่องขี้ผง


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

คิดว่าประโยคข้างบน พระเอกของเรื่อง Dragon Zakura หรือ "นายซ่าท้าเด็กแนว" คงพูดกรอกหูนักเรียนอยู่เป็นประจำค่ะ ที่จริงการ์ตูนเรื่องนี้เคยยกมาพูดไปแล้วพร้อมๆ กับช่วงที่ละครญี่ปุ่นซึ่งสร้างจากการ์ตูนเรื่องนี้กำลังฉายอยู่พอดี แต่แล้วหนังสือการ์ตูนก็ขาดช่วงไปนานมาก นานจนลืมเรื่องนี้ไปแล้ว เพิ่งได้ฤกษ์คลอดเล่ม 4 มาไม่กี่วันนี้เอง

"นายซ่าท้าเด็กแนว" เป็นการ์ตูนที่ได้รับรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมประจำปี 2005 จากสำนักพิมพ์ Kodansha ซึ่งแจกรางวัลทุกปีสำหรับการ์ตูนและผู้รังสรรค์การ์ตูนผู้ทรงคุณค่า หลายเรื่องที่ได้รับรางวัลนี้ไม่ใช่การ์ตูนมหากาพย์ยิ่งใหญ่หรือยอดขายถล่มทลาย แต่เป็นการ์ตูนที่มีศิลปะการเล่าเรื่องได้น่าติดตาม เนื้อหาคุ้มค่าต่อการเสียเวลาอ่าน และสะท้อนภาพแนวคิดร่วมสมัยของญี่ปุ่นผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ในการ์ตูนได้อย่างน่าชื่นชม จึงไม่แปลกที่ "นายซ่าฯ" จะเหมาะสมกับรางวัลนี้ที่สุดสำหรับประเทศที่คิดว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ต่างจากการออกรบ

ซากุระงิเป็นทนายความจนๆ ที่ตัดสินใจเข้าไปทวงหนี้โรงเรียนมัธยมปลายริวซัง โรงเรียนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมคนหัวขี้เลื่อยและเด็กไม่เอาไหน เขาเห็นว่าการปิดโรงเรียนไม่ใช่ทางแก้ปัญหาจึงเสนอโครงการสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนด้วยการตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีนักเรียนจากริวซังเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวให้ได้! สำหรับความรู้สึกของคนญี่ปุ่นยุคเก่า มหาวิทยาลัยโตเกียวคือสุดยอดของมหาวิทยาลัยสำหรับคนเก่งค่ะ ทุกคนเชื่อว่าจบมหาวิทยาลัยนี้ย่อมมีอนาคตที่สดใสรออยู่แน่นอน (แม้ในความเป็นจริง ปัจจุบันนี้มีมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าในญี่ปุ่นอีกหลายแห่งที่สอนบางสาขาวิชาแจ๋วกว่ามหาวิทยาลัยโตเกียวเพียบ)

ในเล่ม 4 เล่ามาถึงหน่วยกล้าตาย 2 คน ที่ยินดีเข้าคอร์สเรียนพิเศษของซากุระงิ ติวเข้ม 1 ปีเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวให้ได้ ทั้งสองคนกำลังเรียนภาษาอังกฤษค่ะ เด็กไทยบางคนกลัวภาษาอังกฤษเพราะพูดไม่เก่ง และเด็กยุคเก่าหลายคนเรียนแต่ไวยกรณ์โดยไม่ทราบวิธีการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ แต่เชื่อไหมคะว่าญี่ปุ่นลำบากกว่าเราค่ะ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษเลยก็อยู่ได้ เพราะทุกอย่างในบ้านเมืองเขาหาภาษาอังกฤษได้น้อยมากๆ ประกอบกับลักษณะคำในภาษาญี่ปุ่นไม่มีตัวสะกดและมีเสียงวรรณยุกต์ไม่หลากหลายนัก (ของไทยผันได้ตั้ง 5 เสียงแถมตัวสะกดได้เกือบทุกแบบ) ดังนั้น เวลาคนไทยพูดภาษาอังกฤษจึงฟังง่ายกว่าคนญี่ปุ่นพูด

เริ่มต้นแบบนี้แล้วรู้สึกภาคภูมิใจขึ้นไหมคะ ในการ์ตูนเรื่องนี้ก็หยิบยกความกลัวภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่นมาพูดเหมือนกันค่ะ ครูพิเศษบอกกับนักเรียนว่าในบรรดาเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียว มีน้อยคนเหลือเกินที่จะเก่งภาษาอังกฤษ และคำว่าเก่งภาษาอังกฤษก็ใช่ว่าจะต้องพูดกับฝรั่งได้เหมือนผีฝรั่งเข้าสิงเสียหน่อย ข้อสอบภาษาอังกฤษเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวไม่ได้ทดสอบว่าเราเก่งภาษาอังกฤษแต่ทดสอบว่าเราใช้ภาษาอังกฤษพื้นฐานสำหรับการเรียนมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ต่างหากค่ะ

แบบนี้ก็สบายสิคะ ไวยกรณ์พื้นฐานอาจจำเป็น แต่สิ่งที่พบในวิชามารเรียนลัดของการ์ตูนเรื่องนี้คือการ "จำประโยคพื้นฐาน" ค่ะ ข้อสอบไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมาก เพียงแค่เราจำความรู้พื้นฐานให้ได้และระวังไม่ให้เขียนผิด แค่นี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ

สิ่งที่ได้รับตอนอ่านเล่ม 4 จบไม่ใช่เทคนิคการสอบภาษาอังกฤษ แต่เป็นความเข้าใจถึงธรรมชาติของวิชาและการสอบ ซากุระงิแสดงให้เราเห็นว่าคนเก่งอาจสอบได้คะแนนดี แต่คนที่รู้หลักการทำข้อสอบจะได้คะแนนดียิ่งกว่า เพราะข้อสอบไม่ใช่ตัววัดว่าเราโง่หรือฉลาดแต่วัดว่าความรู้ส่วนที่เขาต้องการให้มี เรามีและแสดงให้เห็นว่ามีจริงได้แค่ไหน ดังนี้ ถ้ามีความรู้เยอะแต่ไม่รู้จักดึงออกมาใช้หรือนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ย่อมสอบได้คะแนนไม่ดีเหมือนกัน

แต่แค่เทคนิคดีก็ใช่ว่าชีวิตจะประสบความสำเร็จนะคะ ไม่อย่างนั้นคนที่เรียนในโรงเรียนกวดวิชาก็ต้องสอบติดมหาวิทยาลัยดีๆ กันหมดแล้วสิ

คำตอบสุดท้ายที่ซากุระงิบอกเราคือต่อให้เทคนิคล้ำเลิศเพียงใด ความใส่ใจทุ่มเทต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ

ยาจิม่า หนึ่งในสองนักเรียนคอร์สติวเข้มพิเศษของซากุระงิต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวให้ได้เพื่อพิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่าเขาไม่ใช่เด็กเหลือขอ ความไม่มั่นใจในตัวเองของเขาทำให้ท้อและเป๋ไปบ้างเหมือนกัน ส่วนมิซึโนะต้องการเปลี่ยนชีวิตตัวเองจากวังวนของครอบครัวที่สิ้นหวัง เธอจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้และทำงานเลี้ยงตัวเอง สิบกว่าปีที่ทั้งสองใช้ชีวิตขาดทุนมาตลอด จึงหวังว่ายอมขาดทุนยิ่งกว่าที่ผ่านมาโดยการตั้งใจเรียนอย่างยากลำบากเพื่อหวังผลให้ช่วงชีวิตที่เหลืออีกหลายสิบปีมีแต่กำไร

เป็นการ์ตูนที่ดีและเหมาะกับศักราชใหม่หลังประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบช่วงนี้เลยค่ะ หากอ่านแล้วเกิดแรงฮึดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีการศึกษาแบบนี้ น้องๆ ที่กำลังเตรียมสอบหรือรอสอบใหม่ปีหน้าจะได้มีความหวังว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ใช่ว่าจะมีแต่ความพยายามอยู่ที่นั่น

ความสำเร็จก็อยู่ด้วยค่ะ

รถด่วน999กับการมองอนาคตผ่านแว่นในอดีต


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

แทบไม่น่าเชื่อว่า ผลงานเรื่อง Galaxy Express 999 ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2520 คือ 31 ปีก่อน หนึ่งปีต่อมาก็สร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนทางโทรทัศน์และได้รับความนิยมจนฉากออกมาถึง 113 ตอน ในช่วงเวลาเพียง 4 ปี มีการ์ตูนเพียงไม่กี่เรื่องในธุรกิจอุตสาหกรรมการ์ตูนที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นสามารถทำได้ค่ะ และที่มหัศจรรย์ยิ่งกว่าคือ เมื่อนำต้นฉบับดั้งเดิมมาพิมพ์ใหม่และเพิ่งหยิบอ่านเมื่อกี้ เนื้อหาแนวไซไฟซึ่งควรตกยุคไปไกลแบบไม่เห็นฝุ่นกลับร่วมสมัยและไม่มีความเชยแม้แต่น้อย ตัวละครหลักอย่างเมเธลสาวงามเหมือนหลุดมาจากภาพกำเนิดวีนัส และเท็ตสึโร่ ได้สร้างเอกลักษณ์ของตนเองขึ้นมาและทำให้ผู้คนจดจำพวกเขาได้ ไม่มีวันล้าสมัยแม้ว่าจะผ่านไปอีกเป็นร้อยปีก็ตาม

วันนี้นั่งอ่านเล่ม 7 ค่ะ รู้สึกกินใจจนต้องยกมาคุยเสียหน่อย ตอนที่อ่านแล้วรู้สึกว่า "ใช่เลย!" คือ "ดวงดาวแห่งอนาคต" แวบแรกคิดว่าต้องเป็นดาวที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ไฮเทคมากมายแน่ๆ แต่อนาคตของการ์ตูนเมื่อสามสิบปีก่อนอาจจะหมายถึงดาวที่เต็มไปด้วยหุ่นยนต์ก็ได้

แต่เมื่อเมเธลกับเท็ตสึโร่ลงมาที่ดาวนี้ ทุกอย่างรอบตัวกลับไม่เป็นเหมือนอย่างที่คิด บ้านทุกหลังเหมือนญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม เต็มไปด้วยบ้านเก่าๆ ที่ซ่อมแล้วซ่อมอีกเหมือนเพิ่งผ่านพายุมาหมาดๆ กระทั่งโรงแรมที่รถด่วน 999 จัดให้ยังซอมซ่อจะพังมิพังแหล่ แตกต่างจากโรงแรมอื่นที่เท็ตสึโร่เคยเห็น เพราะไม่มีพนักงานต้อนรับหรือห้องพักหรูหรา

ความเป็นอยู่ของคนบนดาวนี้เรียบง่ายไม่ซับซ้อนค่ะ ทุกคนดูโผงผางตรงไปตรงมาและขยันขันแข็งทำงาน อาหารที่นำมาให้ก็พูนจานและจัดวางเหมือนอาหารกรรมกร คือไม่เน้นความสวยงามทั้งที่เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้รสชาติสำหรับอาหารญี่ปุ่น ห้องอาบน้ำรวมถ้าไม่ร้อนก็มีคนคอยบริการเติมฟืนให้ ลูกสาวเจ้าของโรงแรมช่วยขัดตัวเท็ตสึโร่ (ด้วยแปรงขัดพื้น) เรียกว่าเรียบง่าย ไม่พิธีรีตองแต่จริงใจกันทั้งดาวค่ะ

เช้าวันรุ่งขึ้น แทนที่จะเป็นเช้าสดใสกลับกลายเป็นเช้าที่ยับเยินเนื่องจากมีพายุแปลกๆ พัดโรงแรมทั้งหลังพังหมด ไม่เหมือนพายุในบ้านเรานะคะ พายุขี้โม้ในการ์ตูนเขาพัดพังแค่จุดเดียวค่ะ ผลคือทุกอย่างในโรงแรมกระจัดกระจายหายไปทั่วเมือง แต่เจ้าของโรงแรมกับลูกสาวก็ยังยิ้มแย้มราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ปัญหาคือบัตรผ่านขึ้นรถด่วน 999 ของเมเธลและเท็ตสึโร่ก็หายไปกับข้าวของทั้งหมดด้วย เหลือแค่เสื้อผ้าติดตัวคนละชุด

วินาทีนั้นเท็ตสึโร่สงสัยเจ้าของโรงแรมและลูกสาวขึ้นมาทันที เป็นไปได้อย่างไรที่โรงแรมพังทั้งหลังแต่สองคนนั้นยังหัวเราะได้ คำตอบมีอย่างเดียวคือ สองคนนั้นต้องขโมยบัตรผ่านและวางแผนจะขึ้นรถด่วนแทนพวกเขาแน่



อ่านถึงตรงนี้ก็พยักหน้าค่ะ เห็นด้วยๆ แต่เมเธลกลับบอกว่า "เท็ตสึโร่จะสงสัยคนที่นี่ไม่ได้นะ" นั่งรอซักพักก็มีคนเอาราเมงมาให้กินและปลอบใจว่าไม่ต้องกลัว ซักวันต้องมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นแน่ เท็ตสึโร่ถึงกับยิ้มออกเลยค่ะ เขาสาบานว่าแม้บัตรจะถูกขโมยและต้องติดอยู่ที่ดาวนี้ แต่ซักวันเขาต้องไปยังดาวที่ต้องการให้ได้ เขามองเห็นตัวเองในอนาคตเป็นอย่างนั้น

ในที่สุดของทั้งหมดรวมถึงบัตรผ่านก็ถูกนำมาคืนให้ทั้งสองจนได้ ของทุกชิ้นถูกพายุพัดกระจายไปทั่วเมือง แต่ชาวเมืองก็ร่วมแรงร่วมใจหามาให้ได้ครบทุกชิ้น เท็ตสึโร่อ้าปากค้างเลยค่ะ เขาถามว่า ไม่ขโมยบัตรไปขึ้นรถไฟเหรอ เจ้าของโรงแรมก็หัวเราะแล้วบอกว่า จะขโมยทำไม ของแบบนั้นแค่ตั้งใจทำงาน ซักวันก็ซื้อเองได้ โรงแรมพังแล้วแต่มือเท้ายังอยู่ก็สร้างขึ้นมาใหม่ได้

และเพราะทุกคนเชื่อมั่นว่าความพยายามจะนำมาซึ่งอนาคตที่ดี จึงไม่มีใครอิจฉาอยากมีของที่คนอื่นมี เพราะถ้าคนอื่นมีได้ ซักวันเราก็ต้องมีได้เช่นกัน แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

อ่านจบแล้วรู้ทันทีว่าเมเธลให้เท็ตสึโร่แวะที่ดาวนี้ทำไม เท็ตสึโร่เติบโตขึ้นและเริ่มมองเห็นอนาคตของตัวเอง ในระหว่างที่คนอ่านก็โตขึ้นและดีใจที่ยังมือสองมือสองเท้าให้ทำงานได้เช่นกัน

ไม่น่าเชื่อเลยค่ะ ได้ยินสุภาษิต "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" มาตั้งนานแต่ไม่เคยซาบซึ้ง แต่เพียงแค่อ่านการ์ตูนเรื่องเดียวก็เข้าใจอย่างซาบซึ้งเลยค่ะ ความดีเห็นทีจะแค่สอนไม่ได้ ต้องนำเสนออย่างน่าสนใจด้วยนะคะเด็กๆ ถึงจะยอมทำตาม

ชมภาพและฟังเพลงจากGalaxy Express 999


การ์ตูนออนบล็อกกับการเดินทางลงกระดาษ


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

จัก "บล็อก" หรือ "Blog" ไหมคะ...คนไม่ค่อยเชี่ยว ชาญด้านอะไรที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่ออย่างเราก็อธิบายยากเสียด้วย แต่ไปอ่านความหมายของคำนี้จากชาวบ้านมาค่ะ เขาว่า Blog มาจากคำว่า Web Log แต่เรียกให้สั้นเข้าว่า บล็อก มันคือเว็บไซต์ประเภทหนึ่งซึ่งมีจุด เด่นที่ให้จริตเหมือนกำลังนั่งอ่านไดอารี่ของชาวบ้านอยู่ แต่ดีกว่าแอบหยิบมาอ่านเองตรงที่เราสามารถเสนอความเห็นของเราให้เจ้าของบล็อกและคนอื่นที่มาร่วมอ่านฟังได้ด้วย

พัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นจาก "เว็บไซต์" โบราณซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียวโดยผู้จัดทำ คือบล็อกกลายเป็น การสื่อสารสองทางโดยมี comment หรือส่วนที่ให้ผู้อ่านทิ้งข้อความไว้ได้ด้วย นอกจากนั้นยังเป็น "ชุมชนออนไลน์" ที่พัฒนาขึ้นจาก "เว็บบอร์ด" หรือฟอรั่มโดยสร้างความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เว็บบอร์ดอาจเกิดปัญหาทะเลาะกันเนื่อง จากหลายคนก็หลายความเห็น แต่ Blog ลดปัญหานี้ลง ใคร ใคร่เปิดก็เปิด ใครไม่ชอบก็ไม่ต้องเข้ามาดู

ด้วยความที่ลักษณะการใช้งานเป็นการเปิดทีละหน้า ซึ่งเปลี่ยนการพลิกหน้าหนังสือเป็นการเลื่อนหน้าลงมาแทน ถ้าต้องการเปิดย้อนก็สามารถเลื่อนหน้าขึ้นได้รวดเร็วเช่นเดียวกับการพลิกหาบนหน้าหนังสือ จึงไม่แปลกเลยที่หนังสือการ์ตูนจะลงไปอยู่ในบล็อกได้ และการ์ตูนในบล็อกก็อาจจะขึ้นมาอยู่บนเล่มหนังสือได้เช่นกัน

ร่ายเสียยาว แต่ความจริงกำลังจะแนะนำการ์ตูนที่ไปเจอในร้านหนังสือเมื่อวานนี้ค่ะ ความรู้สึกแรกที่เห็นคือตัวการ์ตูนบนปกน่ารักดี แต่สะดุดที่ชื่อ "โดดงานทุกวันได้ไหมเนี่ย" เท่านั้นแหละค่ะ ซื้อเลย! (โดนใจอย่างแรง)

การ์ตูนเล่มนี้เป็นผลงานของ Wan Wan สาวน้อยชาวไต้หวัน เธอเข้าทำงานในบริษัทเกมออนไลน์และเริ่มเขียนไดอารี่ชีวิตประจำวันของตนเองลงในบล็อกโดยไม่ได้เขียนเป็นตัวอักษรหรือถ่ายภาพแบบที่คนส่วนใหญ่ทำ เธอวาดเป็นตัวการ์ตูนเล่าเรื่องแบบ 1-4 ช่องจบค่ะ

ไม่น่าเชื่อว่าการ์ตูนธรรมดาๆ ที่เล่าชีวิตธรรมดาๆ ได้รับการบอกปากต่อปากจนกลายเป็นบล็อกเล็กๆ ที่มีจำนวนผู้เปิดเข้าชมสูงสุด และทะลุสองล้านฮิตในเวลาไม่ถึงปี ความสำเร็จนี้ทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ติดต่อนำผลงานของเธอมาตีพิมพ์ โดยเล่มแรกชื่อ "ไม่ไปทำงานได้ไหมเนี่ย"

ตอนวางที่แผง หนังสือเล่มนี้ต้องผนึกด้วยฟิล์มหดเลยค่ะ เพราะถ้าใครมายืนอ่านฟรีสักครึ่งชั่วโมงคนอ่านจบและไม่ซื้อ แต่ถ้าลองซื้อมาอ่านและค่อยๆ พิจารณาว่าเพราะเหตุใดการ์ตูนหัวกลมๆ ธรรมดาที่ไม่ได้หรูหราวิจิตรพิสดารชวนให้สะสมแบบงานศิลปะ และเรื่องที่เขียนก็แสนจะธรรมดา เพราะเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันจึงได้รับความนิยมถล่มทลายขนาดนี้

สิ่งแรกที่รู้สึกคือ "มุมมอง" ค่ะ วันๆ นำเสนอเรื่องที่เราพบเจอเป็นปกติทุกวันในมุมมองที่น่ารักตามประสาของเธอ ไม่แปลกใจเลยที่คนสิบคนมองเห็นเหตุการณ์เดียวกันอาจตีความไปดียี่สิบแบบ แต่มุมมองสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบก็อาจกลายเป็นเอกลักษณ์ได้

ต่อมาคือ "การถ่ายทอด" แม้วันๆ จะรักการวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก สมัยอนุบาลก็โดดเรียนไปอ่านการ์ตูน (คล้ายๆ เราแต่เราไม่โดดเรียนเท่านั้นเอง) พกสมุดวาดรูปไปตอนประถม (ส่วนเราวาดในสมุดเรียนเลย) จนกระทั่งเธอเข้าร่วมชมรมศิลปะและเรียนด้านการออกแบบรวมถึงวาดการ์ตูนเก็บไว้เองมาตลอด ประสบการณ์ยาวนานและความมุ่งมั่นทำให้ลายเส้นเรียบๆ สื่ออารมณ์ออกมาได้อย่างชัดเจนและน่ารัก ตัวการ์ตูนเรียบง่ายจึงอุดมไปด้วยความหลากหลาย

สุดท้ายคือ "โฆษณา" หลายคนค้านว่างานดีจริงไม่ต้องโฆษณาก็ดังได้ อันนั้นเห็นด้วยค่ะ แต่ถ้าอยากให้งานดีๆ โด่งดังเร็วขึ้นจากสิบปีเหลือปีเดียว การโฆษณาเป็นสิ่งที่ควรทำ

วันๆ ไม่ได้เขียนบล็อกแล้วอ่านคนเดียวนะคะเธอผลิตหนังสือทำมือของตัวเองมาขายก่อน และโฆษณาไปตามเว็บไซต์ต่างๆ จนคนเห็นผลงานและบอกปากต่อปากไปเรื่อยๆ บล็อกของเธอจึงกลายเป็นปรากฏการณ์ออนไลน์ที่น่าตื่นตะลึงที่สุดในไต้หวันค่ะ

หนังสือเล่มนี้อาจไม่ใช่สินค้าหนึ่งของเธอ แต่เป็นหนึ่งในวิธีโฆษณามากกว่า เพราะแท้จริงสินค้าของเธอคือ "ไอเดีย" ค่ะ

ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางการนำเสนอการ์ตูนบนสื่อชนิดใหม่เลยค่ะ ใครจะรู้ว่าบนจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้ใช้สำหรับดูภาพยนตร์การ์ตูนเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว ยุคการ์ตูนที่มีลักษณะเป็นหน้าแบบกระดาษกำลังจะปฏิวัติโลกออนไลน์แล้วค่ะ

ดีไม่ดีอนาคตหากกระดาษแพงขึ้นมาก หนังสือการ์ตูนเป็นเล่มอาจสูญพันธุ์ กลายเป็นแผ่น CD ฉายหน้าการ์ตูนให้เราเลื่อนๆ อ่านแทนก็ได้นะคะ

( เข้าชม เว็บไซต์ ราชินีบล็อกไต้หวัน WAN WAN ได้ที่ http://www.wretch.cc/blog/cwwany : ซุนปิน)

ซึโบมิจังกับบ้านประหลาด


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ปิดเทอมเป็นช่วงที่แห้งแล้งการ์ตูนเสมอค่ะ ไม่แน่ใจว่าเพราะเด็กปิดเทอมทำให้ไม่มีโอกาสออกจากบ้านมาซื้อการ์ตูนกันหรือเปล่า เหล่าสำนักพิมพ์จึงไม่ปล่อยการ์ตูนฮิตติดตลาดออกมามากนักในช่วงนี้ ข้อดีคือการ์ตูนที่ไม่ค่อยติดตลาดแต่คุณภาพดีหลายเรื่องก็จะได้ฤกษ์คลอดออกมาเสียที "ซึโบมิจัง ลืมอะไรหรือเปล่าจ๊ะ?" คืออีกหนึ่งเรื่องที่ไม่น่าจะขายดี แต่มีความร่วมสมัยและสะท้อนสังคมยุคนี้ได้ดีอย่างคาดไม่ถึง

"ผิดด้วยหรือที่จะพยายาม" คือชื่อตอนแรกสุดที่แค่อ่านก็น่าสนใจแล้วค่ะ "ซึโบมิ" ตัวเอกของเรื่องคือเด็กสาวนักศึกษามหาวิทยาลัยปีสองที่ต้องใช้ความพยายามมาตั้งแต่จำความได้ น่าเห็นใจที่ความพยายามหลายอย่างของเธอไม่ประสบความสำเร็จ แต่เธอก็ยังพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เสมอ

ซึโบมิอยู่กับคุณแม่แค่สองคน เนื่องจากคุณแม่เป็นหญิงเก่งที่ทุกคนยอมรับความสามารถ คุณแม่จึงคาดหวังให้ซึโบมิสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับเธอด้วย เรียกว่าเข้มงวดก็คงได้ค่ะ โชคดีที่ซึโบมิรับเอานิสัยของคุณแม่มา แต่ในความโชคดีกลับมีความโชคร้ายที่ยิ่งใหญ่ซ่อนอยู่ นั่นคือเธอไม่ได้รับเอาความเก่งจากคุณแม่มาด้วย ดังนั้นตัวตนของเธอในความคาดหวังของทั้งคุณแม่และตัวเองจึงสูงมาก ในระหว่างที่ความสามารถจริงๆ ต่ำกว่าความคาดหวังไปเยอะ

หลายครั้งที่ซึโบมิดูถูกตัวเองและไม่ชอบตัวเองที่เป็นแบบนี้เลย

ความรู้สึกเช่นนี้เรียกว่า Low self esteem ค่ะ คือความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ จะเห็นชัดเจนในช่วงวัยรุ่นซึ่งเริ่มหันกลับมามองว่าตนเองมีดีอะไรบ้าง คนที่หาไม่พบและยังหลงทางอยู่ว่าชีวิตควรจะเดินไปทางไหนดีมักจะลงเอยที่เกลียดตัวเอง อิจฉาผู้อื่น และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักโต

แต่หากจะโทษว่าเป็นความผิดของคุณแม่ของซึโบมิที่กดดันและบีบบังคับ ตั้งความคาดหวังให้ลูกสูงเกินไป อันนั้นก็คงไม่ใช่ พ่อแม่รักลูกเสมอค่ะ เพียงแต่การแสดงออกของแต่ละคนต่างกันไป การพบกันครึ่งทางระหว่างแม่ลูกอาจจะเป็นคำตอบที่ดีกว่าให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องเป็นฝ่ายปรับตัวเข้าหาอีกคนในทุกเรื่อง (ที่พูดอย่างนี้ได้เพราะพ้นวัยรุ่นมาแล้วค่ะ แต่ย้อนไปมองตัวเองตอนวัยรุ่นก็คิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจเราเหมือนกัน เรื่องปกติค่ะ)

ชีวิตของซึโบมิจังมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อได้พบ "คาโอรุจัง" คุณปู่ที่สดใสร่าเริง คุณปู่คาโอรุจังชวนซึโบมิไปกินข้าวด้วยกันที่บ้าน (เด็กไทยอย่าเลียนแบบ การตามคนแปลกหน้าไปที่บ้านอันตรายค่ะ) และเธอได้พบกับครอบครัวประหลาดที่ทุกคนไม่ได้เป็นญาติกัน แต่กลับใช้ชีวิตร่วมกันในบ้านเหมือนครอบครัวเดียวกัน สมาชิกในครอบครัวยิ่งประหลาดเข้าไปใหญ่ค่ะ

คุณแม่ของบ้านนี้คือหนุ่มใหญ่ที่ตัดสินใจลาออกจากบริษัททั้งที่การงานกำลังรุ่ง ภรรยาของเขาโกรธมากและขอหย่า ทำให้เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่ต้องการ คือ "งานบ้าน" คุณแม่ของบ้านนี้จึงกลายเป็นหนุ่มตัวโตเคราเฟิ้ม ส่วนคุณพ่อของบ้านคือหญิงสาวที่เป็นเวิร์กกิ้งวูแมน สังคมญี่ปุ่นไม่ค่อยยอมรับผู้หญิงทำงานค่ะ เธอจึงอยู่ในบ้านนี้และพิสูจน์ตัวเองว่าผู้หญิงก็เป็นช้างเท้าหน้าได้เช่นกัน แต่ที่ซึโบมิติดใจที่สุดเห็นจะเป็นลูกชาย เขาคือเพลย์บอยเจ้าเสน่ห์ที่ไม่เคยได้รับความรักความอบอุ่นที่แท้จริงเลย สรุปว่าบ้านนี้คือแหล่งรวมคนที่กำลังค้นหาความภาคภูมิใจในตัวเองค่ะ

ซึโบมิกลายมาเป็นสมาชิกคนล่าสุด ปัญหาหลักของเธอคือไม่สามารถสลัดคำสาปของแม่ได้ เธอคิดว่าตัวเองไม่เอาไหนอยู่ตลอดเวลาและไม่มีทางพึ่งพาตัวเองได้เลย การมาอยู่บ้านประหลาดนี้อาจพบหนทางที่เธอจะได้เจอสิ่งที่ตัวเองรักและยืนหยัดด้วยขาของตัวเองบ้างโดยไม่ต้องหลบอยู่ใต้ปีกแม่ตลอดเวลา

เป็นการ์ตูนที่เหมาะกับวัยรุ่นและคนที่รู้สึกว่ายังไม่พบความหมายที่แท้จริงของชีวิตค่ะ ซึโบมิกับบ้านประหลาดอาจไม่ได้ทำให้เราค้นพบสิ่งสำคัญของตัวเองในตอนท้าย แต่อย่างน้อยเราจะได้หยุดเดินวนในเขาวงกตแล้วลองมาพิจารณาตัวเองอีกครั้งว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร

แค่ทำให้เราหันกลับมามองตัวเองได้ การ์ตูนเล่มนี้ก็คุ้มเงินสี่สิบบาทแล้วค่ะ

การ์ตูนญี่ปุ่นกับหนังเกาหลี น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าแนวใหม่


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

คงไม่ต้องบรรยายถึงความดังของบรรดาภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์จากเกาหลีในขณะนี้ค่ะ ล่าสุดมีละครเกาหลีที่เริ่มฉายชนกันทางช่อง 3 และช่อง 7 วันที่ 19 เมษายนนี้ ช่องสามคือละครฟอร์มยักษ์ Tae Wa Sa Shing Gi "The Legend" กับช่องเจ็ดละครวัยรุ่น Coffee Prince ซึ่งเรทติ้งบี้กันมากในเกาหลี แต่วันนี้จะขอพูดถึง The Legend ที่มีความน่าสนใจเกี่ยวข้องกับการ์ตูนญี่ปุ่นค่ะ

ย้อนกลับมาที่ตลาดภาพยนตร์ในญี่ปุ่นสักนิด สำหรับคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เกาหลีถูกมองว่าเป็นประเทศที่ยังไม่เจริญเท่าไร ซึ่งเป็นภาพที่ติดตาญี่ปุ่นมาตลอดจนแม้ปัจจุบันเกาหลีจะพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงนำเข้าสินค้าเกาหลีไม่มากนัก หนึ่งในธุรกิจหลักของเกาหลีที่ตีตลาดญี่ปุ่นยากมากคือธุรกิจบันเทิงค่ะ ทั้งละคร ภาพยนตร์ ดารา ล้วนแทรกซึมเข้าไปในญี่ปุ่นยากเหลือเกิน จนเกิดไอเดียหนึ่งขึ้น นั่นคือการ "แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม" และน่าสนใจว่าเขาเลือก "การ์ตูน" เป็นสื่อกลาง

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก K-Star Corner ฟอรั่ม ของคนรักดาราเกาหลีนะคะ จากภาพที่เห็นด้านบนคือนักแสดงท่านหนึ่งในละคร The Legend เขาคือ Lee Philip ซึ่งรับบท "ผู้พิทักษ์มังกรฟ้า" การเลือกคาแรกเตอร์ของมังกรฟ้าน่าสนใจมาก โดยทีมผู้สร้างบอกว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง จึงหานักแสดงที่ให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกัน นั่นคือเมื่อไว้ผมยาวแล้วยังมองว่าเป็นชายหนุ่มรูปงามหน้าสวยแต่ยังคงเอกลักษณ์เกาหลีไว้ได้

จุดนี้วิเคราะห์เป็นแนวการตลาดที่น่าทึ่งค่ะ อย่างแรกคือหนังสามารถเจาะตลาดสาวๆ ญี่ปุ่นได้ง่ายดายเพราะยกเอาลักษณะชายหนุ่มซึ่งเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นมาสร้างเสียเลย ในทางกลับกันก็สามารถใส่ความเป็นเกาหลีลงในชายหนุ่มเสน่ห์แรงคนนี้ได้ด้วย ผลคือ Lee Philip นักแสดงหน้าใหม่อายุ 25 ปีที่พูดเกาหลีไม่ชัดเพราะโตในอเมริกา โด่งดังในชั่วข้ามคืนเพียงแค่เขาเดินไปเดินมาในเรื่องและแทบไม่มีบทพูด (โดนตัดออกบางฉากเพราะพูดผิดอีกต่างหาก)

ความโด่งดังของ Lee Philip ขยายไปถึงญี่ปุ่นตามคาด โดยเขามีกำหนดถ่ายแบบและโชว์ตัวในญี่ปุ่นมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะให้เขาไว้ผมยาวและถ่ายด้วยภาพลักษณ์ของมังกรฟ้าที่ปรากฏในภาพยนตร์ทั้งที่ตัวจริงของเขาเป็นหนุ่มเกาหลีตัวใหญ่ธรรมดาๆ เท่านั้นเอง

เมื่อเห็นความสำเร็จของ Lee Philip ทางทีมผู้สร้างจึงดำเนินการเจาะตลาดญี่ปุ่นต่อรอบที่สอง ด้วยการจ้างนักเขียนญี่ปุ่นซึ่งโด่งดังที่สุดคนหนึ่งให้วาดการ์ตูนเรื่อง The Legend นักเขียนท่านนั้นคือ อ.อิเคดะ ริโยโกะ ผู้สร้างผลงาน "กุหลาบแวร์ซายส์" โด่งดังอมตะจนกลายมาเป็นหนังฝรั่ง หนังการ์ตูน และละครเวที การ์ตูนเรื่องนี้ออกมา 2 เล่มแล้วค่ะ จำหน่ายที่ญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และเล่ม 2 เพิ่งออกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

และแล้ว Tae Wa Sa Shing Gi "The Legend" ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเจาะตลาดญี่ปุ่น ลองวิเคราะห์ในฐานะคนอ่านการ์ตูนเองนะคะ ความสำเร็จของเรื่องนี้ที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนอาจมาจากความพยายามวิจัยตลาดผู้นิยมละครในญี่ปุ่นซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มแม่บ้านที่มีเวลาอยู่บ้านดูโทรทัศน์ แม่บ้านซึ่งเป็นตลาดของสื่อบันเทิงที่ยังมีช่องโหว่คือคนที่อายุอยู่ในช่วง 20-35 ปีค่ะ เพราะเพิ่งแต่งงานและลูกไปโรงเรียน และยังไม่มีใครบุกตลาดนี้ หากย้อนไปมองว่ากลุ่มคนอายุขนาดนี้ตอนวัยรุ่นเขานิยมอะไร คำตอบคือช่วงที่คนเหล่านี้เป็นเด็กและโตเป็นวัยรุ่น เป็นช่วงยุคทองของการ์ตูนผู้หญิงเลยค่ะ

ดังนั้นการทำตัวละครให้เหมือนการ์ตูนคลาสสิคในยุคทอง และให้นักเขียนหนึ่งในเกจิยุคทองมาเป็นผู้วาดการ์ตูนจึงกลายเป็นคำตอบสุดท้าย เสริมกับความโด่งดังของ เบ ยอง จุน พระเอกที่สาวกรี๊ดในรอยยิ้มและความดูดี กับเพลงประกอบโดยวง ดงบังชินกิ ที่วัยรุ่นคลั่งกันแทบขาดใจ ตลาดที่ขยายออกมาจากผู้ชมละครเดิมกลายเป็นความสำเร็จที่ดูได้จากเรทติ้งมหาศาล

เรื่องนี้ต้องยกนิ้วให้ทีมการตลาดของละครเรื่องนี้เลยค่ะ เรื่องความสนุกไม่เถียง แต่เรื่องเจาะตลาดญี่ปุ่นด้วยการ์ตูนแบบคิดไปกลับ (คือดึงแบบที่นิยมมา แล้วทำเป็นการ์ตูนกลับไปขาย) ทำให้ทึ่งจนคิดว่าถ้าคนไทยมีนักการตลาดที่มองลึกได้แบบนี้ งานที่เป็นเอกลักษณ์ไทยคงตีตลาดเมืองนอกได้เพียบแน่ค่ะ

Pink สาวใสกับแนวคิดเรื่องคุณธรรมที่เปลี่ยนแปลง


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

นับว่าเป็นเรื่องดีค่ะที่สำนักพิมพ์การ์ตูนในไทยหลายแห่งติดป้ายเตือนไว้ที่หน้าปกว่าการ์ตูนเล่มนี้เหมาะกับผู้อ่านวัยใด เพราะการ์ตูนใช่จะเหมาะกับเฉพาะเด็กอีกแล้ว เด็กที่เคยอ่านการ์ตูนเมื่อ 20 ปีก่อนโตเป็นผู้ใหญ่แล้วค่ะ ดังนั้นการ์ตูนหลายเรื่องก็ต้องเหมาะกับคนวัยผู้ใหญ่ด้วย

ยุคสมัยเปลี่ยนไปพร้อมกับค่านิยมเรื่องความรักกับเพศสัมพันธ์ถูกแยกจากกัน คนรัก,แฟน,สามี กลายเป็นคำที่มีนิยามชัดเจนและแตกต่างกันจนคนหัวเก่าเริ่มงง น่าแปลกที่วัยเด็กเราคาดหวังว่าคนเป็นแฟนต้องเป็นคนที่เรารัก และเมื่อรักแฟนมากเมื่อถึงวัยก็กลายมาเป็นสามี แบบนี้ใช่ไหมคะ! แต่ทำไมอ่านเรื่อง Pink แล้วรู้สึกว่าแนวคิดอะไรสักอย่างของตัวเองไม่ก็ของผู้เขียนอาจจะผิดพลาดก็ได้

โมโมโกะ (แปลว่าลูกท้อ) คือสาวน้อยน่ารักที่อ่อนหวานเยือกเย็นกับทุกสถานการณ์ เพื่อนๆ มักเรียกเธอว่า "พิงค์" เพราะลูกท้อมีสีชมพูเช่นกัน ความน่ารักหวานใสเช่นเดียวกับชื่อของเธอดึงดูดให้ชายหนุ่มหลายคนเข้ามาพัวพันด้วย และคนแรกคือครูโรงเรียนมัธยมปลายซึ่งเป็นครูของเธอเอง

ในวันแรกที่พิงค์ขึ้นมัธยมปลายปี 2 (ประมาณ ม.5) เธอได้พบกับคิตาจิม่า ครูวิชาศิลปะซึ่งเป็นหนุ่มพราวเสน่ห์ เขามีภรรยาอยู่แล้วซึ่งเป็นลูกศิษย์ของตัวเองมาก่อน แต่เมื่อได้พบกับพิงค์ เขากลับแทะโลมและพูดอ้อมๆ ในเชิงขอคบหาและมีสัมพันธ์ด้วย ความที่พิงค์เองก็ถูกใจคิตาจิม่าเช่นกัน เธอจึงยอมมีความสัมพันธ์กับเขาตลอดสองปีจนจบการศึกษาโดยที่พิงค์คิดว่านี่ล่ะคือความรัก!

อ่านตอนแรกแล้วปวดหัวค่ะ!

ที่น่าปวดหัวคือทั้งพิงค์และคิตาจิม่าไม่ได้รู้สึกกังวลกับความสัมพันธ์ผิดศีลธรรมของตัวเองแม้แต่น้อย น่าแปลกที่เรื่องนี้ไม่มีใครในโรงเรียนรู้ น่าแปลกที่เหตุใดผู้ชายที่มีภรรยาแล้วยังคิดแทะโลมผู้หญิงอื่นแถมเป็นลูกศิษย์ตัวเองอีกต่างหาก น่าแปลกที่เหตุใดพิงค์ไม่ได้มองว่าร่างกายของตัวเองมีคุณค่า เพียงแค่คิดว่าชอบคิตาจิม่าก็เลยยอมมีความสัมพันธ์ด้วย

และเหมือนทั้งคู่ลืมว่านี่ไม่ใช่ความรัก แต่คือความเห็นแก่ตัว!

ตอนจบโชคดีที่พิงค์ตัดสินใจเลิกกับคิตาจิม่าในวันจบการศึกษา เธอคิดว่าในเมื่อไม่ได้เจอกันทุกวันแบบสมัยเรียน การถอยห่างออกมาจึงดีกว่า และอีกสิ่งที่เธออ้างคือคิตาจิม่ามีภรรยาอยู่แล้วด้วย (น่าแปลกที่เขาก็มีตั้งนานแล้ว ทำไมเพิ่งมาอ้าง) ผลคือคิตาจิม่าโกรธมากและขู่ว่าถ้าเลิกกัน เขาจะลืมเธอซะและไม่สนใจเธออีก แต่พิงค์ก็ยังยิ้มและจากมาโดยเก็บเพียงความทรงจำสมัยมีอะไรกันในห้องเรียนเท่านั้น

ตอนอื่นๆ ในเล่มดีขึ้นหน่อยค่ะ พิงค์ดูมีคุณธรรมมากขึ้น แต่เธอก็ยังทอดกายให้ผู้ชายที่เพิ่งรู้จักกันไม่นานเช่นเดิม

สิ่งที่ผู้วาดพยายามนำเสนอกลับกลายเป็นว่าการที่เธอเข้าไปพัวพันกับผู้ชายคนไหนสักคนและยอมเป็นฝ่ายเดินออกมาอย่างสงบ ไม่โวยวาย คือสิ่งที่เป็นจุดเด่นของเธอ แน่นอนว่าในการ์ตูนไม่นำเสนอผลร้ายจากพฤติกรรมของเธอเลย ทั้งเรื่องที่หากเพื่อนรู้ว่าเธอมีความสัมพันธ์กับคิตาจิม่าจะเป็นอย่างไร หรือหากเธอตั้งครรภ์จะทำอย่างไร ตอนบอกเลิกถ้าถูกผู้ชายซ้อมแบบที่เราเห็นในข่าวจะทำอย่างไร กระทั่งหากภรรยาของคิตาจิม่ารู้เข้า ครอบครัวจะแตกแยกหรือไม่ ในการ์ตูนเรื่องนี้...ไม่มีเลย

แม้โดยสามัญสำนึกของหญิงไทยจะระลึกได้ว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ลองคิดว่าถ้าเด็กวัยมัธยมปลายอ่านเรื่องนี้และชื่นชมพิงค์ที่สามารถเอาชนะใจชายหนุ่มดีๆ ได้มากมาย เด็กสาวที่อยู่ในวัยอยากลองของจะไม่กล้าเสี่ยงเชียวหรือคะ วัยรุ่นคือวัยที่ชอบทำตรงข้ามกับที่ผู้ใหญ่สอนอยู่แล้วค่ะ และเป็นวัยที่มักตะโกนบอกคนอื่นว่าเขามีความคิดเป็นผู้ใหญ่ ไม่ต้องมาสอน! แต่เรื่องความดื้อนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องดุด่า เราต้องเข้าใจและมีศิลปะในการสอนรวมถึงป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดกับเด็กวัยรุ่นเหล่านี้ให้ได้ต่างหาก

สรุปคือ Pink อาจไม่ใช่การ์ตูนที่แย่นักในบางสังคมที่การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่แฟนเป็นเรื่องปกติ จะเป็นที่ไหนในโลกก็ไม่รู้ล่ะค่ะ ไม่น่าใช่ประเทศไทย แต่หากการ์ตูนเรื่องนี้หลุดเข้ามาในไทยเสียแล้ว

ป้ายเหมาะสำหรับคนอายุ 15 ปีขึ้นไปก็เอาออกเถอะค่ะ เรื่องนี้เหมาะกับคนอายุ 25 ปีขึ้นไปมากกว่า เพราะเป็นวัยที่เริ่มเข้าใจความหมายของความรักและการให้เกียรติคนรักของตัวเองแล้ว ให้เด็กอายุสิบแปดมาอ่านก็เหมือนเอาค่านิยมที่ไม่ถูกต้องไปปลูกฝังให้เสียเปล่าๆ ค่ะ

ฮันโซ ยอดกุ๊กสมองเพชร


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

วันนี้อยากกินจิราชิซูชิจังเลยค่ะ สาเหตุของความอยากก็ไม่เคยหนีพ้นการ์ตูนอาหารเลยสักครั้ง อ่านการ์ตูนเกี่ยวกับอาหารก่อนนอนทีไรเป็นต้องเห็นภาพของกินตามมาหลอกหลอนทุกครั้ง "ฮันโซ ยอดกุ๊กสมองเพชร" เป็นการ์ตูนอาหารที่ฉีกแนวนิดๆ แต่อุดมการณ์เหมือนเดิม คือ "อาหาร" ไม่จำเป็นต้องสร้างจากวัตถุดิบชั้นเลิศ แต่กำเนิดจาก "ฝีมือ" ต่างหาก...ประมาณนั้น

ที่ว่าฉีกแนวเพราะคุณฮันโซพระเอกของเรื่องไม่ใช่พ่อครัว แต่เป็นเจ้าของร้านขายของเก่าค่ะ ความที่เขามองเห็นคุณค่าในสิ่งของที่แม้เคยผ่านมือชาวบ้านมาแล้ว ประกอบกับพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์รสชาติใหม่ๆ เขาจึงรับหน้าที่พ่อครัวจำเป็นให้เพื่อนๆ อยู่ประจำ

ครั้งแรกที่ฝีมือของฮันโซเป็นที่ประจักษ์แก่นักอ่านคือ ครั้งที่ "ซากุระ" สาวน้อยคอลัมนิสต์เกี่ยวกับอาหารต้องขอความช่วยเหลือจากเขา ไม่น่าเชื่อว่าอาหารพื้นบ้านหลายอย่างที่ฮันโซทำกลายเป็นอาหารรสเลิศที่คุ้นลิ้นอย่างไม่น่าเชื่อ อร่อยเสียจนซากุระตามตื๊อให้ฮันโซยอมเขียนเคล็ดลับอาหารของเขาเป็นตำราเลยทีเดียว

ในเล่ม 3 ซึ่งเป็นเล่มล่าสุด ปกหลังมีภาพอาหารตามสูตรของฮันโซที่ทำออกมาจริงค่ะ ปาดน้ำลายหนึ่งครั้งประเดิม มีตอนหนึ่งที่น่าประทับใจคือเมื่อครั้งฮันโซไปเยี่ยมเพื่อนที่สถานีโทรทัศน์ เขาพบกับพิธีกรรายการอาหารชื่อดังซึ่งชำนาญสูตรอาหารราคาประหยัด จึงเป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษารายได้น้อยและไร้ฝีมืออย่างกว้างขวาง

ฮันโซลองฟังสูตรอาหารที่ซากุระเล่าแล้วก็รู้สึกแปลกนิดๆ แต่เขาไม่ได้ติดใจอะไรจนกระทั่งคุณพิธีกรชื่อดังโยนกล่องข้าวสำเร็จรูปทิ้งถังขยะ! จริงอยู่ว่าข้าวกล่องเหล่านี้ปรุงรสจัดจ้านเพื่อกลบความไม่สดของวัตถุดิบซึ่งฮันโซไม่ชื่นชมเท่าไร แต่ความที่เป็นพระเอก เขาจึงลุกขึ้นมาพิสูจน์ว่าอาหารไม่อร่อย เย็นชืด และเต็มไปด้วยผงปรุงรสก็อร่อยขึ้นได้เหมือนกัน

เขาเริ่มจากการสับวัตถุดิบทั้งหมดเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับน้ำส้มสายชูญี่ปุ่น และโยนข้าวแข็งๆ ลงไป กวนไปกวนมาก็กลายเป็นจิราชิซูชิแสนอร่อยได้เหมือนโม้!! แต่การทำให้ของที่ทิ้งลงถังขยะกลับมาอร่อยได้อีกกลายเป็นการตบหน้าพิธีกรผู้โด่งดังไปเสียแทน เขาท้าทายฮันโซให้ปรุงอาหารแข่งกันอีกครั้งออกอากาศ ซึ่งฮันโซก็รับคำท้า

ความสนุกอยู่ต่อจากตรงนี้ล่ะค่ะ คุณพิธีกรทำสปาเกตตี้ซีฟู้ดจากอาหารทะเลแช่แข็งกับผงปรุงรสแสนจะง่าย ส่วนฮันโซกลับนำปลาเพียงตัวเดียวมาประกอบอาหารได้ถึง 11 ชนิด! นอกจากได้ใช้ทุกส่วนแล้ว ยังสามารถเก็บไว้กินได้ 3-4 วันด้วยค่ะ ตอนจบฮันโซก็ได้รับคำชื่นชมไปตามระเบียบ

พออ่านถึงตรงนี้แล้วนอนขำอยู่บนเตียงเลยค่ะ ถ้าทุกคนนำปลาหนึ่งตัวมาทำอาหารอร่อยเทพได้ถึง 11 ชนิดเหมือนฮันโซ แล้วโลกนี้จะมีพ่อครัวไว้เพื่ออะไร ในทางกลับกัน แม้คุณพิธีกรผู้พ่ายแพ้อาจทำอาหารไม่ครบห้าหมู่ แต่เขาปรุงขึ้นอย่างง่ายๆ จากวัตถุดิบที่สำเร็จรูปโดยไม่ค่อยพึ่งฝีมือ ลองคิดย้อนมาที่ตัวเองซึ่งไร้ฝีมือการทำอาหาร ก็คงเลือกวิธีการของคุณพิธีกรมากกว่าค่ะ เพราะมีโอกาสทำแล้วได้กินมากกว่าทิ้งเยอะเลย

การ์ตูนทำอาหารโดยเฉพาะแนวคุกกิ้งแบทเทิ่ลที่มีการต่อสู้เพื่อแพ้ชนะ ในบางครั้งก็จงใจจูงผู้อ่านไปสู่บทสรุปผ่านมุมมองเพียงมุมเดียวค่ะ นั่นคือพระเอกชนะ พระเอกคือความถูกต้อง ตัวโกงผิดเสมอ ไม่ใช่ไม่ดีนะคะ แต่นี่คือ "การ์ตูนสำหรับเด็ก" ค่ะ

การ์ตูนที่เหมาะสำหรับเด็กจะมีจุดเด่นที่แบ่งคนดีกับคนไม่ดีอย่างชัดเจน พฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ (เช่น ดูถูกผู้อื่น ทิ้งขว้างอาหาร) จะอยู่ในคนเลวทั้งหมด ในทางกลับกัน คนที่เป็นพระเอกอาจไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่ต้องมีคุณธรรมและไม่นิ่งเฉยกับความผิด บทสรุปของการ์ตูนแบบนี้มีเพียงอย่างเดียวเสมอคือ พระเอกชนะ สิ่งใดที่เป็นเรื่องเชิงวิเคราะห์ล้ำลึกจะถูกมองข้ามไป เพราะเด็กไม่เข้าใจค่ะ การ์ตูนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการให้เข้าใจมนุษย์ทุกคน แต่ต้องการให้อ่านสนุก สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้กับเด็กเท่านั้นเอง

อยากจะชมเรื่องนี้ว่าน่าซื้อให้เด็กอ่านอยู่แล้วเชียว แต่ติดที่ต้นเรื่องเขียนเน้นความบ้าหน้าอกใหญ่ๆ ของผู้ชายเสียจนเกินงามก็เลยไม่กล้าแนะนำเต็มปาก เดาว่าต้นเรื่องคงอยากรับตลาดเด็กวัยรุ่น แต่เขียนไปเขียนมาเริ่มเหมาะกับเด็กเล็กจึงเบนเข็มแทนค่ะ

แต่สิ่งที่มั่นใจได้อย่างหนึ่งหลังอ่านคือ เกิดแรงบันดาลใจในการทำอาหารแน่นอน คิดแล้วอยากลองทำชีสกับไส้กรอกรมควันแบบฮันโซจัง (ไฟไหม้บ้านแน่)

The Top Secret เมื่อความลับไม่มีในโลก


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

บางทีดินแดนที่เป็นอิสระที่สุดในจักรวาลคือภายใน "สมอง" ของเราเองค่ะ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างสามารถจินตนาการได้ภายในสมองของเรา ไม่ว่าเรื่องดีหรือไม่ดีล้วนเกิดจากความคิดของเราเองทั้งสิ้น ซึ่งเป็นที่ทราบดีกว่าความคิดเกิดขึ้นจากการทำงานอันซับซ้อนของเซลล์สมองและสารสื่อประสาทมากมายที่มนุษย์ยังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมดค่ะ

มีความพยายามจะอ่านสิ่งที่ซ่อนอยู่ลึกที่สุดในสมองของเรามาแต่โบราณแล้ว ที่ทันสมัยที่สุดเห็นจะเป็นแนวคิดในการสะกดจิตเพื่อดึงสิ่งที่หลบในจิตใต้สำนึกออกมา แต่อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราไม่ต้องสะกดจิตกันอีกต่อไป แต่เราสามารถมองเห็นภาพที่คนๆ หนึ่งเห็นได้โดยฉายจากสมองโดยตรงเลย สิ่งที่เราคิดว่าจะเป็นความลับตลอดกาลเมื่อเราตายไปกลับถูกคนอื่นฉายภาพออกมาจากสมองโดยตรงหลังจากเราตายแล้ว โอ้...แย่สิคะเนี่ย

The Top Secret คืองานที่ทำให้เริ่มเสียวว่าความลับจะไม่มีในโลกอีกแล้วค่ะ เล่มนี้คือผลงานใหม่ของ อ.ชิมิสึ เรย์โกะ นักวาดการ์ตูนผู้หญิงที่โด่งดังมาตั้งแต่สมัยยุค 70 ผลงานส่วนใหญ่ของอาจารย์เป็นแนววิทยาศาสตร์ที่น่าทึ่งเลยค่ะ โดยเป็นแนวเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ของไซไฟในการ์ตูนผู้หญิงยุค 70 นั่นคือมีการผนวกแนวคิดด้านจิตวิทยากับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขึ้น จนเกิดเป็นภัยพิบัติแบบใหม่ที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน

เรื่องนี้เขียนต่อจากเรื่องสั้นที่เขียนไว้เมื่อปี 1999 ซึ่งเป็นเรื่องต้นแบบ The Top Secret ใหม่นี้คือตอนที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2001 ค่ะ

"อาโอกิ" ชายหนุ่มซื่อๆ ได้รับการบรรจุในหน่วยนิติเวช 9 ซึ่งสืบสวนคดียากๆ จากการดูสมองผ่านเครื่อง MRI เครื่องฉายภาพที่เจ้าของสมองมองเห็นก่อนเสียชีวิตย้อนหลังได้หลายปี (คนละเครื่องกับ MRI ของจริงนะคะ) หัวหน้าหน่วยของเขากลับเป็นเด็กหนุ่มหน้าใส "มากิ" ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวหลังได้ดูสมองของฆาตกรวิปริตที่ฆ่าเด็กหนุ่ม 28 คนด้วยการชำแหละเป็นชิ้นๆ

ครั้งนี้เกิดคดีฆ่าตัวตายพร้อมกัน 9 คน โดยทุกคนเป็นเด็กหนุ่มที่เพิ่งออกจากสถานกักกัน ภาพที่ทุกคนเห็นก่อนตายคือสิ่งที่ตนเองกลัวที่สุดวิ่งไล่ตามมาหลอกหลอน จนในที่สุดพวกเขาก็ฆ่าตัวตายเพื่อหนีสิ่งน่ากลัวที่แม้ตาเห็นแต่ไม่มีจริง มากิตามสืบมาได้จนเขาพบว่าเด็กหนุ่มทุกคนเคยพบกับฆาตกร 28 ศพที่มากิหวาดกลัวที่สุดมาก่อน เขาแทบคลั่งจนทำคดีต่อไม่ได้เลยค่ะ

ด้วยความอยากรู้ อาโอกิจึงไปดู MRI สมองเพื่อนร่วมงานของมากิที่เสียชีวิตหลังจากได้ดูสมองของฆาตกร 28 ศพ ทำให้เขาได้เห็นภาพที่ฆาตกรกำลังฆ่าเหยื่ออย่างโหดร้ายด้วย ภาพเหล่านั้นน่ากลัวจนอาโอกิเกือบตายเหมือนกัน

สิ่งที่อ่านแล้วคิดไปด้วยคือคุณฆาตกร 28 ศพเขาเป็น "โรคจิตเภท" (Schizophrenia) แหงๆ แต่ใช่ว่าผู้ป่วยโรคจิตเภททุกคนเป็นฆาตกรได้นะคะ โรคนี้ก็มีระดับความรุนแรงอยู่เหมือนกัน โชคดีที่ปัจจุบันมียาดีอยู่มาก คนที่ป่วยรุนแรงแบบคุณฆาตกร 28 ศพไม่ค่อยมีแล้วล่ะค่ะ คนเมายาบ้าหรือเมาเหล้ายังน่ากลัวกว่าเยอะเลย

ผู้ป่วยโรคจิตที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมมักจะมีความคิดหลายอย่างที่คนทั่วไปคาดไม่ถึง เขาอาจทำหลายอย่างที่คนปกติไม่สามารถทำได้ เช่น ฆ่าตัวตายหรือทำร้ายผู้อื่น ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง A Beautiful Mind ที่ได้รางวัลเพียบในปี 2001 (ปีเดียวกับที่เรื่องนี้เขียนขึ้นพอดี) คงจะทราบว่าพระเอกของเรื่องที่ป่วยเป็น Schizophrenia มองเห็นโลกต่างจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง โลกของเขามีแต่ความน่าหวาดกลัว ดังนั้นคนป่วยโรคนี้คือคนที่น่าเห็นใจอย่างที่สุดค่ะ เพราะเขาไม่สามารถมองเห็นความสดใสของโลกได้เลย (ตราบใดที่ยังไม่ยอมรักษา) "สมอง" ของเขาไม่ใช่ดินแดนอิสระอีกต่อไป กลายเป็นดินแดนที่น่ากลัวเหมือนนรกเลยล่ะค่ะ

แต่ผู้ป่วยโรคจิตไม่ใช่คนน่ากลัวเสียทุกคนนะคะ ถ้าเขาได้รับการรักษาแล้ว เขาก็เหมือนคนเราทั่วไปนี่เอง การรักษาจะช่วยดึงเขาให้กลับมามองเห็นโลกอย่างสดใสได้เหมือนคนทั่วไปค่ะ ดังนั้นมากิคงไม่ต้องเสียเพื่อนไปหลายคนถ้าเจอฆาตกร 28 ศพแล้วพาเขาไปพบจิตแพทย์เสียก่อน

ตอนเขียนคอลัมน์นี้ก็ชั่งใจอยู่เหมือนกันว่าคนทั่วไปจะยิ่งกลัวผู้ป่วยโรคจิตมากขึ้นหรือเปล่าเนี่ย ก็เลยหันมาถามตัวเอง (ในฐานะจิตแพทย์คนหนึ่ง) ว่าเคยกลัวคนไข้กลุ่มนี้ไหม คิดแล้วก็ยิ้มออกมาค่ะว่าไม่กลัวเลยนี่นา แต่ละวันพบตั้งหลายคน น่ารักทุกคนทั้งนั้น

แต่ถ้ามีคนถามว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนเหล่านี้จะลุกขึ้นมาทำอันตรายคนอื่นหรือเปล่า คำตอบคือเคยเห็นคนเมายาบ้าตาขวางๆ ไหมคะ หรือคนเมาเหล้าแล้วอาละวาด ถ้าเห็นคนแบบนี้เราก็ต้องเผ่นก่อนล่ะค่ะ เพราะแยกยากเหลือเกินว่าเขาเมายาหรือป่วยเป็นโรคจิตรุนแรงที่ไม่ได้รับการรักษากันแน่ น่ากลัวประมาณกันเลยค่ะ

พยัคฆ์สาวแบรนด์เนม


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

คำว่า "แบรนด์" มีความหมายกว้างมากและยังแตกต่างกันไปตามมุมมองของแต่ละคน แต่คำที่น่าจะคุ้นเคยกับสาวๆ มากกว่าเห็นจะเป็น "แบรนด์เนม" ซึ่งว่าด้วยสินค้าที่ให้ความรู้สึกหรูหรา อู้ฟู่ มีรสนิยม และน่าจะแพง ถ้าเราลองคิดถึงใครสักคนที่ใช้สินค้าแบรนด์เนมได้เยอะอย่างน่าอิจฉา เขาคนนั้นน่าจะเป็นสาวสังคมผู้ร่ำรวยและรสนิยมดี แต่ไม่น่าใช่ตำรวจหน่วยปราบปรามสาวแบบในการ์ตูนเรื่องนี้แน่ค่ะ

"เมงุมิ อิจิโกะ" สารวัตรแผนกยาเสพติดคือตำรวจที่ดูแตกต่างไปจากตำรวจหญิงทั่วไปอย่างชัดเจนเนื่องจากเธอนิยมสินค้าแบรนด์เนมทุกประเภทค่ะ ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง ทุกอย่างต้องเป็นแบรนด์ยอดนิยมเท่านั้นเธอถึงจะยอมใส่ ในความคิดของคนทั่วไป สาวๆ บ้าแบรนด์น่าจะเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อและยกอะไรที่หนักกว่าขวดยาทาเล็บไม่ขึ้น แต่อิจิโกะตรงข้ามค่ะ เธอใส่รองเท้าส้นสูงวิ่งไล่จับคนร้ายเป็นประจำ เอากระเป๋าราคาเหยียบแสนฟาดหน้าคนร้ายก็เคยมาแล้ว ชุดสูทราคาหลายแสนอาจขาดยับเยินเมื่อเธอเข้าจับกุมชุลมุนกับผู้ต้องหา อิจิโกะจึงเป็นสาวแกร่งอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่จุดอ่อนของสาวงามที่มีพละกำลังพอๆ กับก๊อดซิลล่าคนนี้คือ "เธอต้องการผู้ชาย 5 ดี" อย่างแรงค่ะ! คือต้องดีทั้งรูปร่างหน้าตา,นิสัย,รสนิยม,มารยาท,และหัวดีด้วยจึงจะเข้าตากรรมการ แต่ทุกครั้งที่เธอพบผู้ชาย 5D ที่คิดว่าจะใช่ตัวจริงเมื่อไร เขามีอันต้องขาดข้อใดข้อหนึ่งไปสักข้อเสมอ ถ้าไม่เป็นอาชญากรก็อาจจะมีข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ เหตุนี้เองสารวัตรอิจิโกะจึงยังโสดสนิทอยู่จนทุกวันนี้

มีตอนหนึ่งที่น่าสนใจมาก อิจิโกะต้องร่วมมือกับชายหนุ่มซึ่งถูกจับในข้อหา "หลอกแต่งงาน" ค่ะ นักต้มตุ๋นคนนี้แต่งงานกับผู้หญิง 16 คนเพื่อหลอกล่อให้ผู้หญิงเหล่านั้นโอนทรัพย์สมบัติให้แล้วก็หนีหายต๋อมไป แต่ผู้หญิงคนที่ 17 ที่เขาหลอกกลับไปพัวพันในคดีค้ายาเสพติดเข้า อิจิโกะจึงขอความร่วมมือจากเขาเพื่อตามหานักค้ายาเสพติดคนนั้น

ระหว่างที่ร่วมงานกัน คุณนักต้มตุ๋นบอกว่าแท้จริงเขาไม่ได้หลอกลวงผู้หญิง แต่เขาเกิดมาเพื่อเยียวยาหัวใจผู้หญิงโดยเป็น "ชายในฝัน" ตามที่เธอต้องการ การเยียวยาต้องใช้ความสามารถอย่างสูงจึงต้องการค่าตอบแทนมากเป็นธรรมดา (คือหลอกเอาสมบัตินั่นแหละ)

สุดท้ายผู้หญิง 16 คนยกฟ้องชายคนนี้ค่ะ เพราะระหว่างที่เขาอยู่กับพวกเธอ เขาให้ความอบอุ่นและความภูมิใจตลอดเวลาจนถึงวันที่จากกัน พวกเธอคิดว่าเขาคือผู้ชายที่ดีเหนือกว่าผู้ชายทั่วไปมาก เป็นผู้ชายที่ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นชายในอุดมคติของผู้หญิงทุกแบบได้

เขาจึงไม่ใช่เพชรแท้ แต่เป็น Rhine Stone ของชาแนล ซึ่งเป็นเครื่องประดับทำจากหินสีเม็ดโต ดูปุ๊บก็รู้ว่าไม่ใช่อัญมณีแท้แน่นอนเพราะใหญ่เกินไป แต่ชาแนลก็ไม่ได้สนใจจะทำให้ Rhine Stone เหมือนของแท้ เขากลับนำหินเม็ดเขื่องมาออกแบบอย่างสวยงามด้วยคอนเซปต์ว่า "เหนือกว่าของจริง" คือสวยกว่า เปล่งประกายกว่า สะดุดตากว่า แม้ทั้งคนใส่และคนเห็นรู้ว่า "ปลอม" แต่ก็ยินดีหลงใหลกับของปลอมและการหลอกลวงที่สวยงามกว่าของจริงนี้ค่ะ เช่นเดียวกับหญิงสาวทั้ง 16 คนที่รู้ว่าโดนหลอกแต่ก็อยากให้หลอกเหลือเกิน เพราะไม่เคยเจอผู้ชายที่ดีเหนือกว่าผู้ชายจริงๆ แบบนี้เลย

ถึงตรงนี้โปรดใช้วิจารณญาณนะคะ คุณนักต้มตุ๋นผิดแน่ที่หลอกเอาเงินเพราะถือเป็นการหลอกลวง แต่พวกเธอไม่ได้ทำผิดที่ยกฟ้องเพราะนักต้มตุ๋นคนนี้ก็เหมือนกระเป๋าราคาแพงที่สาวๆ ถือแล้วมีความสุข เธออยากเสียเงินแล้วได้ถือก็เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ แต่จะเอามาปะปนกับ "คู่ชีวิต" ที่ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกันไม่ได้ "คู่ควง" กับ "สามี" ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าใครได้สามีที่ควงได้อย่างภาคภูมิใจได้ตลอดชีวิตถือว่าโชคดีค่ะ

อิจิโกะเองคงตามหาผู้ชาย 5D ด้วยความรู้สึกเช่นเดียวกับการตามหาคอลเลคชั่นล่าสุดของสินค้าแบรด์เนมเช่นกัน เพราะเธอมีความสุขกับหนุ่มๆ เหล่านั้นเพียงช่วงสั้นๆ แต่สุดท้ายเมื่อพิจารณาว่าเหมาะเป็นคู่ชีวิตหรือไม่ก็เป็นอันสอบตกทุกรายไป หลังจากนั้นเธอก็ดื่มด่ำกับความผิดหวังของตนเองและสนุกกับการมองหาชายหนุ่ม 5D คนใหม่ ราวกับเธอไม่ได้ทุกข์ที่หาแฟนไม่ได้ แต่กลับสนุกกับการหาแฟนไปเรื่อยๆ มากกว่า

ใครมีเพื่อนแบบนี้ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะไม่พบรักแท้นะคะ เพราะเขาจะไม่พบในช่วงนี้ชัวร์ค่ะ (ฮ่าๆๆๆ) จนกว่าจะถึงวันที่แยกความแตกต่างระหว่างคู่ควงกับคู่ชีวิตได้นั่นล่ะค่ะ รักแท้ถึงจะเข้ามา

อิคิงามิ สารสั่งตาย


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ชื่อน่ากลัวแต่ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติหรอกนะคะ "อิคิงามิ" ในเรื่องนี้คือ "จดหมายแจ้งมรณกรรม" ซึ่งไม่ใช่มรณบัตร แต่เป็นใบที่แจ้งว่าคนๆ นั้นกำลังจะเสียชีวิตในอีก 24 ชั่วโมงข้างหน้า แค่ขึ้นเรื่องมาก็น่าสนใจแล้วค่ะ

ปูเรื่องสักนิด ในสังคมญี่ปุ่นยุคหนึ่ง รัฐบาลได้ออก "กฎผดุงความรุ่งเรืองแห่งชาติ" ขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายให้ประชาชนทุกคนมีความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิตทุกนาทีอย่างมีคุณค่าที่สุด โดยเด็กทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนซึ่ง 1 ในพันเข็มจะมีระเบิดนาโนซ่อนอยู่ด้วย!

ไม่มีใครรู้ว่าระเบิดจะแจ๊คพ็อตโดนฉีดให้ใครแม้แต่คนฉีดเอง แต่ข้อมูลทั้งหมดจะเก็บไว้และรายงานออกมาเมื่อใกล้ถึงเวลาที่ระเบิดถูกตั้ง รายงานเหล่านี้จะถูกส่งไปให้เจ้าตัวหรือญาติก่อนเวลาเสียชีวิต 24 ชั่วโมง

นั่นคือประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ค่ะ เมื่อเราเหลือเวลาแค่ 24 ชั่วโมง เราอยากทำอะไร

ถ้ากำลังจะตายแล้วเอาแต่นอนรอคงไม่สนุกใช่ไหมคะ เรื่องแรกสุดในเล่มก็เป็นอย่างที่หลายคนกลัว นั่นคือในเมื่อจะตายแล้ว ก็บรรเลงเพลง "แก้แค้น" ดีกว่า

"โยสุเกะ" เด็กหนุ่มหน้าไม่หล่อ เก็บกด ไม่มีเพื่อน และถูกกลั่นแกล้งมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนได้รับอิคิงามิค่ะ สิ่งที่เป็นแผลติดตัวและติดใจโยสุเกะมาตลอดคือความทรงจำครั้งวัยรุ่นที่ถูกเพื่อนทำร้ายร่างกายและบังคับให้ขโมยของ เขาเคยโดนบุหรี่จี้ที่ศีรษะจนทำให้ผมไม่งอกและต้องใส่วิกปิดบังถึงทุกวันนี้ ดังนั้นทางเดียวที่โยสุเกะคิดว่าจะลบฝันร้ายในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้คือ "ฆ่าพวกเพื่อนที่เคยแกล้งเขาซะ"

เขาหลอกเพื่อนผู้หญิงที่เคยดูถูกเขาออกมาข่มขืนและขู่ว่าจะเอารูปถ่ายที่น่าอายของเธอส่งอี-เมลแจกให้ทั่ว (เลวจริงๆ) หลังจากนั้นก็โทร.ตามหัวโจกที่เคยแกล้งเขาซึ่งบัดนี้เป็นเพียงผู้ช่วยในร้านทำผมเล็กๆ ออกมาหวังจะแทงด้วยมีด แต่สุดท้ายก็แทงได้แค่มือขวาเพื่อให้เพื่อนคนนั้นไม่สามารถจับกรรไกรและเป็นช่างทำผมได้

ใน 7 ชั่วโมงสุดท้ายของชีวิต โยสุเกะทบทวนสิ่งที่เพิ่งทำลงไป เพื่อนผู้หญิงที่เขาเพิ่งทำร้ายจำเขาไม่ได้ด้วยซ้ำเมื่อเห็นหน้าตอนแรก ส่วนหัวโจกก็บอกว่าจะมาคิดอะไรกับเรื่องสี่ปีก่อน ต่างคนก็ต่างมีชีวิตใหม่และกำลังจะเริ่มต้นใหม่ทั้งนั้น

ในที่สุดฝันร้ายก็ไม่หายไปจากเขาเลย คนอื่นลืมเขาไปแล้วในระหว่างที่เขายังคงจมอยู่กับความโกรธและความอายเพียงคนเดียวมาตลอด ตรงนี้น่าสนใจค่ะ ชัดเจนว่าเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดกับเราจะยิ่งใหญ่หรือไม่นั้น ขึ้นกับตัวเราเองตีความแบบไหน ความทุกข์หรือสุขของคนขึ้นกับมุมมองของเราเป็นสำคัญ ดังนั้นโยสุเกะไม่ใช่คนโชคร้าย แต่โยสุเกะ "คิดว่าตัวเองเป็นคนโชคร้าย" และยินดีที่จะย่ำอยู่กับตัวเองในอดีต โทษโชคชะตามากกว่าจะเดินหน้าหาอนาคต

เขาได้เจอเด็กหนุ่มอีกคนที่ถูกแกล้งเช่นกัน จึงเข้าไปบอกด้วยความหวังดีเฮือกสุดท้ายว่า "อย่ารอว่าซักวันจะแก้แค้นเพราะไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงหรือเปล่า ถ้าคิดจะสู้ทำไมไม่สู้เสียแต่ตอนนี้เลย" แล้วโยสุเกะก็จากไปอย่างสงบค่ะ เด็กหนุ่มที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคำพูดนี้ลุกขึ้นมาสู้เพื่อนๆ ที่กลั่นแกล้งเขาได้ในที่สุด

มีหลายเรื่องให้คิดหลังอ่านจบ แต่เชื่อว่าหลายท่านคงคิดไปถึงกรณีคนบุกยิงผู้บริสุทธิ์ในโรงเรียนแล้วฆ่าตัวตาย อันนั้นไม่เหมือนโยสุเกะค่ะ สังเกตว่าแม้โยสุเกะจะแค้นแค่ไหนหรือคิดอยากฆ่าใครแต่เขาไม่ทำ คนที่ฆ่าคนอื่นได้ถ้าไม่นับพวกเลวสุดขั้ว เขาอาจมีปัญหาทางจิตบางอย่างที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี ดังนั้นต่อให้โยสุเกะจะเหลือเวลาให้ฆ่าคนได้ก่อนตายซักเดือนนึงก็เชื่อว่าเขาจะไม่ทำค่ะ (ไม่อย่างนั้นจะดูโม้ไปหน่อย)

แล้วโยสุเกะลุกขึ้นมาแก้แค้นเพื่ออะไร คงเพราะเขาไม่รู้วิธีออกจากฝันร้ายที่หลอกหลอนมาตลอด 4 ปีนั่นเอง ทางแก้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่ถ้าคนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับโยสุเกะอยากเริ่มต้น ขอแนะนำให้เข้าร่วมในชุมชนที่มีแต่คนสุขภาพจิตดีๆ แล้วลองดูแนวคิดของเขาค่ะ (อย่าไปทำให้เขาวงแตก ควรดูไปเรื่อยๆ สักระยะก่อน)

อาจเป็นกลุ่มเพื่อนชมรมเดียวกันหรือชุมชนออนไลน์ก็ยังไหว ชุมชนดีๆ หาไม่ยากค่ะเพราะคนจะเข้าไปเยอะ เข้าและออกมาด้วยความสบายใจ ไม่ใช่สบายใจที่มีคนเออออกับเรานะคะ แต่สบายใจที่เห็นว่าหลายคนก็มีปัญหาคล้ายๆ กับเราและเขาผ่านช่วงเวลานั้นไปได้จึงมาแบ่งปันประสบการณ์กัน พูดง่ายๆ คือหากัลยาณมิตรนั่นเองค่ะ เห็นได้ชัดเจนว่าโยสุเกะไม่มีกัลยาณมิตร เพราะแค่เขาคิดจะส่งภาพที่ตนเองข่มขืนเพื่อนทางเมล์ในโทรศัพท์ เขากลับไม่มีเบอร์เพื่อนอยู่เลยซักคน

การมี "สังคม" จึงอาจไม่ใช่คำตอบ แต่ "กัลยาณมิตร" คือคำตอบสำหรับปัญหาวัยรุ่นค่ะ ว่าแต่...เขาเคยสอนในโรงเรียนไหมเนี่ยว่ากัลยาณมิตรคืออะไรและหาได้จากที่ไหน

การ์ตูนผู้ชายที่ไร้พระเอก


คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

สมัยก่อนเราอาจแยกคร่าวๆ ว่าการ์ตูนเรื่องนี้เป็น "การ์ตูนสำหรับผู้หญิง" หรือ "การ์ตูนสำหรับผู้ชาย" ได้โดยดูว่าตัวการ์ตูนที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดเป็นใคร เช่น ดรากอนบอลล์มีโกคูเป็นพระเอก หมายความว่าเรื่องนี้เป็นการ์ตูนผู้ชาย ในระหว่างที่ฮานาโยริดังโงะ (หรือ F4 ที่โด่งดัง) มีสึกุชิเป็นนางเอก

ดังนั้นน่าจะเป็นการ์ตูนผู้หญิงความรู้สึกแปลกๆ ครั้งแรกที่ตัวเองสังเกตได้น่าจะเป็นยุคที่ "เซเลอร์มูน" ซึ่งควรจะเป็นการ์ตูนผู้หญิงร้อยเปอร์เซ็นต์กลับเป็นที่นิยมในหมู่ชาวคอสเพลย์ "ผู้ชาย" บางท่านค่ะ เซเลอร์มูนคงมีบางอย่างที่ "โดนใจ" หนุ่มๆ บางคนซึ่งอธิบายไม่ได้ ต่อมาได้เห็นกระแสนี้อีกครั้งเมื่อ "ซุซุมิยะ ฮารุฮิ" ซึ่งเป็นการ์ตูนที่มีฮารุฮิสาวน้อยน่ารักเป็นตัวเอก หนุ่มๆ ชอบเธอมากค่ะ แต่ไม่ใช่เพราะอยากได้เธอเป็นแฟนดังเช่นที่หลายคนเดา หนุ่มๆ เหล่านั้นรักและนับถือเธอเลยล่ะค่ะ!เรียกได้ว่าหนุ่มๆ หลายคนแต่งคอสเพลย์เป็นฮารุฮิ(ในชุดนักเรียนกระโปรงและที่คาดผมน่ารัก)เลยทีเดียว

อะไรทำให้ฮีโร่ในใจนักอ่านการ์ตูนชายหลายท่านเปลี่ยนชายผู้ชายบ้าพลังเป็นสาวน้อยน่ารักได้กันแน่ นี่คือคำถามที่ยังหาข้อมูลอ้างอิงไม่เจอค่ะ แต่ลองมองย้อนอดีตไปหน่อยว่าอะไรบ้างที่ทำให้ชายหนุ่มอยากกลายเป็นฮีโร่สาว นึกออกแต่ "คาบุกิ" ค่ะ

การให้ผู้ชายแต่งกายแบบผู้หญิงและร่ายรำรวมถึงแสดงท่าทางผู้หญิงดังปรากฏในตัวนางของ "ละครคาบุกิ" ศิลปะการแสดงที่งดงามและทรงคุณค่ามาหลายศตวรรษของญี่ปุ่นคือสิ่งที่ชาวตะวันตกหลายคนไม่เข้าใจ ด้วยค่านิยมตะวันตกที่ว่าผู้ชายจะต้องแข็งแกร่ง เป็นผู้นำ กล้ามโต กลายมาเป็นความน่าสนใจว่าภาพการมอง "บทบาทของเพศชาย" ในแต่ละสังคมมีความแตกต่างที่ละเอียดอ่อนบางอย่างแฝงอยู่

มีฝรั่งคนหนึ่งถามไว้ในเวบไซท์รวมคลิปวิดีโอ Youtube หัวข้อคาบุกิว่า "ตอนนี้ญี่ปุ่นก็มีผู้หญิงที่มีความสามารถตั้งเยอะแยะ ทำไมต้องจำกัดให้คาบุกิมีแต่นักแสดงชายด้วย" เรื่องนี้ "ทามะซาบุโร่ บุนโด" นักแสดงคาบุกิในบทตัวนางตอบไว้ได้น่าฟังมากค่ะ เขาบอกว่า "เราไม่ได้แสดงเป็นผู้หญิงจริงๆ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ชายจะเข้าใจมุมมองของผู้หญิงไปทุกอย่าง แต่สิ่งที่เราแสดงคือ "ผู้หญิงในความเข้าใจของผู้ชาย" ซึ่งอาจมีความงดงามอ่อนช้อยหรืออารมณ์อ่อนไหวรวมถึงจริตมารยามากกว่าผู้หญิงจริงๆ"

สิ่งนี้ตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่าเพราะเหตุใดตัวนางในคาบุกิซึ่งบางครั้งสวยกว่าผู้หญิงจริงๆ จึงยังคงมีแฟนผลงานเป็นผู้หญิงด้วย นั่นเพราะเขามีความสามารถในการตีความ "ความเป็นผู้หญิง" ได้อย่างดีเยี่ยมและเข้าถึงบทบาทนั่นเอง เขาคือ "ผู้ชายที่มีความสามารถ" ไม่ใช่ "ผู้ชายที่ดูเหมือนผู้หญิง"

สังคมญี่ปุ่นไม่เห็นว่าการที่ผู้ชายแสดงบทบาทของผู้หญิงคือเรื่องผิดแปลกค่ะ อาจจะเหมือนกับโขนไทยซึ่งตัวนางอาจแสดงโดยนักแสดงชายผู้มากความสามารถ หรือตลกสามช่าที่เมื่อแต่งเป็นผู้หญิง คนดูก็ยังยอมรับและเข้าใจโดยไม่ตะขิดตะขวงใจแต่อย่างใด

กลับมาที่ภาพชายหนุ่มแต่งชุด "เซเลอร์มูน" แขนกุดขนรักแร้ปลิวบ้างค่ะ

อืม...คิดอย่างใจเป็นกลางคือเขาก็อยากแต่งตัวเป็นบุคคลซึ่งเป็นฮีโร่ประจำใจนะคะ เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่พึงจะทำได้ ไม่ผิดเลยแม้แต่น้อย ใครไม่อยากดูก็หลับตาไปสิ หรือถ้าโชคดีเขาแต่งออกมาสวยก็น่าภูมิใจไม่ใช่เหรอ แล้วในเมื่อมีชายหนุ่มที่เห็นสาวน้อยน่ารักเป็นฮีโร่ จึงไม่น่าแปลกที่ตลาดการ์ตูนสำหรับผู้ชายจะขายการ์ตูนที่ตัวเอกคือ "นางเอก" ไม่ใช่ "พระเอก" (คืออาจมีผู้ชายในเรื่องแต่ไม่ใช่บุคคลที่คนอ่านชื่นชมจนอยากแต่งตัวเหมือนเขา)

เหล่านางเอกในการ์ตูนผู้ชายที่ไร้พระเอกเหล่านี้จึงอาจเป็น "ผู้หญิงที่มีความสามารถ" ในการเข้าใจ "ความเป็นผู้ชาย" อย่างลึกซึ้งค่ะ เธออาจเข้าใจความอ่อนแอขี้ใจน้อยของผู้ชายได้ หรืออาจรักแต่แสดงออกไม่เก่ง ไม่ก็แค่ทำตาเหงาๆ ก็มีคนมารุมรักโดยไม่ต้องพูด สรุปว่าเธอคือผลผลิตจากความปรารถนาลึกๆ ของผู้ชาย ซึ่งเป็นความปรารถนาที่คนทั่วไปนิยามว่า "นิสัยแบบผู้หญิง" นั่นเองค่ะ และเพื่อความกลมกล่อมจึงได้นำเสนอผ่านตัวการ์ตูนผู้หญิงเสียแทน เป็นที่มาว่าทำไมการ์ตูนที่นางเอกเด่นจึงอาจไมใช่การ์ตูนสำหรับผู้หญิงเสียทีเดียว

ช่างเป็นวัฒนธรรมที่ซับซ้อนเหลือเกินค่ะ เชื่อว่าใครวิเคราะห์ความต้องการเช่นนี้ได้ น่าจะเป็นผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับกลุ่มคนที่นิยามตนเองด้วยเพศที่ติดตัวแต่กำเนิดไม่ได้ในอนาคตค่ะ

10 การ์ตูนขายดีในปี 50

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน
โดย วินิทรา นวลละออง

ผ่านปีใหม่มาได้ 2 เดือนแล้วแต่ลืมนึกถึงประเพณีนิยมของทุกวงการไปเลยค่ะ นั่นคือการ "จัดอันดับ" ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นกลางไปเสียทุกสำนัก แต่อย่างน้อยก็พอเป็นเครื่องยืนยันก่อนจะควักเงินออกจากกระเป๋าสตางค์หลายสิบบาทเพื่อซื้อการ์ตูนสักเรื่อง

ผลการสำรวจนี้ทำโดย Oricon ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับสื่อบันเทิงชั้นนำในญี่ปุ่น เขาเก็บข้อมูลยอดจำหน่ายตลอดปี 2550 จากร้านค้ากว่าพันร้านในญี่ปุ่น แต่ก่อนจะอ่าน ทำความเข้าใจสักนิดว่าการ์ตูนบางเรื่องสนุกมากแต่เล่มไคลแมกซ์ไม่ได้จำหน่ายในปีนี้ก็อาจไม่ติดอันดับ ในระหว่างที่บางเรื่องอ่านไม่รู้เรื่องมาตลอด เกิดมาสนุกเอาเล่มที่ออกในปีนั้นพอดีก็จะอยู่ในอันดับนะคะ เรามาเริ่มที่อันดับสิบก่อนดีกว่า

อันดับที่ 10 ได้แก่ "กินทามะ เล่ม 17" ว่าด้วยปรัชญาลูกผู้ชายและการต่อสู้ของซามูไรฉบับขำระเบิด

อันดับที่ 9 ได้แก่ "Katekyo Hitman Reborn! เล่ม 13" ครูพิเศษจอมป่วนที่ทำให้เด็กชายอ่อนแอคนหนึ่งมีความกล้าและเข้มแข็งในฐานะหัวหน้าแฟมิลี่มาเฟียจากอิตาลี

อันดับที่ 8 ได้แก่ "D.Gray-man เล่ม 10" ผู้นำแฟชั่นแบบวิคตอเรียนโกธิคของเหล่าสาวกคอสเพลย์ในปัจจุบัน

อันดับที่ 7 ได้แก่ "Bleach เล่ม 28" หลังจากอดทนอ่านมาสิบเล่ม...มันก็เริ่มสนุกแล้ว และก็สนุกจนหยุดไม่อยู่เสียด้วย

อันดับที่ 6 ได้แก่ "Hunter x Hunter" การ์ตูนที่มีผู้เฝ้ารอตอนต่อมากที่สุดเพราะไม่ยอมออกมาเสียที ก็เลยได้แต่เฝ้ารอ ถือเป็นอีกเรื่องที่ต่อให้คนเขียนรีบวาดเผางานแค่ไหนก็ยังมีแฟนๆ ติดตามอยู่เสมอค่ะ

อันดับที่ 5 ได้แก่ "Full Metal Alchemist เล่ม 17" หรือแขนกลคนแปรธาตุ เป็นการ์ตูนผู้ชายที่หลายท่านตกใจเมื่อทราบภายหลังว่านักเขียนเป็นผู้หญิง

อันดับที่ 4 ได้แก่ "นารุโตะ เล่ม 37" การ์ตูนนินจาที่ดังถล่มเมืองไทยจนถามเด็กที่ไหนก็รู้จักนินจานารุโตะไปหมด หลังจากชวนให้ระทึกใจมาหลายสิบเล่ม มีคนร่ำลือว่าเล่มนี้คือเล่มที่ดีที่สุดเลย

อันดับที่ 3 ได้แก่ "Nodame Cantabile เล่ม 17" ต้นตำรับการ์ตูนที่ไม่เน้นลายเส้นหรือเทคนิคการวาดอันวิจิตรพิสดาร แต่อุดมไปด้วยมุขตลกและแรงบันดาลใจในด้านดนตรีคลาสสิค ถือเป็นอีกเรื่องที่ผู้ชายก็ชอบ ผู้หญิงก็ชอบ เด็กก็ชอบ แม้แต่เพศที่สามก็ยังชอบเหมือนกัน

อันดับที่ 2 ได้แก่ "NANA เล่ม 18" หนึ่งเดียวของการ์ตูนผู้หญิงที่หลุดเข้าชาร์ตมาได้เลยค่ะและขึ้นมาในอันดับสูงมาก เรื่องนี้ถือเป็นตัวแทนการ์ตูนผู้หญิงของยุคสมัยก็ว่าได้ เพราะว่าด้วยความสัมพันธ์อันซับซ้อน ความรักและความปรารถนาที่ไม่ลงตัวกับความเป็นเพื่อน

และมาถึงอันดับที่ 1 ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นการ์ตูนที่สนุกจริงๆ เพราะลากยาวมาถึงเล่มที่ 46 แล้ว นั่นคือ "One Piece" ค่ะ ขณะนี้ฉายอยู่ในโทรทัศน์เมืองไทย ว่าด้วยโจรสลัดและความใฝ่ฝันถึงการผจญภัยหาสิ่งล้ำค่าของชีวิต

ในประเทศญี่ปุ่น สิ่งพิมพ์มีราคาไม่สูงนักเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ดังนั้นยอดขายจึงสะท้อนความนิยมได้เป็นอย่างดีค่ะ ต่างกับเมืองไทยนิดหน่อยตรงที่ต่อให้สนุกแค่ไหน ถ้าขายแพงมากหลายคนก็เลือกเช่าหรือรอซื้อมือสองดีกว่า

สิ่งที่น่าสังเกตคือกว่าการ์ตูนเรื่องหนึ่งจะทำยอดขายติดโอริกอนชาร์ตได้ อาจต้องเขียนมาแล้วเป็นสิบเล่มจนได้รับการยอมรับจากผู้อ่าน หรืออีกนัยหนึ่งคือช่วงสนุกที่สุดอยู่แถวเล่มสิบกว่าพอดี ดังนั้นหากจะลองหาการ์ตูนดีๆ สักเรื่องมาอ่าน อุปสรรคที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นการ "อดทนอ่าน" ช่วงทดสอบตลาดเล่มแรกๆ ให้ได้ค่ะ

แล้วเราจะพบว่านักเขียนที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่คนเก่งแต่แรกเกิด แต่ต้องมี "พัฒนาการ" ค่ะ